
© 2017 Copyright - Haijai.com
กัวซา ขูดผิว หยุดสารพัดโรค
กัวซาเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคจากภายนอก โดยใช้ทฤษฎีเส้นลมปราณตามศาสตร์แพทย์แผนจีน เพื่อทะลวงเส้นลมปราณ ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ปรับการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ โดยไม่ต้องใช้ยา
ภูมิปัญญาชาวบ้านในสมัยก่อนเริ่มจากการใช้หินขูดร่างกาย หรือทำให้หินร้อนแล้วนำมาประคบ จนผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงคล้ำ ลักษณ์คล้ายจ้ำเลือด เพื่อรักษาโรค ต่อมาในยุคราชวงศ์ถัง ได้มีการริเริ่มนำเส้นใยป่านตากแห้ง มัดเป็นกำมาใช้ขูด เพราะเป็นเส้นใยที่เหนียว ไม่ขาดง่าย และหาได้ทั่วไป โดยต้องนำเส้นใยป่านไปชุบน้ำ เพื่อเพิ่มความลื่น ป้องกันไม่ให้ผิวหนังถลอก เป็นแผลขณะทำกัวซา
หลักการของการกัวซา คือ การรักษาโรคจากเส้นผิวหนัง 12 เส้น แบ่งเป็นเส้นผิวหนังหยินมือ 3 เส้น เส้นผิวหนังหยางมือ 3 เส้น เส้นผิวหนังหยินเท้า 3 เส้น และเส้นผิวหนังหยางเท้า 3 เส้น ซึ่งเส้นผิวหนังทั้ง 12 เส้น จะเชื่อมกับเส้นลมปราณภายในและอวัยวะภายในทั้งหมด ฉะนั้นเมื่อร่างกายหรืออวัยวะภายในเกิดความผิดปกติขึ้น ก็จะแสดงออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เราสามารถตรวจและรักษาโรคจากผิวหนังได้ โดยการกัวซา เพื่อรักษาอวัยวะภายในจากภายนอกนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราตากฝน เป็นหวัดแล้วไม่ได้รักษา ปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนปอดบวมนั่น คือ ความชื้นและความเย็นจากผิวหนัง ซึมผ่านรูขุมขนเข้ากระทบอวัยวะภายใน คือ ปอด การรักษาโดยการกัวซาจะไปช่วยเปิดรูขุมขน เพื่อขับของเสีย ความเย็น และความชื้นที่สะสมจากปอดออกมา
ขอสรุปหลักการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง เป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 อาการที่ไม่ดี > ผิวหนัง ลมปราณไหลเวียนผิดปกติ > เลือดไหลเวียนผิดปกติ > อวัยวะทำงานผิดปกติ
กรณีที่ 2 อวัยวะทำงานผิดปกติ > เลือดไหลเวียนผิดปกติ > ลมปราณไหลเวียนผิดปกติ > ผิวหนังกดเจ็บ > สีเปลี่ยน บวม ตึง ฯลฯ
ส่วนหลักการรักษาแบบกัวซาสรุปได้ดังนี้
เปิดรูขุมขน > ทะลวงเส้นลมปราณ > กระตุ้นการไหลเวียนเลือด > ปรับการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ
ประโยชน์ของกัวซามีอยู่หลายด้าน ทั้งรักษาโรคได้มากมาย เช่น กลุ่มโรคอายุกรรมภายในและภายนอก โรคทางสูตินรีเวชและกุมารเวช เป็นต้น และยังสามารถกัวซา เพื่อบำรุงร่างกาย เสริมภูมิต้านทานป้องกันโรคได้อีกด้วย ดังนี้
ตารางแสดงระบบในร่างกายและตัวอย่างที่สามารถป้องกันและรักษาด้วยกัวซา
ระบบต่างๆ ในร่างกาย |
โรคและอาการผิดปกติ |
ทางเดินหายใจ |
