
© 2017 Copyright - Haijai.com
ปวดอุ้งเท้า หัวเข่า หลัง อาจกำลังเป็นภาวะเท้าแบน
ด้วยกระแสสุขภาพและความงามต่างๆ ทำให้สาวๆ ทุกคนล้วนให้ความสำคัญและเอาใจใส่เรื่องของรูปร่างหน้าตาของตัวเอง เป็นเรื่องที่ถูกต้องค่ะ เพราะผู้หญิงทุกคนก็อยากสวย แต่อย่าลืมว่าทุกๆ วันที่เราออกเดินทางไปทำงาน ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปปาร์ตี้สังสรรค์เฮฮากับเพื่อนฝูง เรามี “เท้า” อวัยวะที่พาเราก้าวเดินไปในทุกหนทุกแห่งที่เราอยากไป ถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานมากที่สุดของร่างกายเลยก็ว่าได้ และเป็นบริเวณที่สามารถพบภาวะความผิดปกติและโรคเท้าได้เช่นกัน
เท้าแบน อีกหนึ่งภาวะที่เกิดขึ้นบริเวณเท้าส่วนกลาง ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่แท้ที่จริงเท้าแบนก็ไม่ธรรมดาเลย เพราะส่งผลให้หลายต่อหลายคนใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก และไม่มีความสุขกับการเดิน
ภาวะเท้าแบน เรื่องปกติที่ไม่ธรรมดา
เท้าแบน เป็นภาวะที่พบได้มาก และพบได้ทั่วไป หลายคนไม่เคยรู้ว่าตัวเองเท้าแบน แต่มักสงสัยว่าทำไมถึงเจ็บเท้าบ่อยๆ เวลาใส่รองเท้าแล้วเดินลำบาก มีอาการปวดเท้า ปวดส้นเท้า ปวดที่ฝ่าเท้าด้านหน้า เนื่องจากเส้นเอ็นไม่มีความสมดุล ก่อให้เกิดการดึงและทำให้เกิดการอักเสบ ณ จุดเกาะของเส้นเอ็น หรือโรครองช้ำ รวมทั้งมีนิ้วเท้าผิดรูป นิ้วเท้าหมุน บิดเข้าหาด้านใน นิ้วเท้าเฉ นิ้วโป้งเฉ เท้าล้ม ไม่มีอุ้งเท้า ปวดน่อง ปวดเส้นเอ็นรอบข้อเท้า ปวดฝ่าเท้า ปวดเข่า จนกระทั่งมีอาการปวดหลัง เนื่องจากขาสั้นยาวไม่เท่ากัน
สิ่งที่แพทย์พบเห็นอยู่เป็นประจำ คือ คนไข้มีสมรรถนะทางด้านร่างกายต่ำ เมื่อใจอยากไปทำอะไร เท้าเปรียบเสมือนพาหนะส่วนตัว ที่จะพาเราไปตามที่ต่างๆ บางทีเราอาจจะไปไม่ถึง เช่น หากต้องเดินทางท่องเที่ยงตลอดทั้งวัน คนไข้ก็จะไม่สนุก ต้องมานั่งพักข้างทาง หรือนั่งรออยู่บนรถทัวร์ มีอาการปวดอุ้งเท้า ปวดเข่า ปวดสะโพก ปวดหลัง ฯลฯ การทำความเข้าใจถึงกลไกการทำงานของเท้า ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าอุ้งเท้ามีการทำงานอย่างไร และมีความสำคัญมากแค่ไหน
Arch ลักษณะการเรียงตัวของกระดูกบริเวณอุ้งเท้า
กระดูกบริเวณอุ้งเท้ามีทั้งหมด 26 ชิ้น มีลักษณะการเรียงตัวโค้งเป็น Arch การเรียงตัวให้เป็นอุ้งเท้าจะถูกดึงเอาไว้ด้วยเส้นเอ็นเส้นเล็กๆ ลักษณะดังกล่าวทำให้มีการยืด มีการเปลี่ยนรูป และมีการสปริงกลับ เพื่อลด (Absorb) แรงกระแทก (Impact) เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในทุกๆ ก้าว หากลองขึ้นไปเหยียบบนตราชั่งน้ำหนัก สมมติน้ำหนัก 50 กิโลกรัม เข็มจะชี้เลยไปจากเลข 50 แล้วเด้งกลับมา นั่นคือ ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกบริเวณอุ้งเท้า
