Haijai.com


โรครองช้ำ โรคพังผืด ใต้ฝ่าเท้าอักเสบ


 
เปิดอ่าน 2781

โรคพังผืด ใต้ฝ่าเท้าอักเสบ

 

 

อาการปวดส้นเท้า เป็นปัญหาที่พบบ่อย ดูเหมือนเป็นปัญหาเล็กๆ ของคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่จริงๆ ปัญหานี้สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่มีอาการได้อย่างมาก ถ้าละเลยปัญหาตั้งแต่แรกก็จะทำให้เป็นโรคนี้อย่างยาวนาน จนทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างยากเย็น

 

 

เวลาบอกว่ามีอาการปวดส้นเท้า เราต้องแยกให้ได้ก่อนว่า อาการปวดนั้นเกิดที่บริเวณส้นเท้าทางด้านหลังที่เป็นจุดเกาะของเอ็นร้อยหวาย หรือปวดที่บริเวณส้นเท้าทางด้านล่าง เพราะสาเหตุและการรักษานั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับบทความนี้หมอจะขอพูดถึงเรื่องอาการปวดบริเวณส้นเท้าทางด้านล่าง ที่มาจากสาเหตุพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบก่อนนะครับ เพราะพบได้บ่อยกว่า

 

 

อาการปวดส้นเท้าทางด้านล่างมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ โรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่ารองช้ำ อาการที่พบในโรคนี้ก็คือ อาการปวดบริเวณส้นเท้าโดยเฉพาะเวลาเดินลงน้ำหนัก จะเป็นมากตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากเตียงหลังจากตื่นนอน บางคนถึงขั้นเดินกะเผลก พอเดินไปซักระยะหนึ่งอาการปวดจะดีขึ้น แต่ไม่หาย พอนั่งพักนานๆ กลับมาเดินใหม่ก็จะกลับมามีอาการเจ็บอีกครั้งหนึ่ง

 

 

การวินิจฉัยโรคนี้ต้องมาจากประวัติและการตรวจร่างกาย โดยต้องวินิจฉัยแยกโรคที่อาจมีอาการเป็นไปได้อื่นๆ ออกไปก่อน ซึ่งการเป็นโรครองช้ำ สาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่

 

1.ภาวะอ้วน ซึ่งเกิดจากน้ำหนักตัวที่มากทำให้เกิดแรงที่ไปกระทำที่เอ็นฝ่าเท้าตลอดเวลา

 

 

2.รูปเท้าที่มีความผิดปกติ เช่น มีภาวะอุ้งเท้าแบน หรือมีกล้ามเนื้อช่วงน่องที่ขาดความยืดหยุ่น ซึ่งจะทำให้การกระจายแรงที่บริเวณเท้าเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เอ็นฝ่าเท้าต้องรับแรงกระทำที่มากขึ้น

 

 

3.อาชีพบางอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินตลอดเวลา บนพื้นที่ค่อนข้างแข็ง ซึ่งจะทำให้เอ็นฝ่าเท้ามีอาการบาดเจ็บได้

 

 

4.การออกกำลังกายบางประเภท เช่น การวิ่งระยะไกล ซึ่งจะทำให้มีแรงที่มากระทำต่อเอ็นฝ่าเท้ามากและเป็นเวลานาน

 

 

5.อายุที่มากขึ้น ก็จะทำให้เอ็นมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

 

6.การเกิดการบาดเจ็บที่เอ็นฝ่าเท้าอยู่ซ้ำๆ ต่อเนื่อง เช่น ใส่รองเท้าที่มีพื้นแข็ง

 

 

สำหรับการรักษาโรคนี้ สามารถทำได้ด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด เฉพาะกรณีที่ทำทุกวิธีแล้ว อาการปวดไม่ดีขึ้น จึงพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

 

 

การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด สามารถทำได้เองที่บ้าน ประกอบด้วย

 

1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เกิดแรงกดที่บริเวณเอ็นฝ่าเท้า

 

 

2.การใช้อุปกรณ์เข้ามาช่วย เช่น แผ่นรองบริเวณส้นเท้า (Heel cushion) เพื่อลดแรงกดบริเวณส้นเท้า หรือการปรับเปลี่ยนรองเท้า เพื่อปรับการลงน้ำหนักที่เท้าให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

 

 

3.การนวดเอ็นฝ่าเท้าเพื่อยืดเอ็นให้มีความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยลดแรงดึงของเอ็นที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บ การรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและช่วยลดอาการปวดได้ดี

 

 

สำหรับเทคนิคการนวดฝ่าเท่านั้น สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยให้ผู้ป่วยกระดกนิ้วเท้าและข้อเท้าขึ้น จากนั้นคลำไปที่บริเวณกลางฝ่าเท้า เราจะสามารถคลำได้เอ็นเป็นเส้น ที่มีทิศทางจากส้นเท้าไปปลายเท้า แล้วทำการนวดบริเวณเอ็นนี้ โดยวิธีการกดคลึง 5-10 นาที แนะนำให้ทำตั้งแต่ตื่นนอน ก่อนที่จะเริ่มเดินลงจากเตียง เพื่อลดอาการปวดที่จะเกิดมากหลังจากตื่นนอนได้ พยายามหลีกเลี่ยงการนวดที่บริเวณปุ่มกระดูกที่เป็นจุดกดเจ็บ นอกจากจะไม่ช่วยในการยืดเส้นเอ็นแล้ว ยังทำให้มีอาการอักเสบมากขึ้นอีก

 

 

สำหรับผู้ที่มีปัญหาถ้าไปพบแพทย์ นอกจากคำแนะนำข้างต้นแล้ว แพทย์อาจจะพิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติม ได้แก่

 

1.การใช้ยา ส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มต้านการอักเสบ (NSAIDs) เป้าหมายเพื่อลดอาการปวดและลดการอักเสบ

 

 

2.การฉีดยา Steroid ที่บริเวณอักเสบวิธีนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีโอกาสที่จะทำให้เอ็นฝ่าเท้าฉีกขาดได้ง่าย เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีนี้

 

 

3.การผ่าตัด จะพิจารณาเป็นกรณีสุดท้าย

 

 

โดยส่วนใหญ่การรักษาก็จะทำควบคู่กันไปในทุกๆ วิธี เพื่อปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน และโรคนี้สามารถหายได้เองเพียงแต่จะใช้เวลาค่อนข้างนาน บางครั้งใช้เวลาเป็นปี ดังนั้น ความเข้าใจในตัวโรครวมถึงวินัยในการรักษาด้วยตัวเอง จึงมีความสำคัญอย่างมาก ถ้าสามารถทำได้ตามนี้ หมอเชื่อว่าจะช่วยให้ทุกคนที่มีปัญหา สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องทำการผ่าตัด

 

 

นพ.กฤตชัย โสภากร

รพ.กรุงเทพพระประแดง

(Some images used under license from Shutterstock.com.)