
© 2017 Copyright - Haijai.com
อย่ามองข้าม “ความจ้ำม่ำ”
‘อุ้ย ลูกใครน่ะ แก้มยุ้ยน่ารัก น่าหยิกจังเลย’ หากมีใครมาชมลูกของเราแบบนี้ คนเป็นพ่อแม่ร้อยทั้งร้อยคงยิ้มแก้มแทบปริ สุดแสนจะภูมิใจที่มีลูกน่ารัก จ้ำม่ำน่ากอดเหลือเกิน แต่ในความจ้ำม่ำนั้นกลับแฝงไว้ด้วยอันตรายที่น่ากลัว เนื่องจากในปัจจุบันกระแส “ภาวะเด็กอ้วน” ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และกำลังเป็นเรื่อง Talk of the World อยู่ในขณะนี้ ที่บอกว่า World นั้นไม่ผิดหรอกค่ะ เพราะตอนนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหานี้กันมากขึ้น และได้ออกมารณรงค์รวมทั้งเผยแพร่อันตรายจากโรคอ้วน แม้กระทั่งประเทศไทยเราเองก็ได้ตื่นตัวและออกมารณรงค์มากขึ้นด้วยเช่นกัน
“ความอ้วน” เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาอีกหลายโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เด็กอ้วน” ที่มีโรคภัยไข้เจ็บแฝงตัวอยู่มากมาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะนอนกรน ภาวะตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ รวมทั้งโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยก็คือ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้เมื่อลูกน้อยโตขึ้นการที่มีรูปร่างอ้วนอาจไปส่งผลกระทบต่อด้านจิตใจ ทำให้ลูกขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จนเกิดความกังวลและซึมเศร้าได้
สร้าง “เกราะ” กันภัยจากความอ้วน ด้วยการ ‘กินเป็น’
การป้องกันภาวะเด็กอ้วน เริ่มได้ง่ายๆ จากบนโต๊ะอาหารที่บ้าน คือคุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังพฤติกรรมการกินอาหารให้เหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ให้กับลูกน้อย โดยมีคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวเป็นตัวอย่างที่ดี และรวมไปถึงการคอยเฝ้าระวังดูแลน้ำหนักของลูกๆ ให้อยู่ในระดับพอเหมาะพอดี เพื่ออนาคตอันสดใส ห่างไกลโรคภัยของลูกน้อยค่ะ
1.ก่อนอื่นถ้าลูกน้อยไม่ยอมทานอาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักว่า มนุษย์ล้วนมีสัญชาตญาณในการทานอาหารเมื่อหิว หากมีความเข้าใจกฎธรรมชาตินี้ก็จะช่วยลดความกังวลเมื่อลูกไม่ยอมทานอาหาร
2.ให้ลูกทานอาหารให้เป็นเวลา หากลูกไม่ทานอาหารมื้อไหนก็ไม่ควรให้ทานเสริม ไม่ทานจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร งดการทานน้ำหวานก่อนมื้ออาหาร
3.จำกัดเวลาอาหาร ไว้ประมาณ 30 นาที ไม่ควรตั้งอาหารไว้บนโต๊ะตลอดเวลา
4.หลีกเลี่ยงการบังคับให้ลูกทานด้วยการป้อนแบบยัดเยียด เพราะจะทำให้ลูกมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทานอาหาร และควรฝึกให้ลูกทานอาหารด้วยตัวเองได้
5.เด็กวัยเตาะแตะบางครั้งยังกลัวอาหารที่ไม่คุ้นเคย อาจไม่กล้าลองของใหม่ๆ โดยเฉพาะผัก คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้เด็กทราบ ให้กำลังใจ ให้เด็กลอง ไม่ควรบังคับ ข่มขู่ ต้องยอมรับความคิดเห็นและการตัดสินใจของลูกด้วย
6.คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารที่หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ เนื่องจากลูกมักเลียนแบบพ่อแม่ในทุกๆ เรื่อง ลูกจะได้คุ้นเคยและทดลองอาหารใหม่ๆ ไปในตัวด้วย
7.ของต้องห้ามที่ไม่ควรมีไว้ติดในบ้านเลยก็คือ ขนมขบเคี้ยว เพราะนอกจากลูกจะไม่ยอมทานอาหารเพราะอิ่มขนมแล้ว ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาวะเด็กอ้วน” อีกด้วย
8.สร้างมารยาทในการทานอาหาร บอกให้ลูกทราบมารยาทบนโต๊ะอาหาร ไม่เล่นขณะทานอาหาร หรือไม่พูดคุยเสียงดังขณะรับประทานอาหาร ฯลฯ
ขยับสักนิดก็พิชิตความอ้วนได้
การขยับเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างหนึ่ง ถ้าการเคลื่อนไหวนั้นมีการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ด้วย เช่น แขน ขา หลัง เป็นต้น ก็จะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติขณะพัก การขยับหรือการเคลื่อนไหวร่างกายไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายเสมอไป แต่การที่คุณพ่อคุณแม่ยอมให้ลูกช่วยทำงานบ้าน เช่น ให้ลูกช่วยรดน้ำต้นไม้ กวาดบ้าน พับผ้า ล้างรถ ฯลฯ (ต้องดูให้เหมาะสมกับพัฒนาการของลูกด้วย) ขอบอกนะคะ ว่านอกจากจะช่วยให้ลูกมีโอกาสขยับเคลื่อนไหวร่างกาย พิชิตความอ้วนเวลา ยังช่วยฝึกเรื่องความรับผิดชอบให้กับลูกได้อีกด้วยนะคะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)