หลายคนนึกภาพไม่ออกว่า อุ้งเท้ามีการเรียงตัวของกระดูกอย่างไร ถึงส่งผลให้เราสามารถเดินวิ่งไปไหนต่อไหนได้ หากจะมองให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ลองนึกถึงซุ้มประตูที่เป็นสถาปัตยกรรมยุโรป ที่ก่อขึ้นจากอิฐที่เรียงตัวกัน โดยไม่มีเสาหรือขื่อค้ำยันเหมือนกับสถาปัตยกรรมไทย เช่นเดียวกับการถือกล่องไม้ขีดไฟ 10 กล่อง ตั้งเรียงกันโค้งขึ้นไปคล้ายซุ้มประตู แล้วบีบกล่องไม้ขีดไฟ และยกขึ้นมาทั้งหมดพร้อมกัน กล่องไม้ขีดไฟทุกอันจะพยายามร่วมมือกัน ทำให้คงรูปร่างเดิมไม่ตกหล่นลงมา แรงที่ยึดกันไว้ประกอบด้วย แรงที่พยายามจะกดเข้าหากัน (Compressive Force) และ แรงที่พยายามแยกออกจากกัน (Distractive Force) ลักษณะนี้ทำให้เกิดการสมดุลของแรงและคงสภาพเป็น Arch อยู่ได้
คนที่มีเท้าปกติ หากมองจากด้านหลังจะเห็นลักษณะการเรียงตัวของกระดูก เป็นแนวตรงกันบริเวณส้นเท้าและกระดูกข้อเท้า แต่สำหรับคนที่เท้าแบนจะสังเกตว่าเท้าแบะออก ลักษณะนี้ทำให้เกิดการถ่ายน้ำหนักออกไป ทำให้เท้ามีการบิดเข้ามาด้านในเปรียบได้กับรถยนต์ที่กำลังวิ่ง หากเรามองไปที่รถคันข้างหน้า รถคันที่มีล้อสมบูรณ์แบบจะวิ่งเป็นเส้นตรง เมื่อรถวิ่งไปเจอบั๊มพ์ (Bump) หรือคอสะพาน รถจะเคลื่อนตัวขึ้นลงตรงๆ เป็นแนว (Alignment) ปกติ ทำให้รถไม่เสียหลักเฉออกข้างทาง แต่หากเป็นรถที่มีล้อแบะออก เมื่อวิ่งไปเจอคอสะพานอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ เช่นเดียวกับเท้าของมนุษย์ คนที่เท้าปกติจะสามารถเดิน วิ่ง ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่กับผู้ที่มีภาวะเท้าแบน ร่างกายจะเหนื่อยล้าได้ง่าย มีอาการเจ็บตาตุ่มด้านใน เข่าด้านใน ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว หรืออาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเมื่ออายุมากขึ้น
ภาวะเท้าแบน เกิดจากอะไร
สาเหตุของเท้าแบนนั้นเกิดจากพันธุกรรม และเกิดขึ้นเนื่องจากข้อบกพร่องของการใช้เท้าในมนุษย์ ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็ก “เท้าแบน” ไม่ใช่โรค เป็นเพียงภาวะผิดปกติอย่างหนึ่ง เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ แต่หากปล่อยให้ภาวะดำเนินไป ก็จะทำให้เป็นเท้าแบนไปตลอดชีวิต ข่าวดีก็คือ หากตรวจพบได้ตั้งแต่เด็กๆ จะสามารถแก้ไขเท้าแบนให้กลับมาเป็นเท้าปกติได้ แต่ต้องตรวจพบก่อนอายุ 9 ขวบ เท่านั้น
เท้าแบนหรือไม่แบน ดูได้อย่างไร
