Haijai.com


7 ต่อมอัศวินแกร่ง ผู้สร้างภูมิชีวิต


 
เปิดอ่าน 1984

7 อัศวินแกร่งผู้สร้างภูมิชีวิต

 

 

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง อธิบายการทำงานของต่อมหรืออวัยวะทั้ง 7 สรุปความได้ดังนี้

 

อัศวิน 1 ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ (Tonsils / Adenoids) คือ ต่อมที่อยู่ในช่องปาก ตรงส่วนต่อกับลำคอ แม้จะฟังดูไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่อาจารย์สาทิสได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า “เป็นต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมีเซลล์น้ำเหลืองอยู่ จึงเป็นส่วนหนึ่งของภูมิชีวิต” ซึ่งถือว่าเป็นด่านแรกๆ ของร่างกายที่คอยดักจับเชื้อโรคที่บริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน

 

 

อัศวิน 2 ต่อมไทมัส ต่อมไทมัส (Thymus) เป็นต่อมใหญ๋ขนาดประมาณสองเท่าของหัวแม่มือ อยู่กึ่งกลางกระดูกหน้าอก สมัยก่อนเราเข้าใจผิดกันว่าต่อมไทมัสมีความสำคัญ เฉพาะตอนที่เราเกิดมาและเจริญเติบโตเต็มที่แล้วเท่านั้น

 

 

แต่บัดนี้เรารู้แล้วว่า หน้าที่ของไทมัสมีมากกว่าเดิม คือ ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย โดยจะขับฮอร์โมนไทโมซิน (Thymosin) ออกมา ทำหน้าที่ผลิตและสร้างความสมบูรณ์ของระบบภูมิชีวิตในร่างกายทั้งหมด และเป็นศูนย์กลางของระบบน้ำเหลืองอีกด้วย

 

 

อัศวิน 3 ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง (Lymph Nodes) เป็นต่อมที่มีระบบเป็นของตัวเอง เพราะหมายถึงต่อม ท่อ หรือหลอดน้ำเหลืองทั่วร่างกาย และระบบนี้ทั้งระบบก็เป็นส่วนหนึ่งของภูมิชีวิตเช่นกัน

 

 

ต่อมนี้มีอยู่หลายตำแหน่งในร่างกาย ได้แก่ คอ ใต้รักแร้ ช่องท้อง ขาหนีบ เป็นต้น ต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วตัวก็จริง แต่ก็ไม่สามารถทำงานเป็นเอกเทศ ต้องทำงานร่วมกับต่อมต่างๆ

 

 

ต่อมน้ำเหลืองทำหน้าที่ลำเลียงเม็ดเลือดขาวเข้าสู่กระดูก นำบรรดาของเหลวที่ซึมอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อเข้าสู่หลอดน้ำเหลือง และยังดูดซึมและขนส่งกรดไขมันจากระบบย่อยอาหารอีกด้วย

 

 

อัศวิน 4 ม้าม ม้าม (Spleen) เปรียบเหมือนต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ อยู่บริเวณช่องท้องด้านซ้ายบนของร่างกาย มีหน้าที่เก็บเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดเลือดแดงที่เป็นกองหนุน และเป็นตัวขนส่งเม็ดเลือดขาวออกไปต่อสู้เหล่าเชื้อโรคร้าย

 

 

อัศวิน 5 ไขกระดูก ไขกระดูก (Bone Marrow) กระดูกท่อมยาวทุกท่อนจะมีโพรงตรงกลาง โพรงกระดูกนี้เป็นส่วนหลักของระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาวหลายชนิดให้กับร่างกาย และไขกระดูกในกระดูกชิ้นใหญ่ยังสามารถผลิตเม็ดเลือดแดงใหม่ๆ ให้ร่างกายได้อีกด้วย

 

 

อัศวิน 6 ไส้ติ่ง ไส้ติ่ง (Appendix) ไม่ใช่เป็นของไร้ประโยชน์อย่างที่หลายคนเข้าใจ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครตัดไส้ติ่งเป็นว่าเล่นอย่างแต่ก่อน เพราะเป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิชีวิตเช่นเดียวกับต่อมอื่นๆ

 

 

นอกจากนี้งานวิจัยของ มหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ไส้ติ่งมีหน้าที่สร้างและปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารของคนเรา และยังทำหน้าที่กระตุ้นระบบย่อยอาหาร ให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่ถูกเชื้ออหิวาต์หรือเชื้อบิดเล่นงาน

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการติดเชื้อจนมีอาการไส้ติ่งอักเสบ ก็จำเป็นต้องผ่าตัดออกอย่างทันท่วงที เพราะอาจถึงแก่ชีวิตได้

 

 

อัศวิน 7 เพเยอร์สแพตช์ เพเยอร์สแพตช์ (Peyer’s Patches) คือ ต่อมน้ำเหลืองเล็กๆ หลายต่อมในช่องท้องของเรา ถือได้ว่าเป็นเซ็นเซอร์ของลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เหนี่ยวนำ และสร้างเกราะป้องกันเชื้อโรคที่มาจู่โจมบริเวณลำไส้เล็ก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)