© 2017 Copyright - Haijai.com
ฟังเสียงจากข้อส่อโรคกระดูกเสื่อม
ท่านผู้อ่านเคยได้ยินเสียงจากข้อเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ไหมคะ เช่น เสียขณะหักข้อนิ้วและข้อมือ เสียงจากเข่าขณะกำลังลุกเดินหรือยืดขา เสียงจากข้อเท้าเวลาขยับข้อเท้า เสียงจากกระดูกต้นคอเวลาหมุนคอ เป็นต้น
หมอมักได้รับคำถามจากคนไข้และคนรอบตัวอยู่เสมอว่า เสียงเหล่านี้เกิดจากอะไรมีอันตรายหรือไม่ จำเป็นต้องไปตรวจเพิ่มเติมไหม บทความนี้จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ค่ะ
ประเภทของข้อต่อที่เกิดเสียงได้ง่าย คือ ไออาร์โทรไดอัลจอยต์ (Diarthrodial Joint) ซึ่งพบมากที่สุดในร่างกาย ข้อต่อประเภทนี้ ประกอบไปด้วยกระดูกสองชิ้นมาบรรจบกันตรงผิวกระดูกอ่อน โดยมีปลอกหุ้มข้อต่อ (Joint Capsule) ห่อหุ้มผิวกระดูกอ่อนอยู่ ภายในปลอกหุ้มข้อต่อจะมีของเหลวที่ใช้หล่อลื่นข้อต่อเรียกว่า น้ำไขข้อ (Synovial Fluid) ซึ่งมีก๊าซ เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่
สำหรับข้อต่อที่หักแล้วเกิดเสียงได้ง่ายที่สุดก็คือ ข้อนิ้วมือของเรานั่นเอง
เสียงก๊อบแก๊บ กรอบแกรบ
เสียงจากข้อนั้นเกิดได้ทั้งในกระดูกคอ เข่า นิ้ว หลัง และข้อเท้า มีสาเหตุมากมาย เช่น
• เกิดจากก๊าซในน้ำไขข้อกลายเป็นฟอง เนื่องจากเมื่อหักข้อนิ้วมือ ปลอกหุ้มข้อต่อจะถูกยืดขยายออก ทำให้แรงดันในข้อลดลง ก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำไขข้อจะผุดเป็นฟอง แล้วรวมตัวกันเป็นฟองก๊าซขนาดใหญ่ และเมื่อยืดข้อต่อออกไปอีก น้ำไขข้อจะไหลกลับเข้าสู่ข้ออีกครั้ง ทำให้ฟองก๊าซขนาดใหญ่เหล่านั้น ยุบลงเป็นฟองขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเสียงดังภายในข้อนั่นเอง
และเสียงจากการหักข้อนิ้วจะเกิดอีกครั้งต่อเมื่อฟองก๊าซได้ละลายอยู่ในน้ำไขข้อแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที
• เกิดจากการเคลื่อนไหวของข้อ กระดูกอ่อน และเอ็นรอบๆ ข้อ ซึ่งทำให้เกิดเสียงได้ มักจะเป็นบริเวณข้อเข่าและข้อเท้า
• ข้อเสื่อม ทำให้พื้นที่ผิวข้อขรุขระ เมื่อมีการเสียดสีกันจะทำให้เกิดเสียงกรอบแกรบได้
นอกจากนี้ยังมีเสียงหรือความรู้สึกอีกอย่างที่เกิดขึ้นเวลาขยับข้อขนาดใหญ่ ภาษาอังกฤษเรียกว่า เครพิทุส (Crepitus) เราสามารถสังเกตอาการนี้ได้โดยวางฝ่ามือไว้ที่ข้อ แล้วขยับข้อนั้นไปมา สังเกตความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
แบบละเอียด (Fine Crepitus) เป็นความรู้สึกคล้ายการนใช้นิ้วมือขยี้เส้นผม เกิดจากการบดขยี้ของเยื่อบุผิวที่หนาตัวขึ้นจากการอักเสบเรื้อรัง พบได้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์และวัณโรคข้อ
แบบหยาบ (Coare Crepitus) คล้ายมีเสียงกุกกักหรืออาจได้ยินเสียงลั่นในข้อขณะตรวจ เกิดจากการเสียดสีของผิวกระดูกอ่อนที่ขรุขระ หรือมีเศษกระดูกอ่อนชิ้นเล็กๆ หลุดและแขวนลอยอยู่ภายในข้อ พบบ่อยในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม หรือโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ระยะท้ายๆ ที่ผิวกระดูกอ่อนถูกทำลายอย่างรุนแรง
