© 2017 Copyright - Haijai.com
กลุ้มจริง ยิ้มเห็นเหงือก
“ยิ้มเห็นเหงือก” หรือ “Gummy Smile” คือ การที่เวลายิ้มแล้วเห็นเหงือกมากกว่าปกติที่บริเวณฟันบน (เหมือน “แก้วหน้าม้า” นางเอกละครพื้นบ้านไทยที่ทุกคนคงรู้จักกันดี) แตกต่างจากคนทั่วไป ที่เวลายิ้มจะเห็นขอบเหงือกด้านบนนิดหน่อยหรือไม่เห็นเหงือกเลยก็มี ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้คนๆ นั้น ขาดความมั่นใจในการยิ้ม ไม่กล้ายิ้ม หรือต้องเกร็งปากเวลายิ้ม เพื่อไม่ให้ริมฝีปากเปิดมาก กลายเป็น “ยิ้มแล้วกลุ้ม” แทนที่จะยิ้มอย่างมีความสุข บางคนริมฝีปากหนาเกินไป อยากทำศัลยกรรมตกแต่งริมฝีปากให้บางลง แต่เพราะมีปัญหายิ้มเห็นเหงือกร่วมด้วย จึงมักกังวลใจว่าถ้าทำริมฝีปากบาง จะต้องเย็นเห็นเหงือกมากขึ้นแน่ๆ แต่แท้จริงแล้วปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ค่ะ
ที่มาของปัญหา
ที่มาของ ปัญหายิ้มเห็นเหงือก อาจมีได้หลายอย่าง เช่น อาจเกิดจากตัวฟันที่เล็กกว่าปกติ หรือขากรรไกรที่ใหญ่กว่าปกติ ซึ่งแต่ละสาเหตุมีวิธีการรักษาแตกต่างกันไป คนไข้ควรมาพบหมอฟัน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และแก้ไขได้อย่างตรงจุด ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้ความเห็นจากหมอฟันหลายสาขา เช่น หมอจัดฟัน เพื่อเรียงฟันที่ห่างให้ชิดกัน หรือหมอบูรณะฟัน เพื่อบูรณะหรือเสริมฟันที่เล็กให้ใหญ่ขึ้น เป็นต้น สาเหตุที่ทำให้ยิ้มเห็นเหงือก ได้แก่
• กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบนและยกมุมปากทำงานเกินพอดี
• เหงือกเจริญลงมาคลุมคอฟันมากไป
• ฟันมีขนาดสั้นหรือเล็กเกินไป
• ฟันและเหงือกเจริญผิดรูป
• บริเวณเหนือริมฝีปากบน (จากฐานจมูกลงมาจนถึงขอบปาก) สั้น หรือหดรั้งมากเกินไป
• กระดูกกรามบน หรือเหงือกบนโต หรือยื่นเกินไป
• การกินยาบางชนิดที่ส่งผลให้เหงือกบวมโต หรือร่นลงมาได้ เช่น ยาแก้หรือกันชักบางชนิด
ทางแก้
• การฉีดโบท็อกซ์ ใช้แก้ปัญหากรณีที่ “กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยกริมฝีปากบน และยกมุมปากทำงานเกินพอดี” เราก็จะฉีดโบท็อกซ์ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานน้อยลงหน่อย ทำให้ดึงริมฝีปากขึ้นน้อยลง ริมฝีปากก็จะหย่อนๆ ลงมาปิดเหงือกได้ ไม่ต้องมาคอยเกร็งหรือเม้มริมฝีปากเวลายิ้ม น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายๆ สบายๆ สะดวก เห็นผลเร็ว ไม่เจ็บ ไม่เกิดแผลอะไร นอกจากรอยเข็มนิดหน่อย แต่ปัญหาคือ จะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทำให้นะคะ
เพราะกล้ามเนื้อสำคัญเช่นนี้ ถ้าจิ้มเข็มสุ่มสี่สุ่มห้าไป จะกลายเป็นขยับปากบนไม่ได้เลย ที่สำคัญคือการรักษาแบบนี้ไม่ถาวร มีระยะเวลาไม่นาน ตามแต่โบท็อกซ์จะออกฤทธิ์ อาจจะประมาณ 6-12 เดือน
• การตัดแต่งเหงือก (Gingivectomy) เป็นการตัดเหงือกเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการกรอแต่งกระดูกหุ้มฟันร่วมด้วย ใช้แก้ปัญหากรณีฟันมีขนาดปกติ แต่เหงือกลงมาคลุมฟันมากหรือหนาเกินไป หลักการไม่ยากเลย แค่ตัดเหงือกตรงขอบตรงคอฟันให้สูงขึ้นไป เมื่อก่อนใช้วิธีลงมีดตัดแต่ง ทำให้มีเลือดออกค่อนข้างมาก ต้องมีการเย็บ ปัจจุบันเครื่องมือได้รับการพัฒนาไปมาก จากเครื่องจี้ไฟฟ้า Electrosurgery มาจนถึงใช้เลเซอร์ตัดแต่งเหงือก ซึ่งภายหลังตัดเหงือแล้ว จะมีเลือดซึมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เหงือกไม่ช้ำม่วง และไม่ต้องเย็บ
• การตัดเหงือกร่วมกับการกรอแต่งกระดูกหุ้มฟัน (Esthetic crown lengthening) ในกรณีที่เอกซเรย์แล้วพบว่า ไม่ได้มีแต่เหงือกคลุมฟันมากอย่างเดียว แต่ระดับของกระดูกหุ้มฟันก็สูงด้วย จำเป็นต้องกรอแต่งกระดูกหุ้มฟันร่วมด้วย กรณีนี้จะมีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้น ต้องใช้เวลา ต้องมีการเปิดเหงือก มีการกรอกระดูกออก มีการใช้ไหมเย็บแผล โดยเย็บไว้ 7 วัน จึงต้องมีเวลาพักฟื้นกันสักเล็กน้อย
