© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคร่าเริง กลางคืนตื่นกลางวันหลับสุขภาพเสื่อม
โรคร่าเริง พฤติกรรมใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ กลางคืนตื่น กลางวันหลับ ภัยร้ายใกล้ตัวทำสุขภาพเสื่อมโทรม
การใช้ชีวิตของคนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ยิ่งในยุคชีวิตติดโซเชียลด้วยแล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตยิ่งแปรปรวน กลาวงันไม่อยากจะตื่น กลางคืนไม่อยากจะหลับ กลับวงจรชีวิตให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย โรคอุบัติใหม่ที่ไม่แน่ใจว่าใครบัญญัติไว้อย่าง “โรคร่าเริง” จึงเกิดขึ้นมา หลายคนอาจจะงงในตอนแรกว่า อะไรคือโรคร่าเริง มีคำตอบมาฝากค่ะ
โรคร่าเริง กับชีวิตที่ไม่เริงร่าตามชื่อ
โรคร่าเริง ชื่อโรคที่ตั้งขึ้นปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งในทางการแพทย์จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีปรากฏชื่อโรคนี้มาก่อน แต่ว่าถ้าดูตามลักษณะพฤติกรรมแล้ว โรคนี้จะเกี่ยวข้องกับคนที่ชอบเปลี่ยนพฤติกรรมไปทำงานในช่วงเวลากลางคืน พอถึงช่วงเวลากลางวันก็จะเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน คือ การใช้เวลาวงจรชีวิตผิด ซึ่งวงจรชีวิตของคนโดยปกติทั่วไป ต้องตื่นกลางวัน นอนหลับในเวลากลางคืน
ปัจจุบันพบว่าคนมีพฤติกรรมที่เข้าบ่ายในกลุ่มโรคร่าเริงกันมากขึ้น เนื่องจากในช่วงเวลากลางคืน เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเงียบ เหมาะกับการคิดงานหรือทำงาน บางคนก็เลือกที่จะทำงานในช่วงเวลากลางคืนแทน แต่ปัญหาคือเมื่อทำงานในช่วงเวลากลางคืน วงจรชีวิตแบบปกติก็จะเปลี่ยนไป เพราะร่างกายของคนเรามีการหลั่งฮอร์โมนตามนาฬิกาชีวิต คือ เมื่อถึงเวลานอนอวัยวะบางอย่างที่ต้องทำงานตามช่วงเวลา และหลั่งฮอร์โมนออกมาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย หรือช่วงเวลาที่ร่างกายควรจะได้รับการพักผ่อน จะมีการหลั่งฮอร์โมนกลุ่มหนึ่งออกมา เพื่อช่วยซ่อมแซมและชาร์จพลังให้กับร่างกาย เตรียมพร้อมรับมือกับวันต่อไป แต่หากเราใช้ช่วงเวลาวงจรชีวิตที่ผิดไปจากปกติ ก็จะทำให้ฮอร์โมนผิดเพี้ยนไปด้วย นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มนุษย์ร่าเริง มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของมนุษย์ร่าเริง
1.ตื่นเช้าไม่ค่อยไหว เมื่อต้องทำงานในตอนกลางคืน ก็จะตื่นเช้าไม่ค่อยไหว
2.ลำไส้มีการทำงานที่ผิดเพี้ยนไป ร่างกายของคนเรา ถ้าตื่นมาในตอนเช้าลำไส้จะต้องมีการทำงาน แต่หากตื่นสายผิดช่วงเวลาไป ช่วงเวลาที่ต้องมีการกระตุ้นลำไส้ ก็จะไม่ได้ทำ แถมมนุษย์ร่าเริงก็จะข้ามอาหารในมื้อเช้าไปรวมเป็นมื้อเที่ยง ร่างกายคนเราจะมีผลสะท้อนกลับ เพราะการรับประทานอาหารในมื้อเช้าจะเป็นการไปกระตุ้นลำไส้ให้เกิดการขับถ่าย ถ้าผ่านช่วงเวลาที่ลำไส้ควรได้รับการกระตุ้นไปแล้ว และไม่ได้รับประทานอาหารมื้อเช้า ก็จะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก มีปัญหาในเรื่องของการขับถ่าย
3.โกรทฮอร์โมนไม่หลั่งส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว ช่วงเวลา 22.00-02.00 น. เป็นช่วงเวลาที่โกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในขณะที่เราหลับ เพื่อฟื้นฟูร่างกายมนุษย์ร่าเริง ที่อดหลับอดนอนในช่วงเวลาที่โกรทฮอร์โมนจะต้องทำงาน จะทำให้โกรทฮอร์โมนไม่หลั่ง เพราะโกรทฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยซ่อมเซลล์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง
นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่า ฮอร์โมนที่หลั่งในช่วงเวลานี้ จะช่วยควบคุมในเรื่องของความเครียด หากนอนดึกหรืออดนอนในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะทำให้ผิวพรรณดูโทรมไม่สดใส การเผาผลาญพลังงานน้อยลง เพราะฮอร์โมนทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดความอยากในการรับประทานของหวานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้อ้วนง่ายขึ้นตามไปด้วย
4.กลางคืนหลับไม่สนิท กลางวันง่วงเหงาหาวนอน ไม่สดชื่น เมื่อไม่นอนในช่วงเวลาของการนอนหลับตามปกติ ฮอร์โมนที่ควรจะหลั่งออกมาก็หลั่งได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการนอนหลับไม่สนิท หรือบางคนอาจจะได้นอนหลับบ้าง แต่ก็นอนหลับไม่สินทเหมือนในช่วงเวลาปกติ เมื่อตื่นมาก็จะยังรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนอยู่ และอาจจะรู้สึกง่วงนอนไปตลอดทั้งวัน ยิ่งเหมือนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานแย่ลง และร่างกายไม่สดชื่น กระปรี้กระเปร่า
5.กลายเป็นคนติดกาแฟไปโดยอัตโนมัติ เมื่อรู้สึกง่วงในตอนกลางวัน มนุษย์ร่าเริงก็จะหันหน้าไปพึ่งกาแฟ เพื่อต้องการกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว ซึ่งในระยะยาวนั้น ก็จะยิ่งทำให้กลายเป็นคนเสพติดกาแฟไปอีก
6.ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเกิดผลกระทบกับร่างกายในระยะยาว ถ้าปล่อยไปแบบนี้ในระยะยาว มีผลกับการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เพราะฮอร์โมนมันเพี้ยน ไม่ว่าปัญหาจากเรื่องประจำเดือน เรื่องของสมดุลฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป น้ำหนักตัว รวมไปถึงกลุ่มโรคในการเผาผลาญอาหาร (Metabolic Disorders) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ก็สามารถเกิดตามมาจากผลพวงของอาการร่าเริงไม่ถูกเวลาได้
ปรับพฤติกรรมสร้างสุขภาวะให้กับชีวิตใหม่
1.ปรับเวลาในการนอนให้เป็นปกติ เมื่อถึงเวลานอนก็ควรจะนอนตามปกติ ไม่ควรเกินเที่ยงคืน เพราะโกรทฮอร์โมนจะหลั่งในช่วงเวลา 22.00-02.00 น. แต่ถ้านอนดึกมากร่างกายจะไม่ได้รับโกรทฮอร์โมน
2.หาเวลาออกกำลังกาย กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว พบว่าในช่วงเวลากลางวัน ควรเพิ่มการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นโกรทฮอร์โมนเช่นกัน รวมไปถึงฮอร์โมนตัวอื่นๆ ที่จะทำให้ร่างกายมีสดชื่น เช่น การตื่นขึ้นมาในช่วงเช้าและออกกำลังกาย เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว เมื่อถึงช่วงเวลากลางวันก็จะทำให้รู้สึกว่ามีพลังในการทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น
3.ปรับนิสัยการรับประทาน เพิ่มเนื้อสัตว์มากขึ้น ลดแป้งให้น้อยลง บางคนจะเลือกทานอาหารที่เป็นแป้งค่อนข้างเยอะ จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนทั้งนี้เป็นเพราะสารที่อยู่ในแป้ง บางคนอาจรับประทานอาหารมื้อเที่ยงที่มีแป้งแบบจัดเต็ม ทำให้ง่วงง่าย ก็ลองปรับการรับประทานอาหาร หันมารับประทานเนื้อสัตว์ให้มากขึ้น จะทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวมากกว่า แต่สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับไม่ดี อาจหันมารับประทานแป้งในช่วงมื้อเย็น ก็อาจจะช่วยทำให้หลับสบายขึ้น แต่ยกเว้นในกลุ่มคนที่ระวังเรื่องของน้ำหนัก อาจเลี่ยงเป็นการรับประทานอาหารประเภทไฟเบอร์แทน