การวินิจฉัยเท้าแบน แพทย์จะให้คนไข้เดินเหยียบแผ่นทดสอบ กรณีคนเท้าแบนเมื่อเดินไปแล้ว จะมีรอยเท้าที่เต็ม เท้าปกติจะมีรอยเว้าครึ่งหนึ่งของเท้า บริเวณส้นเท้าจะมีรอยโค้งขึ้นมา การเดินของคนเท้าแบนมี 2 ลักษณะ คือ เดินเท้าล้มเข้าด้านใน หรือ เดินแบะออกคล้ายนกเพนกวิน เท้าแบนอาจยังไม่ส่งผลเมื่อยังเป็นวัยรุ่น แต่เมื่ออายุมากขึ้นประมาณ 30 ปีขึ้นไป จะรู้สึกเจ็บที่ฝ่าเท้า อุ้งเท้า ทำให้เดินได้ไม่ดีเท่าที่ควร และทำให้การทรงตัวไม่ดี บางกรณีอาจเกิดจากขาสั้นยาวไม่เท่ากันร่วมด้วย เช่น ขาซ้ายอาจสั้นกว่าขาขวา ตั้งแต่ 1 มิลลิเมตร จนถึง 3-4 เซนติเมตร ทำให้เดินแล้วปวดสะโพก เมื่อยหลัง เมื่อไหล่ โดยแพทย์จะทำการเอ็กซเรย์สะโพก เพื่อวัดความยาวของขา เพื่อทำการรักษาในขั้นต่อไป
รักษาเท้าแบนง่ายๆ ไม่ต้องผ่าตัด
การรักษาเท้าแบนนั้นสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ ทั้งโดยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด หากไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาและบรรเทาด้วยการสวมแผ่นรองรองเท้า (Footdisc หรือ Insole) ที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะบุคคล เมื่อพบว่าเป็นเท้าแบน แพทย์จะทำการหล่อแม่พิมพ์เท้าของคนไข้ขึ้นมา เพื่อนำมาทำแผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคล (Custom Made) ที่รองรับกับลักษณะเท้าแบนของคนไข้ และสร้างจุดที่เรียกว่าจุดรีลีฟ (Relieve Point) บนแผ่นรองรองเท้า เพื่อรองรับกับเท้าของคนๆ นั้น โดยเฉพาะ หากคนไข้มีการเดินลงน้ำหนัก จุดรีลีฟจะรับพอดีกับเท้าอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อไม่ให้มีแรงกระทำ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บ โดยแผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคลนี้ มีอายุการใช้งาน 3-4 ปี ทำความสะอาดด้วยการนำผ้าหมาดๆ มาเช็ด แปรงเบาๆ และผึ่งลมให้แห้ง เพื่อระบายกลิ่น
คนไข้ที่มีภาวะเท้าแบนควรเลือกรองเท้าที่สามารถถอดแผ่นรองรองเท้าได้ เพื่อนำมาเปลี่ยนกับแผ่นรองที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น รองเท้ากีฬา แต่สำหรับสาวๆ หนุ่มๆ วัยทำงานที่ต้องสวมรองเท้าทำงานเป็นประจำ อาจหาซื้อรองเท้าตามท้องตลาดที่สามารถถอดแผ่นรองได้ ส่วนรองเท้าสูงแพทย์จะไม่แนะนำ เนื่องจากทำให้น้ำหนักลงไปกดทับที่หน้าเท้า การสวมแผ่นรองรองเท้าสามารถช่วยได้บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด หากจำเป็นต้องใส่ส้นสูงไม่ควรสูงเกิน 2 นิ้ว
เท้าแบนแบบไหนที่ต้องผ่าตัด
การรักษาเท้าแบนโดยการผ่าตัด จะทำในกรณีที่รักษาโดยวิธีธรรมชาติ ไม่ประสบความสำเร็จ มีการใช้ยาหรือสารเคมีเข้าร่วมในการรักษา แต่เนื่องจากการผ่าตัดเป็นการล่วงเข้าไปในร่างกาย มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ แพทย์จึงเน้นให้การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้คนไข้มีความสุข ไม่ต้องเจ็บตัวเนื่องจากการผ่าตัด ขั้นตอนการรักษาคือความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นต้องเลือกการรักษาโดยวิธีธรรมชาติเป็นเบื้องต้นก่อน จนกระทั่งคนไข้มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด คือ รักษาโดยการไม่ผ่าตัดไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องมีการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม มีคนไข้ที่เป็นภาวะเท้าแบนสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