ในคนปกติอาจตรวจพบได้ไม่บ่อยนัก เกิดจากเส้นเอ็นรอบๆ ข้อพลิกระหว่างเหยียดหรืองอข้อต่อ
สำหรับคนที่ชอบหักข้อนิ้วมือ เพื่อให้เกิดเสียงนั้น จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ประชากรร้อยละ 25-50 ชอบหักข้อนิ้วให้เกิดเสียงก๊อบแก๊บ โดยข้อกลางนิ้วและข้อโคนนิ้วเป็นข้อที่นิยมหักมากที่สุด ส่วนข้อปลายนิ้วและข้อโนนิ้วโป้งไม่ค่อยมีการหัก และพบว่านิสัยชอบหักนิ้วยังสัมพันธ์กับผู้ที่มีอาชีพใช้แรงงาน ชอบกัดเล็บ สูบบุหรี่ และดื่มสุราจัด
หักข้อนิ้วมือ อันตราย
จากการศึกษาเปรียบเทียบผู้ที่มีข้อนิ้วเสื่อมกับคนปกติ พบว่า การหักข้อนิ้วมือไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคข้อนิ้วเสื่อม โดยข้อที่เสื่อมมักเป็นข้อปลายนิ้ว ซึ่งไม่ค่อยโดนหัก นอกจากนี้จำนวนครั้งในการหักนิ้วก็ไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคข้อนิ้วเสื่อม แต่ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อนิ้วเสื่อม ได้แก่ อายุ โดยอายุที่มากขึ้น จะเพิ่มโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากขึ้น และหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคข้อนิ้วเสื่อมก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
แม้ว่าการหักข้อนิ้วจะไม่ทำให้ข้อนิ้วเสื่อมมากขึ้น แต่ก็มีการศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การหักข้อนิ้วมือบ่อยๆ มีผลต่อการทำงานของนิ้วมือ โดยจะทำให้เอ็นรอบข้อไม่แข็งแรง และส่งผลให้กำลังในการบีบมือลดลง รวมถึงทำให้ข้อต่างๆ และมือเกิดอาการบวมได้ง่ายกว่าปกติ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การหักนิ้วอาจจะทำให้เอ็นขาด เป็นการทำลายข้อ มีแคลเซียมมาเกาะที่เอ็นรอบข้อมากขึ้น ดังนั้น การหักข้อนิ้วเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำค่ะ
เสียงในข้อส่ออันตราย
เสียงก๊อบแก๊บ กรอบแกรบ มีอันตรายหรือไม่ มีวิธีสังเกตง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
1.สังเกตว่ามีอาการเจ็บหรือปวดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้งานข้อ เช่น การเดินลงน้ำหนัก งอหรือเหยียดข้อ หากมีอาการเจ็บปวดอาจเกิดจากข้อเสื่อม หรือเอ็นอักเสบ ควรไปพบแพทย์
2.สังเกตข้อที่มีเสียงนั้นว่า มีการบวมรอบๆ ข้อหรือไม่ หากมีอาการบวมและแดง ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นโรคข้ออักเสบได้
3.สังเกตว่ามีการผิดรูปของข้อหรือไม่ เช่น ข้อโตขึ้น ข้อโกงขึ้น มีก้อนหรือกระดูกแข็งยื่นออกมา ก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
เรามาเริ่มดูแลข้อโดยการสังเกตและฟังเสียงจากข้อของเรากันเถอะค่ะ
พญ.สุมาภา ชัยอำนวย
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)