© 2017 Copyright - Haijai.com
4 Easy Ways ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน
“บ้านคือวิมานของเรา” ประโยคข้างต้นนั้นเป็นจริงเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การได้กลับมาอยู่บ้าน ได้อยู่ใกล้ชิดลูกหลาน ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมอันคุ้นเคย ถือเป็นยาวิเศษที่จะช่วยเยียวยาอาการป่วยไข้ได้ แต่ถ้าจะให้อาการทุเลาลง คนในครอบครัวก็ต้องมีความรู้การดูแลผู้ป่วย และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
เหตุผลที่คนไข้ควรอยู่บ้าน
แพทย์หญิงวัจนา ลีละพัฒนะ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ปัญหาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม คือ เมื่ออายุมากขึ้น จะมีภาวะแทรกซ้อน บางท่านกลายเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง ส่งผลให้ช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง จึงต้องการการดูแลแบบประคับประคอง”
แพทย์มีหน้าที่ในการรักษาอาการ แต่คนที่มีความสำคัญที่สุดคือ คนในครอบครัวหรือผู้ดูแล ซึ่งจะต้องคอยดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยตลอดเวลา ดังนั้น คนเหล่านี้จะต้องมีความรู้ เพราะจะช่วยไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
คุณศิริพร เสมสาร พยาบาลวิชาชีพ หลักสูตรฝึกอบรมพยาบาลขั้นสูงระดับวุฒิบัตร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำว่า “สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนนำผู้ป่วยกลับบ้านคือ ผู้ดูแลต้องปรึกษาและขอข้อมูลจากแพทย์เกี่ยวกับโรค วิธีดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์และองค์กรต่างๆ ที่พร้อมให้คำปรึกษา หากเกิดเหตุฉุกเฉินให้เรียบร้อยก่อนออกจากโรงพยาบาล เพื่อสามารถดูแลผู้ป่วยต่อได้”
ดูแลผู้ป่วยที่บ้านอย่างไรดี
เมื่อนำผู้ป่วยมาดูแลต่อที่บ้าน เราก็ควรปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ให้เอื้อต่อการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยด้วย คุณศิริพรแนะนำแนวทางการปรับบ้านและสิ่งแวดล้อม 4 ข้อ ดังนี้
1.จัดบ้านเพื่อผู้ป่วย
คุณศิริพรแนะนำเทคนิคการจัดบ้านไว้ดังนี้
• ห้องนอน ควรอยู่ชั้นล่างของบ้าน ต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะวางเตียงนอน เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากผู้ป่วยต้องใช้รถเข็น ก็ควรจัดพื้นที่ให้สามารถเข็นรถไปรับคนป่วยจากเตียงนอนได้
แต่ถ้าบ้านแคบ ให้จัดพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับวางเตียงและวางอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยใกล้ๆ เตียงเพื่อสะดวกต่อการหยิบจับ
• ห้องน้ำ ต้องดูแลให้สะอาด ปูวัสดุหรือวางแผ่นยางสำหรับป้องกันการลื่นหกล้ม ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถยืนได้ ต้องทำราวเกาะภายในห้องน้ำ และหาเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำมาวางไว้ หากมมีส้วมชนิดโถนั่ง ควรใช้เก้าอี้เจาะรูตรงกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยนั่งขับถ่ายเองได้
• ประตูและทางเดิน ประตูต้องปรับให้มีขนาดกว้างพอสำหรับรถเข็นผ่านเข้า-ออกได้ ทางเดินควรมีแสงสว่างมากพอ เพื่อป้องกันการหกล้ม ปรับระดับความลาดชันของพื้นบ้านให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้อย่างสะดวก หรือทำราวติดผนัง เพื่อให้ผู้ป่วยเกาะเดินได้
2.อาหารดี สุขภาพแข็งแรง
อาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพของผู้ป่วยมาก คุณศิริพรเน้นย้ำให้ผู้ป่วยกินอาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณพอเหมาะ และต้องกำหนดเวลาในการกินแต่ละมื้อ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้จักเตรียมตัวก่อนการกิน
คุณศิริพรอธิบายเสริมว่า “ผู้ป่วยส่วนมากมักมีความอยากอาหารที่ชอบ ผู้ดูแลจึงต้องทำความเข้าใจในจุดนี้ และไม่ควรตำหนิผู้ป่วยถึงความต้องการนั้น ซึ่งผู้ดูแลสามารถให้อาหารที่ผู้ป่วยชอบได้มื้อละน้อยๆ เช่น ผู้ที่ให้อาหารทางสายยาง แต่อยากกินน้ำพริก ผู้ดูแลสามารถใช้ช้อนแตะน้ำพริกเพียงปลายช้อน แล้วป้ายปากผู้ป่วยให้พอได้ลิ้มรส”
และควรดูแลให้ผู้ป่วยกินน้ำอย่างเพียงพอ ในกรณีที่ไม่มีข้อจำกัดของโรค ควรให้ดื่มน้ำวันละ 2,000 ซีซี ส่วนผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยางผ่านช่องจมูกหรือช่องท้อง ผู้ดูแลควรเตรียมอาหารตามสูตรที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
นอกจากนี้คุณศิริพรยังย้ำว่า ต้องดูแลความสะอาดของสายยางและกระบอกอาหารให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน
3.สุขภาพอนามัย
สำหรับข้อนี้คุณศิริพรแนะนำให้ดูแลความสะอาด ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล เนื่องจากผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอ จึง่ายต่อการติดเชื้อ
• ปากและฟัน คุณศิริพรแนะนำว่า หลังกินข้าวให้ผู้ป่วยแปรงพันด้วยแปรงสีฟันขนอ่อน และควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก 2-4 ชั่วโมง หากผู้ป่วยไม่สามารถบ้วนปากเองได้ ให้ใช้ผ้าก๊อซพันด้ามตะเกียบ จากนั้นนำไปชุบน้ำอุ่นบีบพอหมาด แล้วนำมาทำความสะอาดช่องปาก
• ดวงตา ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดปิดทับดวงตาเบาๆ หรือหยอดตาด้วยน้ำเกลือทุกชั่วโมง เพื่อป้องกันแก้วตาแห้ง
• ระบบขับถ่าย กรณีที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ ควรชำระล้างสายด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระ เพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
ในการพยาบาลผู้ป่วยทุกครั้ง ผู้ดูแลต้องล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย นอกจากนี้ผู้ดูแลยังต้องสวมถุงมือ หากสัมผัสของเหลวจากตัวผู้ป่วย เช่น เลือด น้ำลาย หรือน้ำมูก และควรสวมผ้ากันเปื้อนเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
4.สุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี
ผู้ป่วยแต่ละรายมีภาวะของโรคแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันคือ ความเบื่อหน่ายต่อร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ดั่งใจ คุณศิริพรให้เลือกกิจกรรมเสริมความสุข โดยดูจากความพร้อม ความพึงพอใจ และความเหมาะสมกับเพศ อายุ หรือความสนใจของผู้ป่วยเป็นหลัก
นอกจากนี้ในบางครั้งที่อาการของผู้ป่วยกำเริบ เช่น หายใจลำบาก ท้องผูก หรือรู้สึกเจ็บปวดจากบาดแผลในร่างกาย การดูแลอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีและสามารถทนต่ออาการเจ็บปวดได้
คุณศิริพรแนะนำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การนวดสัมผัส การวาดรูประบายสี การร้องเพลง การสร้างเสียงหัวเราะ โดยชวนผู้ป่วยนึกถึงเรื่องขำขัน หรือให้ฝึกหัวเราะนาน 5-10 นาที ร่างกายของผู้ป่วยจะได้ขยับ นี่เป็ฯวิธีหนึ่งที่ช่วยบริหารอวัยวะภายใน กล้ามเนื้อใบหน้า และขจัดความเครียด
เทคนิคต่างๆ ที่เรานำมาฝากเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความรักและการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้คุณและผู้ป่วยมีความสุขและสุขภาพแข็งแรงขึ้นแน่นอนค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)