
© 2017 Copyright - Haijai.com
หัวใจวาย อันตรายที่คาดไม่ถึง
ภาวะหัวใจวาย คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย หรือทำงานตอบสนองความต้องการของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยภาวะหัวใจวาย เป็นการดำเนินโรคในระยะท้ายของโรคหัวใจ เช่น ในกลุ่มคนที่มีอาการของโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น
หัวใจวายก็ถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ คือ ถ้าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วก็มีโอกาสในการเกิดอาการหัวใจวายได้ ซึ่งมีทั้งอาการหัวใจวายเฉียบพลันและหัวใจวายเรื้อรัง
ภาวะหัวใจวาย
เมื่อเกิดภาวะหัวใจวาย คนไข้จะมีอาการเหนื่อย มีอาการแน่นหน้าอก คล้ายๆ กับเส้นเลือดหัวใจตีบ มีอาการวูบเป็นลมหมดสติ เพราะฉะนั้นในคนสูงอายุ เมื่อเกิดอาการวูบเป็นลมก็ควรระวัง นอกจากนี้อาจเกิดจากปัญหาอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรืออาจจะเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ สำหรับคนที่อายุน้อยๆ โดยมากจะเป็นอาการของโรคลิ้นหัวใจรั่ว สมัยก่อนนั้นเรียกว่าไข้รูมาติก ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการลิ้นหัวใจรั่ว แต่ในปัจจุบันพบว่าโรคไข้รูมาติกอัตราการพบมีน้อยลง อาจเป็นเพราะว่าโรคนี้จะเป็นการติดเชื้อของลมหายใจส่วนบน เช่น ต่อมทอนซิล แต่ในปัจจุบันเมื่อมีอาการเด็กๆ ก็จะได้รับยาปฏิชีวนะอย่างทันท่วงที โรคไข้รูมาติกจึงไม่ค่อยเกิด และอีกโรคที่พบบ่อยก็คือโรคลิ้นหัวใจเสื่อม เป็นอาการของโรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องซ้ายบนกับซ้ายล่าง เกิดอาการเสื่อม ทำให้เกิดการรั่วของลิ้นหัวใจ ซึ่งกลุ่มอาการลิ้นหัวใจเสื่อมนี้ ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน
ปล่อยฟันผุทิ้งไว้ เสี่ยงลิ้นหัวใจติดเชื้อ
สาเหตุของอาการหัวใจวาย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว เมื่อคนไข้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถเกิดอาการได้ 2 แบบคือ อาการลิ้นหัวใจรั่วแบบเฉียบพลัน และอาการลิ้นหัวใจรั่วเรื้อรัง อาการลิ้นหัวใจรั่วแบบเฉียบพลัน เช่น การติดเชื้อของลิ้นหัวใจ ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในปัจจุบัน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากฟันผุ ไม่ได้รับการรักษาที่ดี ทำให้มีการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ และมีโอกาสเกิดอาการลิ้นหัวใจรั่วได้ทันที ซึ่งโดยปกติแล้วคนกลุ่มนี้จะไม่มีอาการแสดงว่าป่วย สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่แล้วก็กลับมีอาการเหนื่อยหอบขึ้นมาเฉียบพลัน บางครั้งอาจเกิดอาการน้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้ ในบางรายเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตทันที ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของลักษณะอาการ
ฟันผุ มักเกิดจากผู้ที่มีอาการของฟันผุเรื้อรัง ปล่อยไว้นานและไม่ทำการรักษา ส่งผลทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว ผู้ป่วยจะเกิดอาการหนาวๆ ร้อนๆ อ่อนเพลีย ทำอะไรไม่ค่อยไหว หลังจากนั้นอาการก็จะแย่ลงและทรุดลงเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนของการรักษา คือ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อโรค และต้องรีบทำการผ่าตัดไม่อย่างนั้น อัตราการเสียชีวิตจะสูงมาก
อาการของโรคลิ้นหัวใจรั่วแบบเฉียบพลันอีกแบบหนึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โดยมากผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวและไม่มีอาการแสดงเตือนล่วงหน้า
สุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายทุกวันก็หัวใจวายได้
ตามข่าวที่เคยได้ยิน เช่น คนที่ออกกำลังกายไปฟิตเนส มีร่างกายที่แข็งแรงดีมาตลอด แต่แล้วก็เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ และเสียชีวิตในกลุ่มนี้ คือ มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นภาวะของหัวใจซีกซ้ายวายเฉียบพลัน และมีอัตราการเสียชีวิตสูง
สาเหตุอื่นที่สามารถพบได้ คือ คนไข้ที่มีปัญหาในเรื่องของโรคความดันโลหิตสูงมานานแล้ว มีภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน คือ มีเลือดเซาะเข้าไปในผนังของเส้นเลือดแดงใหญ่ส่วนต้น ซึ่งคือส่วนที่ติดกับหัวใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้ลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน และเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลันตามมา ซึ่งเมื่อคนไข้มีภาวะของความดันโลหิตสูงนานๆ ประกอบกับปัญหาทางพันธุกรรม ประกอบกับความดันโลหิตสูงและไม่รีบทำการรักษา คนไข้จะเกิดอาการรู้สึกเจ็บมากเหมือนร่างกายโดนฉีกอยู่ภายใน และจะเจ็บรุนแรงจนถึงกับเป็นลมไปเลยก็มี กลุ่มนี้ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดถือเป็นความเสี่ยงและมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงเช่นกัน
การทำงานของหัวใจซีกซ้ายซีกขวาที่ผิดปกติ
1.หัวใจซีกซ้ายวายเฉียบพลัน
ยกตัวอย่างเช่น ลิ้นหัวใจรั่วคืออาการที่เลือดไปคั่งอยู่ในปอดเป็นจำนวน หรือเรียกว่าน้ำท่วมปอด (Pulmonary Edema) คนไข้จะมีอาการหายใจไม่ออก หอบ ไอออกมามีเสมหะเป็นฟองๆ สีชมพู (แต่ไม่ได้เป็นเลือดสดๆ) นอนราบไม่ได้ เป็นมากจนความดันโลหิตตก และอัตราการเสียชีวิตก็จะสูงมาก แบบนี้คือ หัวใจซีกซ้ายวายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจวายที่พบบ่อยและมีความอันตรายสูงมักจะเป็นหัวใจซีกซ้ายวายทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง
2.หัวใจซีกขวาวายเฉียบพลัน
ส่วนซีกขวาวายเฉียบพลันมี 2 กรณีที่พบบ่อยคือ ลิ้นหัวใจติดเชื้อ กรณีที่ลิ้นหัวใจติดเชื้อ ในสมัยก่อนจะเป็นในคนที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้นเลือดดำ ทำให้ลิ้นหัวใจทางด้านขวาติดเชื้อและเกิดการรั่ว เมื่อลิ้นหัวใจรั่วแบบเฉียบพลัน คนไข้ในกลุ่มนี้จะไม่มีอาการน้ำท่วมปอดเหมือนหัวใจซีกซ้ายวาย แต่จะมีอาการเหนื่อยทันที อาการของโรคคือ มีเส้นเลือดดำบริเวณลำคอโป่งขึ้นมา ตับไต คนไข้จะมีอาการเหนื่อย เพราะว่าเลือดไม่สามารถที่จะผ่านปอดไปทางซีกซ้ายได้ และก็จะมีเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ
ฟังสัญญาณเตือนก่อนหัวใจวาย
อาการหรือสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ ก็คือ อาการจะแสดงเตือนในระยะปลาย ที่คนไข้เริ่มมีอาการหนักแล้ว ซึ่งคนไข้จะมีอาการไม่เหมือนเดิม คือ เหนื่อยง่ายขึ้น แน่นหน้าอก เหล่านี้คือ อาการที่ส่งสัญญาณผิดปกติ หรืออาจจะรู้สึกใจสั่น ออกกำลังกายได้น้อยลง มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป อาจจะเป็นไข้รุมๆ รักษาด้วยยาทั่วไปไม่หาย ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง ต้องระวัง และต่อมาก็จะมีอาการเหนื่อยบวกกับมีไข้ ควรจะนึกถึงไว้ว่าอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติได้
ในส่วนของผู้ที่มีฟันผุเรื้อรังอย่าชะล่าใจ เพราะเชื้อโรคอาจใช้ช่องทางจากฟันผุแฝงเข้าไปอยู่ในกระแสโลหิตของเรานานแล้ว โดยไม่รู้ตัว นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ้นหัวใจขาดจนเกิดภาวะหัวใจวาย ช่วงที่เชื้อเข้าไปในกระแสโลหิต คนป่วยก็จะมีไข้ หนาวสั่น ไม่มีแรง เบื่ออาหาร บางครั้งคนไข้ที่ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ อาจมีอาการแสดงเพียงแค่มีไข้เพียงอย่างเดียว เมื่อมีไข้ก็รับประทานยาลดไข้เพื่อฆ่าเชื้อโรค จึงทำให้อาการที่แท้จริงโดนบดบังไป คือ ไข้อาจไม่สูง ไม่มีอาการหนาวสั่น ดูเหมือนว่ามีอาการดีขึ้น แต่ต่อมาก็แย่ลงเพราะลิ้นหัวใจเกิดปัญหาไปแล้ว
