© 2017 Copyright - Haijai.com
ผื่นผ้าอ้อม Diaper Rash
ผื่นผ้าอ้อม จัดเป็นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดในทารก (แต่ก็สามารถพบปัญหานี้ได้ในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ) อาการระคายเคืองของผิวหนังเกิดจากการสัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ปัสสาวะและ/หรืออุจจาระ หรือจากการใส่ผ้าอ้อมเป็นเวลานาน เนื่องมาจากการเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อยเกินไป ทำให้เกิดการเปียกชื้น
ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดผื่นผ้าอ้อม ได้แก่ การเปลี่ยนแปลง pH ของผิวหนังจากกรดอ่อน (4.0-5.5) ไปเป็นสภาพที่เป็นด่างมากขึ้น ซึ่งมาจากการที่แบคทีเรียในอุจจาระเปลี่ยนยูเรียในปัสสาวะให้กลายเป็นแอมโมเรีย ทำให้ผิวหนังถูกทำลายจาก protease และ lipase จากอุจจาระ ภาวะความเปียกชื้นทำให้ผิวหนังกำพร้าชั้นนอกสุดอ่อนแอลงและเปื่อยลอก เมื่อเกิดการเสียดสีจากผ้าอ้อมและสารระคายเคืองจากเอนไซม์ protease และ lipase ในอุจจาระ ภาวะที่เป็นด่างเพิ่มขึ้น ทำให้ภูมิต้านที่ผิวหนังลดลง จึงเกิดการติดเชื้อราบริเวณนี้ได้ง่ายขึ้น
ผื่นผ้าอ้อมมีลักษณะเป็นผื่นแดง คลายผิวหนังโดนลวกบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมโดยเฉพาะก้น (แต่ในกรณีที่รุนแรงมากๆ ผื่นอาจลามนอกบริเวณที่อยู่ในผ้าอ้อม) ในบางครั้งผิวอาจขรุขระและลอกเป็นสะเก็ด ปกติภาวะนี้ไม่ติดต่อและมักดีขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงหลังการรักษา ยกเว้นกรณีที่เป็นการติดเชื้อราหรือแคนดิดา ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นแดง เป็นเงา มีขอบเขตชัดเจน บางครั้งอาจมีตุ่มหนองขนาดเล็กรอบๆ ขอบของผื่นผ้าอ้อม รวมทั้งรอยพับที่ขาหนีบและต้นขา ผื่นผ้าอ้อมสามารถป้องกันได้ โดยการดูแลผิวให้แห้งอยู่เสมอและเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ
คำแนะนำผู้ป่วย
• ใช้ผ้าอ้อมที่มีการระบายได้ดี หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมที่ไม่ซับน้ำ
• เปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งที่ผิวสัมผัสความเปียกชื้น
• พยายามไม่ใช้ผ้าอ้อมในบางช่วงของวัน เพื่อให้ผิวหนังทารกได้ “หายใจ” ได้สัมผัสกับอากาศ
• ถ้าใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากผ้า ต้องมั่นใจว่าซักอย่างสะอาดหมดจด เพื่อป้องกันการสะสมของแบคทีเรีย
• ใช้สบู่ที่อ่อนโยนและไม่ก่อให้เกิดการแพ้สำหรับอาบน้ำให้ทารก เพื่อลดโอกาสเกิดการระคายเคืองที่ผิวทารก
• ควรเช็ดก้นเด็กให้แห้งด้วยผ้าหลังการอาบน้ำทุกครั้ง แต่ไม่ควรถูกก้นเด็ก เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังของเด็กได้
• ทาครีม สารเพิ่มความชุ่มชื้น เลือกผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบขี้ผึ้ง (ointment) เนื่องจากสามารถลดการสูญเสียน้ำจากผิวหนัง และป้องกันสารระคายเคืองจากภายนอกได้ดี หรือทาแป้งทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม แต่ไม่ควรทาแป้งให้หนาเกินไป เพราะแป้งจะอมน้ำ ทำให้ผิวหนังชื้นได้
• หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมที่รัดจนเกินไป และที่ทำจากพลาสติกทั้งหมด
• หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเปียกเช็ดก้นเด็ก (Baby Wipes) ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม และแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจระคายเคืองผิวที่อ่อนบางของทารก
• หลีกเลี่ยงการใช้สารก่อความระคายเคือง หากจำเป็นต้องใช้ให้ล้างออกด้วยน้ำอุ่น แล้วทำผิวให้แห้ง
• ไม่ควรใช้ครีมที่มีส่วนผสมของ boric acid, camphor, methylsalicylate และ phenol หรือครีมที่มีส่วนประกอบของ benzoin tincture เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ อาจทำอันตรายต่อผิวหนังของเด็ก เนื่องจากส่วนผสมเหล่านี้ สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังที่บางของเด็กได้ หากใช้เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพิษได้
• กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาเบื้องต้น 7 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)