© 2017 Copyright - Haijai.com
ต้อกระจก สลายง่าย
ต้อกระจกเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักมาจากความเสื่อมของเลนส์ตา และเมื่อเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อม แน่นอนว่าเราทุกคนจะต้องประสบกับปัญหานี้อย่างแน่นอน เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง พญ.อุไรวัลย์ ตินนังวัฒนะ จักษุแพทย์ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มาเป็นผู้ให้ข้อมูล รวมทั้งตอบคำถาม เรื่องต้อกระจกที่หลายคนอาจจะยังสงสัยและไขไม่ออก
กลุ่มเสี่ยงโรคต้อกระจก
ผู้ป่วยโรคต้อกระจกส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความเสื่อม จึงมักพบโรคนี้ในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีพบบ้างในผู้ที่มีอายุประมาณ 40-50 ปี สำหรับต้อกระจกที่พบในเด็กถือว่ามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ มีทั้งที่ไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากเป็นมาตั้งแต่กำเนิด สำหรับคุณแม่ที่เป็นหัดเยอรมันช่วงตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดมาจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อกระจกได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหากเด็กได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ พัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็ก ก็สามารถดีขึ้นได้
สังเกตตัวเองอย่างไรว่าเป็นหรือไม่
อาการเริ่มแรกที่สามารถสังเกตได้ของผู้ป่วยโรคต้อกระจก คือ ตามัว จากที่เคยมองไกลๆ เห็นชัด กลายเป็นความชัดน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น เวลามองคน จะเห็นเป็นรูปร่าง แต่ความคมชัดในรายละเอียดอื่นๆ เช่น ตา จมูก ปาก จะหายไป นอกจากนี้ยังมีอีกลักษณะหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ มองใกล้ชัด เพราะโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะมีลักษณะคล้ายคนสายตาสั้น คือ มองใกล้ชัด คนทั่วไปจะเข้าใจว่า “สายตากลับ ดีจังเลย มองใกล้ชัดแล้ว” แต่เมื่อถามว่ามองไกลเป็นอย่างไร จะได้คำตอบว่า “มองไกล ไม่ค่อยเห็นแล้ว” อันนี้ให้สันนิษฐานได้เลยว่า น่าจะเป็นต้อกระจก ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยให้แน่ชัด
จำเป็นต้องรักษาหรือไม่
โดยปกติเลนส์ตาของเราจะใส แสงจึงสามารถผ่านเข้าไปได้หมด แต่ต้อกระจกเกิดจากเลนส์ตาที่เสื่อม ความเสื่อมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เลนส์ตาขุ่น การเข้าของแสงจึงลดน้อยลง ยิ่งเลนส์ตาขุ่นมากเท่าไหร่ การเข้าของแสงก็จะยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยมองไม่เห็น รับรู้ได้แค่มีแสงหรือไม่มีแสง คือ กลางวัน หรือกลางคืนเท่านั้น หากมาถึงขั้นนี้แสดงว่าเป็นมากแล้ว เรียกว่า “ต้อกระจกสุก” ซึ่งถ้ายังปล่อยทิ้งไว้ ไม่รับการรักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ คือ ต้อหิน ซึ่งทำให้ตาบอดได้ ในอดีตเราจะพบผู้ป่วยที่ต้องกระจกสุกจนเกิดต้อหินมากกว่าปัจจุบัน โดยในปัจจุบันมักจะพบผู้ป่วยกรณีนี้เฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากขาดโอกาสเข้าถึงการรักษา
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ต้อกระจกเป็นทุกคน แล้วจะรักษาเมื่อไหร่ดี บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ หลังจากไปพบแพทย์แล้ว รู้ว่าตนเองเป็นต้อกระจก ความจริงไม่ต้องกังวลถึงขั้นนั้น ผู้ป่วยบางรายแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจกมา 5 ปีแล้ว แต่ตัวผู้ป่วยไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถามว่าแบบนี้ไม่ต้องรักษาได้ไหม ตอบว่า “ได้” แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกว่ามีปัญหา รบกวนการใช้ชีวิต ก็ควรมารับการรักษา
การรักษาต้องเตรียมตัวอย่างไร
