© 2017 Copyright - Haijai.com
อ้วนลงพุง ภัยเงียบใกล้ตัว
ภาวะอ้วนลงพุง หรือ Metabolic syndrome คือ กลุ่มของความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน โดยกลุ่มของความผิดปกตินั้น ประกอบไปด้วยโรคอ้วนลงพุง (การมีไขมันในช่องท้องมากเกินไป) ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากการเผาผลาญไขมันในช่องท้อง ทำให้ได้กรดไขมันที่ผิดปกติมากกว่าการเผาผลาญไขมันบริเวณอื่นของร่างกาย และจากการมีภาวะดื้อต่ออินซูลินที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ
เมื่อไรจึงจะเรียกว่าภาวะอ้วนลงพุง?
เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะอ้วนลงพุงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีหลักเกณฑ์ คือ ต้องมีความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อ ใน 5 ข้อต่อไปนี้
1.เส้นรอบเอว มากกว่าหรือเท่ากับ 40 นิ้วในผู้ชาย หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 35 นิ้วในผู้หญิง
2.ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 150 mg/dL หรือรับประทานยาลดไขมันอยู่
3.ระดับ เอช-ดี-แอล คอเลสเตอรอล น้อยกว่า 40 mg/dL ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 mg/dL ในผู้หญิง
4.ความดันโลหิต มากกว่าหรือเท่ากับ 130/85 mmHg หรือรับประทานยาลดความดันอยู่
5.ระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร มากกว่าหรือเท่ากับ 110 mg/dL หรือระบประทานยาลดระดับน้ำตาลอยู่
การป้องกันภาวะอ้วนลงพุง
เราสามารถป้องกันภาวะอ้วนลงพุงได้ง่ายๆ เพียงปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตบางอย่างที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง เช่น ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการเพิ่มอาหารที่มีปริมาณกากใยมาก เช่น ข้าวกล้อง อาหารจำพวกถั่ว และผัก เป็นต้น ลดอาหารทอดที่ต้องใช้น้ำมันมากๆ หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ลดน้ำหนักในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน โดยอาจใช้วิธีคำนวณปริมาณแคลอรีของอาหารที่บริโภค เพื่อให้สมดุลกับปริมาณแคลอรีที่ร่างกายต้องใช้ไปในแต่ละวัน
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เราจัดอยู่ในภาวะอ้วนลงพุงหรือเปล่า ดังนั้น หากคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วนลงพุง อย่ารีรอที่จะไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำในการป้องกันอย่างเหมาะสม
พญ.ฐิติรัตน์ ศุภศิลป์
นพ.มงคล ธรพลเกียรติ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)