
© 2017 Copyright - Haijai.com
การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า
ข้อเข่าเป็นข้อที่สำคัญส่วนหนึ่งของรยางค์ส่วนล่าง เป็นข้อที่มีการงอคล้ายกับบานพับ ถ้ามีการงอกที่เยอะก็ช่วยให้คนสามารถ นั่งยอง ขัดสมาธิ คุกเข่าได้ ในขณะเดียวกันตอนที่เหยียดสุดหรือเหยียดตรง ข้อต้องไม่มีความหลวมถึงจะสามารถยืนตรงอย่างมั่นคงได้ สาเหตุของการบาดเจ็บส่วนใหญ่ของข้อเข่าพบได้ 2 สาเหตุ คือ จากชีวิตประจำวัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม ข้อเข่าพลิกหรือบิด และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ กลุ่มนักกีฬา เช่น กลุ่มนักกีฬาฟุตบอล และบาสเกตบอล เป็นต้น
ลักษณะอาการของคนไข้ เมื่อเกิดการบาดเจ็บลื่นล้ม
สำหรับสาเหตุจากอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน จะเกิดอาการแบบเฉียบพลัน เมื่อเกิดการลื่นล้มเข่าบิด จะมีอาการปวดบวมของข้อเข่าทันที หากมีเลือดออกในเข่าก็จะมีอาการปวดมาก เดินไม่ได้ ลงน้ำหนักไม่ได้ อาจเกิดจากสาเหตุลึกๆ เช่น เอ็นฉีกขาด หรือกระดูกอ่อนบาดเจ็บ ซึ่งอาการจะคล้ายกับอาการบาดเจ็บในกลุ่มของนักกีฬา แต่สำหรับในกลุ่มนักกีฬาบางคนที่อาจเกิดการบาดเจ็บบ่อยๆ ซ้ำๆ หลายครั้ง หากบาดเจ็บมากและปล่อยทิ้งไว้นานจะไม่ดีกับเข่า อาจเกิดอาการของข้อเข่าเสื่อมได้
วิธีการผ่าตัดรักษา
การบาดเจ็บของเส้นเอ็นข้อเข่า ถ้าคนไข้อายุไม่มาก และมีประวัติจากอุบัติเหตุชัดเจน การตรวจร่างกายถ้าพบว่ามีข้อเข่าหลวม มีเส้นเอ็นฉีกขาด แนะนำให้ทำการผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นใหม่ หรือถ้าเป็นเส้นเอ็นไขว่หน้า ก็จะทำเส้นเอ็นใหม่ โดยเอาเอ็นในตำแหน่งอื่นที่มีการใช้งานน้อยหรือมีความสำคัญน้อยกว่ามาใช้แทนที่
การผ่าตัดในปัจจุบันใช้วิธีการส่องกล้อง คือ การใช้กล้องชนิดพิเศษเข้ามาช่วยในการผ่าตัด เพื่อทำการแก้ไขเส้นเอ็นในจุดที่เป็นปัญหา การส่องกล้องเป็นเพียงการเปิดแผลเพียงแค่รูเล็กๆ และทำการสอดกล้องเข้าไป เพื่อเจาะรู้ที่กระดูกและร้อยเอ็นเพื่อทำการรักษา โดยขั้นตอนทุกอย่างทำผ่านกล้องทั้งหมด ลักษณะแผลที่ผ่าตัดก็จะไม่ใหญ่ ซึ่งแผลที่กล้องสอดกล้องเข้าไป จะกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรเท่านั้น เมื่อแผลเล็กคนไข้ก็จะฟื้นตัวได้เร็ว อาการบาดเจ็บจากการผ่าตัดน้อย หลังการผ่าตัดจะไม่ปวดมาก นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้
การพักฟื้นภายหลังการผ่าตัด
แล้วแต่กรณี ถ้าเป็นการส่องกล้องผ่าตัดเอ็นข้อเข่าทั่วๆ ไป จะใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน ก็กลับบ้านได้ และประมาณวันที่ 3 ก็จะฝึกให้ลุกนั่ง เดินทำกายภาพ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถกลับบ้านได้ เมื่อกลับไปถึงบ้านช่วงแรกอาจต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันช่วยอยู่สักระยะหนึ่ง สามารถลงน้ำหนักเท้าได้บางส่วนประมาณ 1-2 เดือน ถ้าอาการดีขึ้นก็สามารถผ่อนเต็มเท้าได้ ในส่วนเอ็นที่มีการทำใหม่ ต้องใช้เวลา 6-9 เดือน เมื่อเอ็นเชื่อมกันดีก็สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้
ข้อเข่าถือเป็นข้อที่สำคัญ ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ถ้าเป็นนักกีฬาก็ต้องมีการเทรนเรื่องการฝึก การวิ่ง การยืดหยุ่นเอ็นกล้ามเนื้อ ควรจะมีการวอร์มก่อน เพื่อช่วยให้เส้นเอ็นมีการปรับตัว การดูแลสุขภาพ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา พวกนี้ก็ต้องระวังหรือหลีกเลี่ยง คนไข้ที่มีน้ำหนักเยอะ ก็ควรลดน้ำหนัก เพื่อให้ข้อเข่ารับแรงกดลดลง อีกทั้งการระวังในชีวิตประจำวัน ถ้าข้อเข่ามีแรงกระทำ เช่น พัก งอนานๆ ควรต้องหลีกเลี่ยง เช่น ท่านั่งคุกเข่า หรือท่าขัดสมาธิ เพราะท่าเหล่านี้จะมีแรงกด หรือแรงกระทำต่อข้อเข่า ถ้ามีแรงกระทำมากๆ นานๆ สุดท้ายปลายข้อก็อาจเสื่อมได้ โดยอาจเปลี่ยนมาเป็นการนั่งเก้าอี้แทน ก็จะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่าได้
นพ.กษิดิษ ศรีจงใจ
แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม
โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล สมุทรปราการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)