การรักษาโรคต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดในอดีต เป็นการผ่าตัดแผลใหญ่ เพื่อใส่เลนส์เทียมเข้าไป แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาโรคต้อกระจกก้าวหน้าไปมาก เป็นการผ่าตัดด้วยอัลตราซาวนด์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เครื่องสลายต้อ” ทำโดยการอัลตราซาวนด์เข้าไปเพื่อตีเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วดูดออกมา เพราะฉะนั้นแผลจะมีขนาดเล็กเท่าท่ออุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปตีเลนส์ ส่วนใหญ่จะมีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร จึงไม่ต้องเย็บแผลหลังผ่าตัด และเมื่อนำเลนส์ตาที่ขุ่นมัวออกแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทน อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถผ่าตัดด้วยอัลตราซาวน์ได้ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา อันดับแรกผู้ป่วยควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่สุด ผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จึงควรรักษาระดับน้ำตาลและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่สุด ในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ ก็อย่ากังวลจนเกินไป เนื่องจากแพทย์จะดูผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป โดยจะพิจารณาว่าผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีโรคประจำตัวมากก็จะส่งผลถึงหลังผ่าตัดว่า แผลจะหายช้าหรือเปล่า เกิดภาวะติดเชื้อง่ายหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จักษุแพทย์แต่ละคนจะมีเกณฑ์ประเมินผู้ป่วยของตนเองอยู่แล้ว
ทำไมจึงไม่ให้ล้างหน้าหลังการผ่าตัดต้อกระจก
สิ่งที่จักษุแพทย์กังวลที่สุดสำหรับการผ่าตัดตา คือ เรื่องของภาวะติดเชื้อ ซึ่งขั้นตอนที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อมี 2 ส่วนหลักๆ คือ ขั้นตอนการผ่าตัด เพราะฉะนั้นระบบปลอดเชื้อของแพทย์ในห้องผ่าตัดจึงต้องเข้มงวดจริงจังมาก อีกส่วนหนึ่งคือ การดูแลตัวเองของผู้ป่วยเมื่อกลับไปพักฟื้นที่บ้าน แล้วการติดเชื้อที่บ้านจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคือ “เกิดจากน้ำ” นี่คือเหตุผลว่าทำไม แพทย์จึงไม่ให้ล้างหน้า ไม่ว่าจะใช้น้ำประปา หรือน้ำอื่นใดก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า ห้ามไม่ให้อะไรเข้าตาทั้งสิ้น ยกเว้นยาที่แพทย์สั่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งแผลจากการผ่าตัดนี้จะหายสนิท เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมห้ามล้างหน้า 1 เดือน
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถเช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหน้าได้ ไม่ได้ห้าม เพียงแต่อย่าเอาน้ำมารดมาราดเด็ดขาด เวลาอาบน้ำให้ใช้ฝักบัวหรือขันน้ำตักราด ตั้งแต่คอลงไป อย่าให้โดนใบหน้า การสระผมอาจต้องนอนสระเพื่อป้องกันน้ำเข้าตา พร้อมทั้งหาอะไรมาคลุมตาไว้ นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตา
ผ่าตัดไปแล้วจะเกิดปัญหาอะไรกับเลนส์เทียมที่ใส่เข้าไปหรือไม่
เลนส์เทียมที่ใส่เข้าไปจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต แต่อาจมีกรณีที่ว่าบางรายหลังจากใส่เลนส์เทียมไปสักระยะ ประมาณ 3-4 ปี หรืออาจจะ 10 ปี แล้วเกิดรู้สึกตามมัวขึ้นมาอีกครั้ง ตรงนี้สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากถุงรองเลนส์ขุ่น เพราะเวลาผ่าตัดต้อกระจก จะมีส่วนของถุงรองเลนส์กับเนื้อเลนส์ ซึ่งแพทย์จะเอาเฉพาะเนื้อเลนส์ออกมาแล้วเก็บถุงไว้ เพื่อวางเลนส์เทียมลงในถุง หลังจากนั้นถุงอาจเกิดการสร้างเซลล์และเจริญเติบโตหนาตัวขึ้น ซึ่งแพทย์จะแก้ไขโดยการยิงเลเซอร์เข้าไป เนื่องจากถุงที่หนาตัวขึ้นจะทำให้แสงผ่านเข้าสู่ดวงตาไม่ได้ จึงทำการยิงเลเซอร์เพื่อไปเปิดรูที่ถุงเหมือนไปเจาะก้นถุงให้แสงผ่านเข้าไปได้ วนเลนส์เทียมก็จะยังอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นถ้าเกิดอาการตามัวหลังผ่าตัดใส่เลนส์เทียมไปแล้วหลายปี อย่าพึ่งตระหนก ตกใจ ควรไปปรึกษาจักษุแพทย์ว่าเป็นเพราะกรณีนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามอาการตามัวเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่เฉพาะต้อกระจกอย่างเดียวเท่านั้น อาจเป็นเรื่องจอประสาทตาหรือความผิดปกติอื่นๆ ได้อีก จึงต้องไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ผู้ป่วยโรคต้อกระจกหลายรอบ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทมักเข้าใจผิดคิดว่าอาการตามัวจากต้อกระจก เป็นอาการของผู้สูงอายุ แก่แล้วตาก็ต้องมัวเป็นธรรมดา จึงใช้ชีวิตอยู่แบบยอมรับชะตากรรม อยู่บ้านก็อยู่แบบทุกข์ทรมาน มองอะไรก็ไม่เห็น ได้แต่คลำๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ปัจจุบันการรักษาโรคต้อกระจกสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ที่สำคัญต้องอย่ากลัวที่จะมาพบแพทย์
พญ.อุไรวัลย์ ตินนังวัฒนะ
จักษุแพทย์
สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)