• การอุดเติมเนื้อฟันหรือทำครอบฟัน วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ฟันมีขนาดเล็กหรือสั้นผิดปกติ ถ้าเป็นไม่มากจะใช้วัสดุอุดเสมือนฟัน ช่วยเติมซี่ฟันให้ดูยาวขึ้น แต่ถ้าฟันสั้นหรือเล็กมาก จะใช้เป็นวีเนียร์แปะหรือครอบฟันช่วย มักใช้ร่วมกับการตัดเหงือก
• การจัดฟัน ช่วยแก้ไขในกรณีที่ตำแหน่งฟันผิดปกติยื่นออกมามาก หรือฟันห่าง โดยจะใช้การจัดฟัน ทำให้ฟันชิดและไม่ยื่นได้ หรืออาจใช้การปักหมุดช่วยการดึงฟันลงมา เพื่อให้ระดับฟันสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงอาจมีปัญหาเรื่องการเรียงตัวที่ผิดปกติของฟัน หากเป็นปัญหาที่ขากรรไกรบนยื่น ก็ต้องมีการผ่าตัดร่วมกับการจัดฟัน
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีที่ต้องถึงเลือดถึงเนื้อกันมากขึ้น แน่นอนว่าต้องใช้เวลาและต้องมีการพักฟื้น การรักษาด้วยการผ่าตัดจะใช้ในหลายๆ สาเหตุดังนี้
• การผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อที่ดึงรั้งริมฝีปากบน ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ปัญหาหลักของยิ้มเห็นเหงือกมักมาจาก การทำงานของกล้ามเนื้อดึงรั้งริมฝีปากบน ที่ทำงานผิดปกติ ดังนั้น การผ่าตัดเพื่อตกแต่งกล้ามเนื้อบริเวณนี้จึงเป็นวิธีการที่มักได้ผลถาวรกว่าการใช้โบท็อกซ์ที่จะต้องไปฉีดซ้ำๆ เป็นการผ่าตัดโดยแก้ไขกล้ามเนื้อที่ควบคุมริมฝีปากบนเวลายิ้มให้ลงมาต่ำที่สุดนั่นเอง การรักษาวิธีนี้บางทีก็ใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ ในกรณีที่มีความผิดปกติด้านอื่นร่วมด้วย การผ่าตัดนี้ต้องมีการเย็บแผล ปัจจุบันใช้ไหมละลาย จึงไม่ต้องมาตัดไหมให้ยุ่งยาก แต่บางคนอาจมีอาการบวมอักเสบได้หลายวันหลังการรักษา
• การผ่าตัดตกต่างบริเวณริมฝีปากด้านบนที่สั้นหรือหดรั้งมากเกินไป สำหรับคนที่มีปัญหาริมฝีปากหดรั้งมากเกินไปนั้น จะใช้การผ่าตัดเพื่อตกต่างช่วงริมฝีปากด้านบนให้ยาวขึ้น เพื่อให้ลงมาคลุมช่วงเหงือกมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ ผ่าตัดแก้ไขริมฝีปาก แต่ถ้าจะรักษาด้วยวิธีนี้อย่างเดียว คนไข้ต้องมีกล้ามเนื้อที่ทำงานเป็นปกติดี ถ้าไม่ปกติต้องตกต่างกล้ามเนื้อที่ดึงรั้งริมฝีปากร่วมด้วย
• การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรบน ในกรณีที่กระดูกขากรรไกรบนโตหรือยื่นออกมามากๆ จนดันริมฝีปากบนให้ยื่นออกมา อาจต้องตกแต่งกระดูกกรามด้วยการตัดออกและเลื่อนเข้าไปด้านหลัง หรือหากกระดูกขากรรไกรด้านบนยาวเกินไป อาจต้องตัดให้สั้นลง แต่การผ่าตัดชนิดเป็นการผ่าตัดใหญ่ หลังผ่าตัดต้องมีการพักฟื้นนาน มีการใช้เหล็ก หรือสกรูดามไว้ ทำให้หลังการรักษาอาจจะทำให้การรับประทานอาหาร และพูดได้ลำบากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ สาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหายิ้มเห็นเหงือกค่ะ แต่ขอย้ำอีกครั้งนะคะ ว่าควรไปพบหมอฟันเพื่อตรวจหาสาเหตุของปัญหาก่อน การจะเลือกใช้วิธีการรักษาแบบไหน ต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะมีสาเหตุเยอะแยะมากมาย จะได้แก้ไขให้ตรงจุด เพื่อรอยยิ้มที่สวยสมใจ แต่อย่างไรก็ตามหมอจุ้มจิ้มคิดว่าทุกรอยยิ้มสวยเสมอค่ะ ขอแค่ให้มั่นใจ เพราะเราจะยิ้มเมื่อเรามีความสุข ดังนั้น ขอให้ทุกคนมีรอยยิ้มที่สุขสดใสถ้วนหน้ากันนะคะ
ข้อมูลอ้างอิง
-คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-ทันตแพทยสภา
ทพญ.กิตติลักษณ์ จุลลัษเฐียร
ทันตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)