© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาฆ่าเชื้อ ใช้ให้ถูกวิธี
ตลอดการทำงานในสายอาชีพแพทย์ ตั้งแต่เริ่มเป็นนิสิตแพทย์จนจบเป็นแพทย์เต็มตัว ผู้เขียนได้เรียนรู้เรื่องราวมากมาย และสังเกตได้ว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยยังคงมีความเชื่อ หรือความเข้าใจผิดด้านการแพทย์อยู่มาก หลายครั้งที่ความเข้าใจผิดเหล่านี้ นำไปสู่ปัญหาในการรักษา ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ความเชื่อหรือความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของยาฆ่าเชื้อ ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้พบคุณแม่ท่านหนึ่งพาลูกวัย 5 ขวบ มาพบแพทย์ด้วยอาการไข้ น้ำมูกใส และไอร่วมด้วย คุณแม่ต้องการให้แพทย์ฉีดยาฆ่าเชื้อให้เด็ก จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ผู้เขียนพบว่าเด็กน่าจะเป็นหวัด ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น แต่ละสาเหตุจะให้การรักษาที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อไวรัส โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องเป็นยาฆ่าเชื้อ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า การติดเชื้อไวรัสมักเกิดจากการที่ร่างกายไม่แข็งแรง เชื้อเหล่านี้จึงอาศัยจังหวะที่ร่างกายอ่อนแอมาโจมตี ถ้าเราดูแลร่างกายให้แข็งแรงโดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ถูกหลักอนามัย ออกกำลังกาย อาการป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ
ที่ต้องเน้นเช่นนี้เพราะ ปัจจุบันมีการใช้ยาฆ่าเชื้อเกินความจำเป็น ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยความหวังว่าจะได้รับยาฆ่าเชื้อกลับไป ถ้าแพทย์ไม่ให้ก็อาจโดนตำหนิได้ว่าไม่เก่ง ดูแลไม่ดี เป็นต้น บางท่านสงสัยว่าการรับประทานยาฆ่าเชื้อมีผลเสียอย่างไร ต้องเรียนให้ทราบว่ายาไม่ใช่ขนม การรับประทานยาล้วนแต่มีผลข้างเคียง การรับประทานยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อดื้อยาได้มากขึ้น รักษายากขึ้น ยาฆ่าเชื้อจึงมีไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็นเท่านั้น ไม่ได้ใช้ทุกกรณีไป
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของความเข้าใจไม่ตรงกัน ที่มักจะเกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ผู้เขียนเชื่อว่าแพทย์ทุกคนล้วนพยายามรักษาผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องด้วยบริบทของผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน จึงทำให้การรักษาแตกต่างกัน การรักษาจึงต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ไปคู่กัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย
พญ.กุลวิภาภัสร์ จาตุรพิศานุกูล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)