Haijai.com


อั้นอุจจาระบ่อยก่อโรคไม่รู้ตัว


 
เปิดอ่าน 5107

อั้นอุจจาระบ่อยๆ ก่อโรคไม่รู้ตัว

 

 

Q : เคยได้ยินว่าการอั้นปัสสาวะ ทำให้เกิดโรคได้ แต่ส่วนตัวเองแล้วไม่ใช่การอั้นปัสสาวะค่ะ แต่เป็นการอั้นการถ่ายหนักอย่างอุจจาระบ่อยๆ เพราะคิดว่าเดี๋ยวค่อยไปเข้าห้องน้ำก็ได้ เนื่องจากทำงานติดพันอยู่ ถ้าทำแบบนี้บ่อยๆ นานๆ จะก่อให้เกิดโรคอะไรตามมาหรือเปล่าค่ะ

 

 

A : การอั้นอุจจาระ ถ้าเป็นเพียงการอั้นแบบชั่วคราวและไม่ได้ทำบ่อย ก็มักไม่เกิดผลข้างเคียงแต่อย่างใด แต่หากทำบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากอุจจาระถ้าค้างไว้ในลำไส้นานๆ ร่างกายจะมีกลไกในการดูดน้ำอุจจาระก็จะค่อยๆ แห้งและแข็งขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะมีอาการถ่ายออกยากและถ่ายลำบาก แต่ถ้าอั้นอุจจาระอยู่บ่อยๆ เรื่อยๆ ลำไส้ก็จะแข็งมากขึ้น เกิดปัญหากับระบบขับถ่ายได้ เช่น อุจจาระแข็งมาก เมื่อพยายามที่จะเบ่งออกมา ก็จะทำให้ก้อนอุจจาระที่มีความแข็งไปเสียดสีกับลำไส้ที่อยู่ช่วงปลายทวาร เกิดเป็นแผลตรงรูทวาร (Anal Fissure) ได้

 

 

ถ้าโชคดีแผลก็อาจจะหายได้เอง แต่ถ้าไม่หายก็อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน จนเป็นหนองขึ้นมากลายเป็นฝี เรียกว่า ฝีคัณฑสูตร (Anal Abscesses) การรักษาส่วนใหญ่ จะเป็นการผ่าตัด และให้ยาฆ่าเชื้อถ้าเกิดมีความรุนแรง แต่ถ้าไม่รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัด ส่วนใหญ่แผลจะหายเองได้ ที่สำคัญคือ อย่าพยายามไปอั้นอุจจาระ เพราะถ้าเกิดปัญหาท้องผูกขึ้นมา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว

 

 

นอกจากนี้ อุจจาระที่มีความแห้งและเป็นก้อนที่แข็งขึ้น อาจทำให้ต้องออกแรงเบ่งมากขึ้น เมื่อออกแรงเบ่งมาก หลอดเลือดดำตรงทวารจะขยาย อาจก่อให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร โดยหลอดเลือดดำตรงริดสีดวงทวารขยาย มี 2 แบบ คือ แบบที่หลอดเลือดดำขยายอยู่ข้างในรูทวาร กับแบบหลอดเลือดดำขยายจนโผล่มาให้เห็นนอกรูทวาร ที่น่ากลัวก็คือ ส่วนที่โผล่ออกมานั่นเอง ถ้าเส้นเลือดมีการโป่งออกมาและโดนกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักรัดซ้ำเข้าไป ก็จะทำให้เลือดคั่ง เวลาที่เลือดคั่งก็จะทำให้คนไข้รู้สึกปวดมาก ต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการฉีดยา หรือแก้ไขเส้นเลือดตรงส่วนที่ขยายและโผล่มา ออกไป

 

 

วิธีการรักษาคือการรับประทานยา และการปรับวิถีชีวิตประจำวัน อย่าอั้นอุจจาระเมื่อรู้สึกปวดอุจจาระ ไม่ควรอั้น ควรรีบไปเข้าห้องน้ำหรือฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา หากเกรงว่าจะปวดอุจจาระในช่วงที่ต้องทำงานหรือว่ารถติด ก็อาจจะฝึกการถ่ายเช้า-เย็น ให้เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อลดอาการไปอั้นอุจจาระในช่วงอื่นได้

 

 

อาการท้องผูกในคนที่ถ่ายไม่ออกจริงๆ และไม่ได้ตั้งใจจะอั้นอุจจาระ ต้องระวังในกลุ่มโรคที่เป็นเนื้อร้าย หรือว่ามะเร็ง เพราะกลุ่มนี้ก็จะมีอาการถ่ายลำบาก ถ้าเป็นระยะเวลานานๆ มากๆ ควรจะต้องไปทำการตรวจเช็คร่างกาย เช่น การส่องกล้องเพื่อตรวจดูว่ามีก้อนเนื้อไปอุดหรือขวางอยู่หรือไม่ จึงทำให้ถ่ายไม่ออก เพราะในคนปกติควรจะมีการขับถ่ายทุกวัน

 

 

นพ.พิชัย กิตติปัญญาวรคุณ

แพทย์เฉพาะทางอายุกรรมทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล สมุทรปราการ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)