นวัตกรรมล่าสุดเกี่ยวกับเท้า
วิธีการดั้งเดิมอาจใช้เวลานานตั้งแต่ 1 อาทิตย์ถึง 1 เดือน คนไข้ต้องมาพบแพทย์หลายครั้ง กว่าจะได้รองเท้าและแผ่นรองรองเท้าสำหรับคนเท้าแบนโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า “Custom Made” เป็นการร่วมมือระหว่างคลินิกสุขภาพเท้ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ประดิษฐ์ “รองเท้าเบาหวาน” เพื่อป้องกันการเกิดแผลในคนไข้เบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยปัจจุบันมีสูงถึง 3-5 ล้านคน มีคนที่เป็นแผลประมาณ 3 แสนคน ด้วยเหตุของแผลเรื้อรังลุกลาม ทำให้มีจำนวนของคนไข้ที่ต้องตัดเท้าสูงถึงปีละ 38,000 คน หรือวันละ 100 คน ปัจจุบันสามารถเก็บรูปเท้าเป็นดิจิตอลไฟล์ และส่งให้เครื่องมือแกะสลักกัดพื้นรองเท้าได้ภายใน 1 ชั่วโมง
การรักษาภาวะเท้าแบนแบบประคับประคอง โดยการใช้แผ่นรองรองเท้าเฉพาะบุคคล แทนการสวมรองเท้าแบบปกติทั่วไป เป็นการรักษาโดยวิธีธรรมชาติที่ทำได้ง่าย มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้ใช้ระยะเวลาไม่นาน เพียงแต่เราต้องตระหนักถึงความสำคัญของ “เท้า” และลงมือไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ประเมินวินิจฉัยและทำการรักษาตามขั้นตอน แค่นี้ก็ทำให้ทุกย่างก้าวของการเดินมีความสุขมากขึ้นแล้วค่ะ
เท้า เป็นพาหนะส่วนตัว ที่เราต้องใช้อยู่เสมอ เรียกใช้ง่าย คล่อง บางทีเราใช้งานเท้าจนกระทั่งเราไม่เคยนึกเลยว่า เมื่อขาดเท้าไป หรือเมื่อเท้ามีปัญหา ชีวิตเราจะลำบากขนาดไหนนะครับ หมอเจอคนไข้ซึ่งมีปัญหาเรื่องเท้ามากมาย แต่ละคนพูดเป็นคำเดียวกันบอกว่า “รู้อย่างนี้เอาใจใส่เท้าตั้งแต่เนิ่นๆ คงจะไม่เจอปัญหาแบบนี้” เพราะจริงๆ แล้ว โรคบริเวณเท้าไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน แต่เป็นภาวะที่เราจะทราบการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ดังนั้น ควรมาพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะเท้าแบนหรือไม่ เพราะภาวะนี้สามารถรักษาให้เท้าเป็นปกติได้ หากทราบตั้งแต่อายุยังน้อย โดยสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ได้ หรือสายด่วน 1719 เพื่อปรึกษาเบื้องต้นและนัดหมายแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยครับ
นพ.เชิดพงศ์ หังสสูต
โรงพยาบาลกรุงเทพ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)