© 2017 Copyright - Haijai.com
ท่อน้ำตาอุดตัน ปัญหาตาที่ต้องรักษา
ท่อน้ำตาอุดตันเป็นภาวะหนึ่งเกี่ยวกับตาที่พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยเป็นภาวะที่พบได้ค้อนข้างบ่อย และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการน้ำตาไหล หรือน้ำตาคลอตลอดเวลา จนอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบติดเชื้อเรื้อรังตามมาได้
ในเด็กทารกส่วนใหญ่ ปัญหาของท่อน้ำตาอุดตัน จะเกิดจากกลิ้นเปิดปิดในท่อน้ำตาไม่เปิด โดยมีพังผืดบางๆ มาขวางอยู่ ซึ่งอาการที่สังเกตได้คือ เด็กจะมีน้ำตาไหลมากหรือตาแฉะ โดยที่ไม่ได้ร้องไห้ ทั้งนี้ท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก สามารถแก้ไขได้โดยการนวดท่อน้ำตา ซึ่งโดยปกติ 80-90% จะหายเป็นปกติ แต่ถ้าไม่หายในช่วงขวบปีแรก แพทย์อาจทำการรักษาโดยการแย่งท่อน้ำตา หากวิธีนี้ไม่ได้ผลอาจต้องใช้วิธีแยกท่อน้ำตา และใส่ท่อซิลิโคนคาไว้ในท่อน้ำตา ซึ่งหากใช้วิธีการรักษาทุกวิธีแล้ว แต่ยังไม่ได้ผล อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป
สำหรับในผู้ใหญ่ ท่อน้ำตาอุดตันมักเกิดจากความผิดปกติทางกายวิภาค ที่บริเวณรูท่อน้ำตา ถุงน้ำตา หรือรูบริเวณทางเดินน้ำตา ที่จะผ่านจากตาไปที่จมูก ส่งผลให้ของเสียต่างๆ ที่ปะปนอยู่กับน้ำตา ไม่สามารถผ่านออกไปได้ เกิดการคั้งค้างของเสียอยู่ที่บริเวณท่อน้ำตา ถุงน้ำตา และผิวดวงตา ทำให้มีน้ำตาไหลและระคายเคืองตลอดเวลา จนอาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานไม่ได้หรือขับรถไม่ได้ หรือเสียบุคลิกเวลาเข้าสังคม ซึ่งในรายที่เป็นมากและเรื้อรัง จะมีอาการระคายเคืองตลอดเวลาจากของเสีย ที่ไม่สามารถระบายออกจากตาได้ หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจเกิดการอักเสบจนกลายเป็นฝีหนองบริเวณระบบทางเดินท่อน้ำตา ซึ่งอาจลุกลามเข้าไปในดวงตาจนเกิดอาการติดเชื้อในตาได้
การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน มักต้องใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาตำแหน่งที่อุดตันก่อน และพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ในปัจจุบันการผ่าตัดมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
1.การผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันแบบดั้งเดิม (External Dacryocystorhinostomy) เป็นวิธีการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตัน โดยมีแผลจากทางด้านนอก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
2.การผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic Dacryocystorhinostomy) เป็นการผ่าตัดแก้ไขท่อน้ำตาอุดตันผ่านทางรูจมูก โดยใช้กล้องขนาดเล็กที่เรียกว่า เอ็นโดสโคป (endoscope) ส่องผ่านเข้าไปผ่าตัดในช่องรูจมูกแคบๆ และทำทางระบายท่อน้ำตาท่อใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ไม่เกิดแผลเป็นถาวรฟื้นตัวได้เร็วและแผลหายเร็ว แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของจักษุแพทย์เฉพาะทาง
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับนัยต์ตา อย่าละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้สามารถให้การรักษาและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างทันท่วงที
นายแพทย์ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง
จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)