Haijai.com


คลื่นมวลอากาศความร้อน สัญญาณเตือนโรคฮีทสโตรก


 
เปิดอ่าน 1881

ภัยร้อนในแดนภารต

 

 

คนที่ภูมิชีวิตไม่แข็งแรง หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ปรวนแปร จนก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่คนทั่วโลกเผชิญอยู่ขณะนี้ คงเจ็บป่วยได้ง่ายๆ

 

 

เช่นที่ประเทศอินเดียถูกคลื่นความร้อน (Heat Wave) พาดผ่านตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2558 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 แล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เพราะอากาศร้อนจัดแตะ 46-49 องศาเซลเซียสนานนับสัปดาห์ และอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสเกือบหนึ่งเดือน

 

 

หน่วยงานฐานข้อมูลภัยพิบัติระหว่างประเทศ หรือเอม-แดท (EM-DAT) ให้ข้อมูลว่า รัฐที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนมากที่สุดคือรัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) และรัฐเตลังคานา (Telangana) ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย โดยมีผู้เสียชีวิตรวมกันแล้วถึง 1,979 ราย และมีผู้เสียชีวิตอีก 17 รายในรัฐโอริสสาทางตะวันออก และอีก 9 คนในรัฐอื่นๆ ทั่วอินเดีย ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 2,005 ราย (ข้อมูลวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2558)

 

 

คลื่นความร้อน คือ อากาศร้อนจัดที่อยู่ในพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แบบสะสมความร้อน เกิดในพื้นที่ซึ่งมีการสะสมความร้อนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อากาศจะแห้ง ลมนิ่ง ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เมื่ออุณหภูมิสะสมนานหลายวัน จะเกิดคลื่นความร้อนมากขึ้น แบบที่สองคือ แบบพัดพาความร้อน เกิดจากลมที่หอบความร้อนจากทะเลทรายขึ้นไปในเขตที่เย็นกว่า มักเกิดในยุโรป

 

 

กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียคือ คลื่นความร้อนซึ่งเกิดจากการสะสมความร้อนเป็นเวลานาน ทั้งยังอาจเป็นผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนอีกด้วย

 

 

ประเทศไทยก็มีปรากฏการณ์คลื่นความร้อนเช่นกัน แต่ไม่ร้ายแรงเท่าอินเดีย เนื่องจากไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมวลอากาศร้อนจัด ประกอบกับไม่มีทะเลทราย

 

 

นอกจากนี้คลื่นความร้อนจะเกิดได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ แต่สภาพอากาศของประเทศไทยมักมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาทุกๆ 7-10 วัน ทำให้เกิดฝนตก ช่วยลดอุณหภูมิไม่ให้ไต่ระดับสูงมากเท่าอินเดีย อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์เอลนีโญนี้ ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้อุณหภูมิในบ้านเราสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้เช่นกัน

 

 

อาการลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เป็นอาการหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วงอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน

 

 

นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า เมื่อร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูงและได้รับความร้อนมากเกินไป สมองส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะทำงานผิดปกติ และทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง

 

 

สัญญาณเตือนสำคัญของโรคฮีทสโตรกคือ แม้อาการจะร้อน แต่เหงื่อไม่ออก (แตกต่างจากอาการเพลียแดด ซึ่งจะมีเหงื่อออก) หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน / ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียนกล้ามเนื้อเกร็ง ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย รู้สึกตัวน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เสียชีวิตได้

 

 

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยฮีทสโตรกเบื้องต้น ทำได้โดยนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถ้าผู้ป่วยอาเจียนควรให้นอนตะแคงก่อน หากผู้ป่วยใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น ควรคลายออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกลำตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ เพื่อระบายความร้อนให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

 

 

เพราะสภาพอากาศทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เราจึงต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นค่ะ

 

 

เคล็ดลับป้องกันฮีทสโตรก

 

 ในวันที่อากาศร้อนควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน

 

 สวมเสื้อผ้าสีอ่อนๆ เนื้อผ้าโปร่ง ไม่หนา ระบายอากาศ

 

 ถ้าต้องทำงานกลางอากาศร้อน ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร

 

 หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

 ควรดูแลเด็กเล็กและคนชราเป็นพิเศษ ให้อยู่ในพื้นที่ ซึ่งอากาศถ่ายเทได้ดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)