© 2017 Copyright - Haijai.com
วิธีรักษาภาวะช่องคลอดไม่กระชับ
Q : สวัสดีค่ะคุณหมอ ดิฉันมีความกังวลใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับภาวะช่องคลอดไม่กระชับค่ะ เป็นปัญหาคาใจมานานแล้ว เพราะเวลาต้องฟีทเจอริ่ง ดิฉันจะไม่มั่นใจตลอด ถึงแม้ว่าผู้ชายไม่พูด แต่ผู้หญิงอย่างดิฉันก็พอจะดูออกว่า เขาไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร อยากเรียนถามคุณหมอว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยกระชับช่องคลอดโดยที่ไม่ต้องผ่าตัดบ้างหรือเปล่าคะ ขอบคุณค่ะ
A : ช่องคลอดไม่กระชับนับว่าเป็นปัญหาของผู้หญิงจำนวนมากนะครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีความอาย ไม่กล้ามาพบแพทย์และคิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ความจริงแล้วช่องคลอดไม่กระชับหรืออุ้งเชิงกรานหย่อน เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษา เพราะหากเป็นมากจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ได้ คนไข้ควรพบแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษาร่วมกัน
การรักษาก็มีหลายวิธีด้วยกันครับ เราเรียกว่าเป็นวิธีมาตรฐาน โดยหลักแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท นั่นคือ
1.การปรับพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป หลีกเลี่ยงการยกของหนัก รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้เกิดอาการไอจามเรื้อรัง ดูแลระบบขับถ่ายป้องกันอาการท้องผูก เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้เพิ่มปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
2.การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการขมิบช่องคลอด (Kegel Exercise) เพื่อทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงช่องคลอดมีความแข็งแรงขึ้น ป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น ได้ผลดีสำหรับผู้ที่เป็นในระยะแรก
3.การใส่อุปกรณ์ห่วงพยุง (Pessary) เพื่อช่วยค้ำยันอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานไม่ให้หย่อนลงมา
4.การผ่าตัด หรือที่รู้จักกันดีว่า รีแพร์ (Repair) เป็นการเย็บเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพให้แข็งแรงขึ้น ทำให้มีรูปร่างใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ในการนำมารักษาภาวะช่องคลอดไม่กระชับ ที่กำลังจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นนั่นคือ เลเซอร์กระชับช่องคลอด (Laser Vaginal Rejuvenation) ข้อดีคือ ทำได้ง่าย สะดวก คนไข้มีความเสี่ยงในการเจ็บตัวน้อย และสามารถทดแทนการผ่าตัดได้ในบางกรณี ในคนไข้ที่มีปัญหาช่องคลอดไม่กระชับในระยะเบื้องต้น โดยเลเซอร์จะกระตุ้นเนื้อเยื่อที่มีการเสื่อมสภาพให้มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมา หรือทำให้เนื้อเยื่อเดิมหดสั้นลง กระชับขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่รองรับช่องคลอดมีความตึงตัวและแข็งแรงขึ้น
การศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบมีรายงานเบื้องต้นว่า ผลการรักษามีประสิทธิภาพดีครับ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับกลุ่มคนไข้ที่เหมาะสม ที่จะใช้เลเซอร์ในการรักษาภาวะนี้
ผศ.นพ.พิชัย ลีระศิริ
สูตินรีแพทย์
โรงพยาบาลศิริราช
(Some images used under license from Shutterstock.com.)