ใส่ใจดูแลตัวเอง ลดเสี่ยงหัวใจวาย
สิ่งสำคัญคือ คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจมักไม่ค่อยมีอาการ ปัญหาโรคหัวใจถือเป็น “เพชฌฆาต” เงียบ ที่ก่ออาการของโรคโดยที่เราบางทีก็ไม่อาจรู้ตัว เพราะจะไม่มีอาการจนกระทั่งถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อชีวิต อีกทั้งโรคหัวใจต่างจากโรคอื่นๆ คือ ถ้าไม่ทำให้ถึงกับต้องเสียชีวิต ก็มักจะพิการ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหัวใจเกิดอาการเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือหัวใจหยุดเต้น ถึงแม้จะทำการปั๊มหัวใจขึ้นมา แต่บางที่เมื่อสมองขาดออกซิเจนนานเกินไป ก็จะทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
โรคหัวใจเป็นกลุ่มอาการหัวใจวายที่เกิดจากโรคหลายอย่าง เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะปลายของโรคหัวใจ บางอย่างที่ไม่ได้รับการรักษามานาน จนในที่สุดกล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสียการทำงานไป กลายเป็นภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบันพบคนไข้โรคหัวใจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อาการหัวใจวายจะมีน้อยลง ถ้าได้รับการรักษาโรคหัวใจตั้งแต่เนิ่นๆ สิ่งสำคัญ คือ การดูแลตัวเอง เช่น
1.การดูแลสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การเข้ารับการตรวจร่างกายหรือตรวจโรค การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้ามีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน ก็ต้องระวังเรื่องของน้ำตาล ทั้งนี้เพราะโรคร่วมอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ ดังนั้น ควรตรวจรักษาและควบคุมให้ดี
2.ระวังเรื่องอาหาร ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ก็ต้องระวังเรื่องของอาหารไม่ให้มีรสเค็ม และการรับประทานยาควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
3.ตรวจเช็คสุขภาพฟัน เช่น คนมีฟันผุ แต่ไม่รู้สึกปวดฟัน และไม่รีบรับการรักษาแต่เนิ่นๆ แบบนี้ค่อนข้างอันตราย ดังนั้น ควรที่จะต้องไปตรวจสุขภาพฟัน ขูดหินปูน ฟันผุก็ต้องรีบทำการักษารากฟัน เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคเข้าไปได้
4.การนิยมรับประทานอาหารขยะ ควรต้องระวังไขมันในเลือด
5.บุหรี่ มีผลทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น และเป็นตัวการที่เร่งให้ตัวโรคเป็นเร็วขึ้น
โรคหัวใจเป็นโรคที่พบได้บ่อย และไม่ค่อยแสดงอาการหรือส่งสัญญาณเตือน จนกระทั่งมีอาการรุนแรงขึ้นแล้ว นั่นหมายถึงว่า เราทุกคนเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ สิ่งสำคัญ คือ การดูแลตัวเอง โดยทั่วไปสำหรับผู้ชาย ถ้าไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยง ไม่ได้สูบบุหรี่ อายุประมาณ 40-45 ปี ควรเข้ารับการตรวจว่ามีข้อสงสัยจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหลังหมดประจำเดือน ก็ควรเข้ารับการตรวจ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น อย่างน้อยการตรวจเริ่มต้น ถ้าไม่พบหรือไม่มีอะไรผิดปกติอีกสัก 2-3 ปี ค่อยมาตรวจอีกครั้งก็ได้เช่นกัน
นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ
ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยศาสตร์และทรวงอก
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชั่นแนล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)