4.เติมวิตามินปรับสมดุลฮอร์โมน กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ หากไม่ปรับตารางชีวิตใหม่จะพบว่าฮอร์โมนเกิดการพร่องลงไป แต่หากจะให้ปรับพฤติกรรมแบบทันทีก็คงยาก อาจลองปรึกษาแพทย์ก็อาจจะลองมาตรวจดูว่าค่าฮอร์โมนมันมีการเพี้ยนหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และเราจะพบว่ามีวิตามินบางตัวที่มันช่วยเสริมให้วิตามินตัวนี้ สามารถที่จะกลับมาทำงานได้ดีขึ้น มันก็จะช่วยให้คนสามารถกลับมามีวงจรชีวิตามปกติได้มากขึ้น
5.สร้างสุขนิสัยและวินัยให้ตัวเอง บางคนติดนิสัยการนอนดึก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่งานที่ต้องรีบทำส่ง หรือบางคนติดเล่นโทรศัพท์ ติดโซเชียลก็จะเพลิน อย่างน้อยก็ต้องมีวินัย ถึงเวลานอนก็จะต้องนอน
หลัก 8 อ. ห่างไกลโรคร่าเริงในระยะยาว
1.อาหาร ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเต็มที่
2.ออกกำลังกาย ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยให้ร่างกายมีความกระฉับกระเฉง
3.ออกซิเจน การหายใจสั้น จะทำให้สูดออกซิเจนเข้าหัวได้ไม่เต็มที่ เวลาคิดงานก็จะคิดไม่ค่อยออก และควรพยายามคลายเครียดให้อยู่ในสมดุล
4.เอนกาย การนอนพัก คือ ควรจะจัดสุขลักษณะที่ดีให้เหมาะสมกับการนอน ก็จะช่วยให้เรื่องของการหลับพักผ่อนเป็นไปด้วยดี หรืออาจจะรับประทานกล้วยหอมก่อนจะเข้านอนสักประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นทริคเล็กๆ ในเรื่องของการนอน เพราะในกล้วยหอมมีสารที่ช่วยในเรื่องของการนอนหลับได้เป็นอย่างดี
5.อารมณ์ การผ่อนคลาย ก่อนเข้านอน พยายามทำร่างกายให้รู้สึกรีแลกซ์มากที่สุด จะช่วยให้หลับสบายขึ้น
6.เอาพิษออก การขับถ่ายที่เป็นเวลาเป็นการเอาของเสียออกจากร่างกาย ถ้ามีสารพิษสะสมร่างกายก็จะรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
7.อาชีพ เช่น แอร์โฮสเตสที่มีการนอนไม่เป็นเวลา ครีเอทีฟ นักเขียน ที่ต้องใช้ความเงียบในการคิดงาน วิธีนี้อาจจะแก้ไขปัญหา เช่น ช่วงเวลาที่ต้องคิดงาน อาจหามุมเงียบๆ เพื่อช่วยให้การคิดงานได้ดีขึ้น พยายามอย่าเอางานไปโหลดในช่วงกลางคืน เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
8.อิทธิบาท 4 อย่างน้อยต้องมีจิตใจของเราเองที่รู้สึกว่า อยากจะดูแลตัวเอง คอยดูว่าตอนนี้ร่างกายเราเป็นอย่างไร เพราะถ้าปล่อยให้ฮอร์โมนตกลงไปเรื่อย ภูมิคุ้มกันก็จะยิ่งต่ำลง การเผาผลาญพลังงานก็จะแย่ลง ก่อให้เป็นโรคอื่นๆ ตามมา
กลุ่มอาการของคนที่เข้าข่ายกลุ่มโรคร่าเริงที่พบบ่อย คือ มึนหัวง่าย คนที่มีความดันต่ำๆ ตลอดเวลา โดยไม่รู้สาเหตุ ขี้หนาว อ่อนเพลียไม่มีแรง แม้ว่าจะรับประทานอาหารหรือนอนหลับพักก่อนเพียงพอแล้วก็ตาม ก็ให้สงสัยไว้ก่อน เพราะฉะนั้นอย่ารอจนร่างกายไม่ไหว ควรหมั่นดูแลตัวเอง หาเวลาตรวจเช็คสุขภาพว่ามีปัญหาหรือไม่ จะได้เข้ารับการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
พญ.พัชรนันท์ ศรีพัฒนะวัชร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ Anti Aging
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)