© 2017 Copyright - Haijai.com
อันตรายเพิ่มลดยาเอง โรคไม่หายพาอาการแย่
เรื่องของการรับประทานยา ใครๆ ก็รู้ว่า ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังประพฤติแบบผิดๆ รับประทานยาเอง โดยอาศัยสัญชาตญาณของตัวเองที่ว่า “ฉันหายดีแล้ว ไม่รับประทานยาต่อละกัน” หรือ “กินยาแล้วไม่ดีขึ้น กินเพิ่มอีก 2 เม็ดดีกว่า” ความคิดแบบนี้เอง เป็นสาเหตุของการรักษาโรคที่ไม่ได้ผล และกลับมาเป็นซ้ำในที่สุด หรืออาจเกิดอาการข้างเคียงจากยา
ทุกการจ่ายยามีเหตุผลเสมอ
การที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งยาในแต่ละครั้งนั้น จะมีปัจจัยในการพิจารณายาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายต่างกันออกไป เนื่องจากยามีหลายประเภท จึงมีวิธีการใช้แตกต่างกัน มีทั้งยาที่ใช้รักษาโรคและยาที่ใช้บรรเทาอาการ ปริมาณยาที่ต้องรับประทาน บางชนิดอาจจะต้องขึ้นกับน้ำหนักตัว บางชนิดไม่ขึ้นกับน้ำหนักตัว หรือขึ้นกับลักษณะการออกฤทธิ์ของยา เช่น ออกฤทธิ์สั้น หรือออกฤทธิ์นาน การที่เพิ่มหรือลดปริมาณยาเอง จึงอาจเกิดผลเสียมากกว่าการเกิดประโยชน์
เพิ่มปริมาณยาอย่างไรถึงปลอดภัย
การเพิ่มปริมาณยา สามารถทำได้ในยาบางกลุ่ม ที่ช่วงของการรักษากว้าง ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกร ยกตัวอย่างเช่น ยาแก้ไข้แก้ปวด แพทย์และเภสัชกรจะแนะนำว่า ถ้ามีไขหรือปวดไม่มาก รับประทานเพียง 1 เม็ด ถ้ามีไข้สูงหรือปวดมากรับประทาน 2 เม็ด หรือถ้ารับประทานไป 1 เม็ดแล้ว ภายใน 1 ชั่วโมงอาการไม่ดีขึ้น ให้รับประทานได้อีก 1 เม็ด และสามารถรับประทานซ้ำได้ เมื่อมีอาการทุก 4-6 ชั่วโมง ยากลุ่มนี้สามารถปรับเปลี่ยนเองได้ ตามอาการผู้ป่วย แต่ก็มีข้อควรระวังไม่ควรรับประทานเกินขนาด รับประทานสูงสุดต่อวัน
ในส่วนของยาแก้ปวดแก้อักเสบ ที่นิยมใช้ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อแก้ปวดเมื่อย ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่พบว่า มีการซื้อยารับประทานเอง และเพิ่มจำนวนการรับประทานเองตามอาการ ไม่เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย จากอาการปวดหายกลายเป็นเกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น เริ่มจากการที่ยากัดกระเพาะอาหาร หากรับประทานมากเกินไป และรับประทานต่อเนื่อง ก็จะทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้ ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ไตทำงานหนักเกินไปในที่สุด
ลดปริมาณยา = ลดการรักษา
ส่วนการลดปริมาณยานั้น สิ่งที่เกิดตามมา คือ ไม่เห็นผลการรักษา รับประทานเท่าไหร่ก็ไม่หาย เพราะขนาดและประเภทของยานั้น จะเหมาะสมกับอาการของโรคที่เป็นอยู่ การที่ลดจำนวนหรือประเภทของยาเอง ด้วยความคิดที่ว่า จำนวนเม็ดยาต่อมื้อมากเกินไป อาการหายดีแล้ว ไม่อยากรับประทานต่อ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะในการรักษาโรคหรืออาการนั้น เช่น เมื่อไม่สบาย แล้วแพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยาแก้อักเสบฆ่าเชื้อ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่เกิดในร่างกาย ควรรับประทานต่อจนครบตามที่แพทย์สั่ง แต่หากเป็นยาที่แจ้งว่าเป็นยาบรรเทาอาการ รับประทานเมื่อมีอาการเท่านั้น สามารถหยุดยาได้เองตามอาการ
แต่ถ้าเป็นยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาเบาหวาน ยาโรคหัวใจ ยาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการขาดยาหรือได้รับปริมาณยาไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้ หากรู้สึกว่ายาในแต่ละมื้อมีจำนวนที่เยอะเกินไป ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรว่า สามารถแบ่งรับประทานกระจายมื้อได้หรือไม่อย่างไร เพื่อให้ปริมาณยาต่อมื้อลดลง และไม่ควรกลับไปปรับเปลี่ยนวิธีรับประทานเองที่บ้านโดยเด็ดขาด
เภสัชกรปัทม์ ปรีพุทธรัตน์
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)