Haijai.com


วิธีปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา


 
เปิดอ่าน 12158

อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

 

 

การเล่นกีฬาและการออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายมหาศาล แต่หากเล่นไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาได้ ส่งผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน

 

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ประกอบด้วย 2 สาเหตุหลักๆ คือ

 

 ปัจจัยจากสภาวะแวดล้อม เช่น สนาม อุณหภูมิ หรือ อุปกรณ์ที่ใช้ ก็ทำให้เอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือว่าการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้

 

 

 ปัจจัยจากตัวผู้ป่วย เช่น มีประวัติการบาดเจ็บมาก่อน อันนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงขึ้น รวมถึงการไม่ทำความอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอก่อนการเล่นกีฬา หรือเกิดจากภาวะของผู้ป่วยเองที่อาจมีอาการไม่สบายหรือความอ่อนแอของร่างกายอยู่ก่อนแล้ว และที่พบได้บ่อยอีกกรณีหนึ่ง คือ เคยฝึกซ้อมสมรรถนะถดถอย หรือว่าร่างกายไม่พร้อมที่จะเล่นในระดับเดิม คิดว่าตัวเองยังฟิตพอและกลับไปเล่นในระดับเดิม ก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาได้

 

 

โดยอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

 

 อาการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน

 

อาการที่พบได้บ่อยๆ ก็คือ อาการปวดที่รุนแรงอย่างชัดเจน โดยจะสังเกตได้ว่า ไม่สามารถที่จะเล่นต่อได้ หยุดจากการเล่นกีฬาทันที เพราะว่าเกิดอาการเจ็บปวดมาก เล่นไม่จบเกมส์หรือว่าต้องหยุดการแข่งขัน มีอาการปวดบวมเฉพาะจุด เช่น มีการอ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อนั้นๆ เพราะว่าหน้าที่การทำงานของกล้ามเนื้อนั้น มีการเสียหายไป หรือในกรณีที่ข้อต่างๆ บาดเจ็บ ก็จะมีการบวมเฉพาะที่ของข้อร่วมด้วย แบบนั้นอาจจะมีการบ่งบอกถึงว่า มีการอักเสบข้างในหรือว่ามีการเลือดออกในข้อ

 

 

 อาการบาดเจ็บเรื้อรัง

 

ผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง โดยมากจะมาด้วยปัญหาในเรื่องของสมรรถนะในการใช้งานของอวัยวะนั้นๆ เช่น ข้อต่อ เอ็น และกล้ามเนื้อถดถอยลง หรือว่าไม่ได้ผลตามที่ต้องการโดยดี ร่วมกับอาการเจ็บอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น หากคนไข้มีอาการเจ็บเรื้อรังของเส้นเอ็นตรงบริเวณข้อศอกหรือข้อเข่า ก็จะเกิดอาการเจ็บเรื้อรัง ทำให้บริเวณข้อเข่าหรือข้อศอกไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

 

 

หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้หลัก RICE

 

 R (Rest) คือ การให้พัก งดการขยับข้อ งดการใช้งานของข้อ เช่น ในส่วนของข้อเข่าเราอาจจะหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนัก พักการคุก-ลุก-นั่ง หรือการนั่งยองๆ ที่ต้องใช้บริเวณข้อเข่ามากๆ

 

 

 I (Ice) คือ การประคบเย็น เพื่อลดการอักเสบ ลดภาวะเลือดออกในข้อในกรณีที่มีการเลือดออกของเนื้อเยื่อบริเวณนั้น

 

 

 C (Compression) คือ ลักษณะของการกด ประโยชน์คือช่วยลดบวม ถ้าในกรณีที่บาดเจ็บจนมีเลือดออก ก็จะเป็นการห้ามเลือดไปในตัวด้วย

 

 

 E (Elevation) เป็นการลดบวมอีกแบบหนึ่ง ที่เป็นการพยายามให้รยางค์หรือข้อที่ได้รับบาดเจ็บอยู่เหนือระดับของหัวใจ เช่น การยกขาสูง เพื่อลดอาการบวมให้ได้เร็วมากขึ้น

 

 

ในกรณีที่เป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง และบาดเจ็บเป็นครั้งแรกๆ และไม่ได้เป็นซ้ำ กลุ่มนี้อาจใช้การประเมินตัวเอง โดยใช้หลักของการปฐมพยาบาลตามหลัก RICE เป็นพื้นฐาน แต่ในกรณีที่มีการบาดเจ็บแล้วมีผลทำให้การใช้ชีวิตการทำงาน หรือการฝึกซ้อมถดถอยลงไปอย่างชัดเจน กลุ่มนี้ควรจะมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

 

 

รศ. นพ.ชลวิช จันทร์ลลิต

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านส่องกล้องข้อและเวชศาสตร์การกีฬาออร์โธปิดิกส์

โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)