© 2017 Copyright - Haijai.com
6 อาการหมดประจำเดือน วัยทองมาหาแล้วจ้า
มีความเชื่อที่ไม่เป็นจริงในสังคมไทย คือ ประจำเดือนมามากเป็นเรื่องดี เป็นการขับของเสีย ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง ส่วนประจำเดือนมาน้อยไม่ดี เพราะแสดงว่าประจำเดือนใกล้หมด ทำให้แก่เร็ว
ความเชื่อนี้ทำให้คนที่ประจำเดือนมามากไม่มาพบแพทย์ จึงทำให้เกิดอันตราย เพราะประจำเดือนมามากส่วนใหญ่เกิดจากโรค เช่น เนื้องอกมดลูก มดลูกอักเสบ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ เป็นต้น
ส่วนคนที่ประจำเดือนมาน้อย ไม่อยากแก่เร็ว มักรีบมาพบแพทย์ เพราะกลัวว่าจะเข้าสู่วัยทอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการวัยทอง แต่เป็นสภาวะปกติ เพราะเมื่ออายุมาก มดลูกมีขนาดเล็กลง ประจำเดือนก็มาน้อยลง หรือบางคนก็เกิดจากฮอร์โมนไม่ปกติ เช่น อ้วนไป ผอมมาก มีความเครียดสะสม เป็นต้น
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุเท่าไร
วัยทอง หมายถึง วัยที่ฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสร้างขึ้นจากรังไข่หมด ทำให้ไม่มีประจำเดือนเป็นเวลาติดต่อกัน 12 เดือน ส่วนอาการวัยทองเป็นอาการขาดฮอร์โมน ซึ่งอาจเกิดก่อนหมดประจำเดือนจริง โดยโอกาสเกิดอาการวัยทองก่อนอายุ 40 ปี เป็นได้น้อยมากค่ะ พบเพียงร้อยละ 1 ของคนไข้วัยทอง หากสงสัยว่าตนเองอยู่ในวัยทองขณะอายุน้อย ควรพบแพทย์ คนวัยทองส่วนใหญ่มีอายุเกิน 45 ปี เนื่องจากอายุเฉลี่ยของการหมดประจำเดือนสำหรับคนไทย คือ 48-51 ปี
จะเป็นวัยทองหรือไม่ นอกจากดูอายุแล้ว ควรพิจารณาจากอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
1.ประจำเดือนผิดปกติ การเข้าสู่วัยทองต้องมีประจำเดือนผิดปกติ แต่คนที่มีประจำเดือนผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องเป็นวัยทองเสมอไป ดังนี้ค่ะ
1.1.ประจำเดือนมามากกว่าเดิม เชื่อว่าก่อนหมดประจำเดือน รังไข่จะระดมสรรพกำลังผลิตฮอร์โมน เหมือนตะวันที่ฉายแสงโชนก่อนลับขอบฟ้า ส่งผลให้ประจำเดือนมามากกว่าเดิม แต่อาการนี้ไม่ใช่อาการเฉพาะของวัยทอง ส่วนใหญ่เป็นอาการของโรค ดังนั้นหากประจำเดือนมามาก จึงไม่ควรนิ่งนอนใจว่าเป็นอาการวัยทอง แต่ควรพบแพทย์
1.2.ประจำเดือนมาน้อยกว่าเดิม แม้เป็นอาการของวัยทองได้ แต่อาการนี้ไม่เฉพาะเจาะจง เหตุที่ประจำเดือนมาน้อยนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากรังไข่ทำงานน้อยลง ซึ่งนอกจากใกล้หมดประจำเดือนยังมีสาเหตุมากมาย เช่น เครียด ไข่ไม่ตก โรคไทรอยด์ต่ำหรือไทรอยด์เป็นพิษ โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ โรคอ้วน หรือผอมมากจนขาดอาหาร เป็นต้น
1.3.ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย อาการนี้ไม่เฉพาะเจาะจงว่า เป็นอาการวัยทองเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของฮอร์โมนผิดปกติ ไข่ไม่ตก มีการอักเสบภายใน โพรงมดลูกหนาได้รับฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ยาคุมกำเนิด สมุนไพร ฯลฯ หากเป็นอาการนี้ควรพบแพทย์ เพราะต้องระวังว่าอาจเป็นอาการมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
2.ร้อนวูบวาบ (Hot Flashes) อาการนี้พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดก่อนการหมดประจำเดือนจริง 1-2 ปี มีลักษณะพิเศษ คือ ร้อนวูบวาบบริเวณลำตัว มักเป็นบริเวณท่อนบนของร่างกาย เวลาร้อนวูบ ผิวหนังมักมีสีแดง หน้าแดง คอแดง บางคนมีเหงื่อไหลบริเวณที่ร้อนด้วย บางคนร้อนน้อยพอทนได้ เป็นครึ่งนาทีก็หายไป บางคนเป็นมาก จนรู้สึกร้อนจัด พอหายร้อนก็หนาวสั่น เป็นนานกว่าครึ่งชั่วโมง ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิด เครียด มีอาการเหมือนเป็นโรคประสาท อย่างไรก็ตาม อาการร้อนนั้นอาจเกิดจากความเครียด ซึมเศร้าเป็นโรคจิตโรคประสาท ไม่ใช่อาการจากวัยทองก็ได้
3.ช่องคลอดแห้ง ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แม้เป็นอาการที่เกิดขึ้นในวัยทอง แต่ไม่ใช่อาการเฉพาะเจาะจง อาจเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิงลดลง หรือร่างกายเสื่อมก็ได้
4.นอนไม่หลับ เกิดได้บ่อยในวัยทอง แต่ไม่ใช่อาการเฉพาะเจาะจง อาจเกี่ยวข้องกับความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ฯลฯ
5.ปัสสาวะบ่อย พบบ่อยในวัยทอง เกี่ยวข้องกับการฝ่อตัวของกระเพาะปัสสาวะ และรูปัสสาวะจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับวัยทอง เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
6.เส้นผมบาง แห้ง ร่วง ผิวหนังบาง แห้ง หน้าเป็นฝ้า แม้เป็นอาการที่พบบ่อยในวัยทอง แต่อาจไม่เกี่ยวกับวัยทองก็ได้ อาจมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารหรือวิตามิน โดนแสงแดดมาก มีความเสื่อมของผิวหนัง ฯลฯ
สรุป แม้มีอาการหลายอย่างที่สงสัยว่าอาจเข้าสู่วัยทอง แต่ปัจจัยที่พบบ่อยที่สุดคือ อายุอยู่ระหว่าง 45-55 ปี มีอาการร้อนวูบวาบและประจำเดือนผิดปกติ
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
สูติ-นรีแพทย์
โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)