© 2017 Copyright - Haijai.com
เตือนภัย ไวรัสเมอร์ส (MERS) โรคติดต่ออันตรายอันดับ 7 ของไทย
โรคเมอร์ส หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 เป็นโรคติดต่ออันตรายอันดับ 7 ของไทย ให้เจ้าหน้าที่กักตัวผู้ต้องสงสัยได้ โดยไม่ละเมิดสิทธิ แนะนำประชาชนทั่วไป หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่มีอาการไอ หรือจาม
สืบเนื่องจากช่วงวันที่ 20 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือโรคเมอร์ส ในประเทศเกาหลีใต้ และมีการแพร่กระจายของโรคอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ดำเนินการตรวจสอบ พบข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ได้รายงานข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุด ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2558 พบผู้ป่วยโรคเมอร์สที่ประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 145 ราย หนึ่งในนั้นมีประวัติสัมผัสเชื้อในประเทศเกาหลีใต้ และเดินทางผ่านฮ่องกงไปยังประเทศจีน 1 ราย และมีผู้เสียชีวิต 14 ราย ซึ่งจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด เป็นการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล และการติดเชื้อในบ้าน
สถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2558) พบผู้ป่วยยืนยันจากทั้งหมด 25 ประเทศ จำนวน 1227 ราย เสียชีวิต 449 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.86 ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่พบในต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้น ยังไม่รายงานผู้ป่วยโรคนี้ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสพบกับการแพร่ระบาดโรค เนื่องจากประชาชนมีการเดินทางไปมา ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เช่น เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนา นักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางไปทำงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วย ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรค มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากการติดต่อของโรคนี้ เป็นการติดต่อที่ง่ายเมื่อเทียบกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
แต่การติดต่อ และการแพร่ระบาดของโรคนี้ เมื่อเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังมีการติดต่อที่ยากกว่า โดยสามารถติดต่อผ่านการแพร่กระจายผ่านละอองฝอย น้ำลายจากการไอ จาม
สธ. ยกระดับ เมอร์ส โรคติดต่ออันตรายอันดับ 7
นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดเห็นชอบตามผู้เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค เสนอที่จะประกาศให้โรคเมอร์ส เป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 หากพบโรคดังกล่าวจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพิ่มอำนาจทางกฎหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ดำเนินการได้สะดวกขึ้น ในการกักตัวผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ละเมิดสิทธิ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ แล้วสมัครใจเข้ารับการตรวจเชื้อทั้ง 11 ราย ผลออกมาแล้วเป็นลบทั้งหมด ไม่มีผู้ใดเป็นโรคเมอร์ส
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดโรคติดต่ออันตรายไว้ 6 โรค คือ
1.อหิวาตกโรค
2.กาฬโรค
3.ไข้ทรพิษ
4.ไข้เหลือง
5.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส
6.โรคติดเชื้ออีโบลา
โดยโรคเมอร์ส จะถือเป็นโรคที่ 7 ที่กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย
รู้จักและเข้าใจ กลไกป้องกันโรคเมอร์ส
โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 คือ กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) หรือโรคเมอร์ส เป็นเชื้อสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มไวรัสโคโรนา (MERS Corona Virus : MERS CoV) มีรายงานการติดเชื้อจากคนสู่คนในวงจำกัด โดยผู้ป่วยบางรายมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ และดื่มน้ำนมดิบจากสัตว์ โดยเฉพาะจากอูฐ อูฐจึงเป็นสัตว์ที่อาจนำเชื้อดังกล่าวมาสู่คนได้ พ้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโรคที่แจ้งว่า เป็นการติดเชื้อระหว่างสัตว์สู่คน สำหรับการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คน สามารถแพร่ผ่านทางเสมหะของผู้ป่วยจากการไอ เป็นต้น และมักเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยมิได้มีการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล
อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ MERS Cov มักมีอาการไข้ เช่น ท้องร่วง ร่วมด้วย และบางรายจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจรุนแรง จะมีหายใจหอบ หายใจลำบาก ปอดบวม และถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้เกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลว จึงควรได้รับการดูแลในห้องดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤติ (Intensive Care Unit)
คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2012 แล้ว ไม่มีการรักษาแบบเฉพาะหรือวัคซีน ต้องอาศัยการรักษาตามอาการแบบประคับประคอง หากภูมิต้านทานของร่างกายไม่ดี โอกาสที่จะเสียชีวิตจะสูง วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ตัวเองได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าว
จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากเดินทางเข้าไปในประเทศที่มีการระบาด และเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม หรือสถานที่เก็บผลผลิตทางการเกษตร หรือในพื้นที่มีอูฐอยู่ ควรปฏิบัติตน ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการไอหรือจาม
2.ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการป่วย ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค และเปลี่ยนบ่อยๆ เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ
3.ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ โดยเฉพาะ เมื่อสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยสัมผัส
4.หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสฟาร์มสัตว์ หรือสัตว์ป่าต่างๆ หรือดื่มนมสัตว์ โดยเฉพาะอูฐ ซึ่งอาจเป็นแหล่งของโรคได้
5.ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้อื่น ควรใช้กระดาษชำระปิดปาก และจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้ว ลงในถังขยะ ล้างมือให้สะอาด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ควรไอหรือจามลงบนเสื้อผ้าบริเวณต้นแขน ไม่ควรจามรดมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)