หวัด ไอ หลอดลมอักเสบ หืด ปอดอักเสบ |
ทางเดินอาหาร |
กระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน อาเจียน ลำไส้อักเสบ ท้องผูก ท้องเสีย ปวดท้อง |
ทางเดินปัสสาวะ |
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ |
ระบบประสาท |
เวียนหัว ปวดหัว นอนไม่หลับ เหงื่อออกผิดปกติ เครียด |
หัวใจและหลอดเลือด |
ใจสั่น ความดันโลหิตสูง |
การเคลื่อนไหว |
เอ็นอักเสบเทนนิสเอลโบว์ (Tennis Elbow) ตกหมอน ปวดบ่า ปวดเอว เอวเคล็ด กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท |
สูตินรีเวช |
ประจำเดือนผิดปกติ ปวดประจำเดือน มารดาไม่มีน้ำนมหลังคลอด เต้านมอักเสบ |
จักษุ โสต ศอ นาสิก ลาริงซ์ |
ปวดฟัน คอบวมอักเสบ ไซนัส เลือดกำเดาไหล หูมีเสียง เสียงแหบ |
ต่อมไร้ท่อ |
เบาหวาน |
อื่นๆ |
ลมแดด บวมน้ำ เสริมภูมิต้านทาน |
ใครบ้างที่ไม่ควรทำกัวซา
ผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการักษาด้วยกัวซาและข้อควรระวังมีดังนี้
1.ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเลือด เช่น ผู้ป่วยลิวคีเมีย ภาวะเกล็ดเลือดต่ำและเลือดออกง่าย เป็นต้น
2.เป็นโรคติดต่อ โรคระบาด โรคหัวใจชนิดรุนแรง
3.ผู้สูงอายุ ผู้มีร่างกายอ่อนแอ สตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงมีประจำเดือน
นอกจากนี้การกัวซายังมีข้อควรระวังอื่นๆ ด้วย คือ
1.หลีกเลี่ยงการกัวซาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังชนิดลุกลาม เช่น ฝี หนอง ผิวหนังเป็นก้อนแบบที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
2.หลีกเลี่ยงการกัวซาบริเวณที่กระดูกหักในระยะแรก ต้องรอให้กระดูกติดก่อนถึงจะกัวซาได้
3.หลีกเลี่ยงการกัวซาบริเวณที่มีรอยแผลเป็น รอยแผลที่เพิ่งผ่าตัดไม่ถึง 2 เดือน รอยแผลผ่าตัดมะเร็ง
เทคนิคทำกัวซาให้ปลอดภัย
ข้อควรรู้สำหรับผู้ที่รับการรักษาด้วยการกัวซา
1.ไม่ควรทำกัวซาขณะที่ท้องว่าง หิว เพิ่งกินอาหารเสร็จ หรืออิ่มจนเกินไป ควรทำกัวซาหลังจากที่กินอาหารเสร็จแล้ว อย่างน้อย 30 นาที และผู้ที่กลัว เนื่องจากอาจทำให้เป็นลมได้
2.กัวซาเป็นการเปิดรูขุมขน เพื่อระบายของเสียออกมา ถ้าถูกอากาศเย็นหรือความชื้นกระทบ อาจทำให้เกิดโรคใหม่ตามมา ดังนั้น ไม่ควรอาบน้ำ ตากลมและแอร์โดยตรงหลังจากทำกัวซาแล้ว 3 ชั่วโมง
3.กัวซาเปิดรูขุมขน เพื่อขับสารน้ำในร่างกายออกมาเป็นเหงื่อ ดังนั้น หลังจากที่กัวซาแล้วควรดื่มน้ำอุ่นหนึ่งแก้วและพักสักครู่
นี่คือคำแนะนำเบื้องต้รนสำหรับผู้อ่านที่คิดจะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีกัวซา ถึงอย่างนั้นขอย้ำว่าควรทำในสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญจะปลอดภัยที่สุดค่ะ
แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)