© 2017 Copyright - Haijai.com
ตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก อย่ารอจนสายเกิน
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว และทราบอีกทีเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะที่เป็นอันตราย หรือไม่สามารถรักษาได้ พบในผู้หญิงช่วงอายุ 30-60 ปี
จากข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (GLOBOCAN 2008) พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 10,000 คนต่อปี และในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คน หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกนั้น เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
จากการศึกษาวิจัยตั้งแต่ ปี ค.ศ.1980 พบว่า มะเร็งปากมดลูกนั้นมีสาเหตุจากไวรัสฮิวแมนแปปิโลมา (HPV) ซึ่งสามารถจำแนกสายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยคือ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 พบรวมกันราวร้อยละ 70 ของทั้งหมด
ส่วนใหญ่ของการติดเชื้อ HPV บริเวณอวัยวะเพศจะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) อื่นๆ เช่น
ปัจจัยเสี่ยงทางนรีเวช |
ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย |
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ |
-การมีคู่นอนหลายคน
-การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
-การตั้งครรภ์ หรือมีลูกหลายคน
-การมีประวัติเป็นกามโรค
-การรับประทานยาคุมกำเนิด เป็นเวลานาน
-การไม่ตรวจคัดกรอง โรคมะเร็งปากมดลูก |
-สตรีที่มีสามีเป็นมะเร็งขององคชาต
-สตรีที่แต่งงานกับชายที่เคยมีภรรยา เป็นมะเร็งปากมดลูก
-ผู้ชายที่เคยเป็นกามโรค
-ผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศ ตั้งแต่อายุน้อย
-ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน |
-การสูบบุหรี่
-ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
-สตรีที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมต่ำ
-พันธุกรรม
-การขาดสารอาหารบางชนิด |
มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้
การป้องกันทำได้โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี หรือเริ่มตรวจในสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุหรือลดปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก เช่น การละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยคุมกำเนิด การซื่อสัตย์ต่อคู่นอน โดยการมีคู่นอนคนเดียว การฉีด HPV Vaccine เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV
นพ.สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช
สูตินรีแพทย์
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)