
© 2017 Copyright - Haijai.com
เปิดห้องคลอด
สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งกับอีกหนึ่งสถานที่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกผู้หญิงเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นที่ที่ชีวิตน้อยๆ ทั้งหลายถือกำเนิดขึ้น ใช่แล้วค่ะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกเรื่องราวภายใน “ห้องคลอด” กันอย่างละเอียด มาติดตามไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ตั้งแต่โบราณกาล การคลอดบุตรนับเป็นเรื่องน่ากลัวอันดับต้นๆ ของผู้หญิงทุกชาติพันธุ์ ทุกชนชั้น และนับเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ การคลอดในสมัยก่อนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่บ้าน ขาดการเตรียมการรับมือสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในการคลอด ผู้หญิงบางรายถึงกับเริ่มทำพินัยกรรมตั้งแต่ทราบว่าตัวเองตั้งท้องเลยทีเดียว
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปัจจุบันการแพทย์พัฒนาไปไกล มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันมัยสำหรับช่วยเหลือคุณแม่ใกล้คลอดทั้งหลาย และการคลอดส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงขณะคลอดบุตรลดลงจากเดิมราวครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ยังคงมีความเสี่ยงมากมายทั้งต่อมารดาและต่อทารก
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าต้องการจะขู่ให้บรรดาว่าที่คุณแม่ทั้งหลายตกใจกลัว เพียงแต่ต้องการให้ทุกคนมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคลอดบุตร เพราะไม่ใช่ว่าการคลอดทุกครั้งจะปลอดภัย มารดาและทารกจะแข็งแรงเสมอไป สิ่งไม่คาดคิดนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ และมักจะเกิดในเวลาที่คนเราเตรียมใจน้อยที่สุด
เปิดประตูสู่ห้องคลอด
ห้องคลอดเพิ่งจะมีขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในสมัยโบราณการคลอดส่วนใหญ่จะเกิดที่บ้าน แต่หลังจากที่มีการตระหนักถึงอันตรายทั้งก่อนการคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด ทำให้ค่อยๆ เกิดความคิดเรื่องการจัดการห้องคลอดให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้น เพื่อความสะดวกในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันและเมื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ทำให้ห้องคลอดมักจะอยู่ติดหรือรวมเอาห้องผ่าตัดเข้าไปไว้ในตัวด้วยเลย โดยทั่วไปห้องคลอดในโรงพยาบาลจะประกอบด้วยส่วนหลักๆ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนรอคลอด ซึ่งว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาอยู่ในส่วนนี้นานกว่าส่วนอื่นๆ และ ส่วนทำคลอด เป็นสถานที่ซึ่งเกิดการคลอดขึ้นจริงๆ
เหตุผลที่ต้องมีทั้งส่วนรอคลอดและส่วนทำคลอด เนื่องจากสรีรวิทยาหลายๆ อย่างของมนุษย์ เป็นต้นว่าเด็กเกิดใหม่มีศีรษะที่โตมากเมื่อเทียบอัตราส่วนกับลำตัว และเชิงกรานของคนที่แคบกว่าสัตว์อื่นๆ (ไม่เชื่อลองสังเกตจากสายพันธุ์ใกล้ๆ เราคือลิงชิมแปนซีสีคะ จะเห็นได้ชัดว่าสะโพกของมันผายกว่าเรามาก เวลาเดินสองขาลิงจึงเดินโงนเงนไปมาในขณะที่มนุษย์นั้น เดินตัวตรงอย่างผึ่งผาย) การคลอดของมนุษย์จึงเป็นไปอย่างยากลำบากกว่าสัตว์อื่นมาก ทำให้ในการคลอดบุตรของมนุษย์คนหนึ่งอาจจะกินเวลากว่า 10 ชั่วโมงในครรภ์แรก และราวๆ 8 ชั่วโมงในครรภ์ต่อมา ด้วยเหตุนี้ห้องคลอดจึงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกซึ่งเป็น “ห้องรอคลอด” เป็นที่ที่บรรดาว่าที่คุณแม่ซึ่งมีอาการเจ็บครรภ์จริง และพร้อมที่จะคลอดบุตรเข้ามานอนพักเพื่อรอให้ปากมดลูกเปิดเสียก่อน ถึงจะสามารถคลอดได้ ในช่วงแรก ซึ่งเรียกกันว่าระยะเฉื่อย (Latent Phase) ปากมดลูกจะค่อยๆ เปิดอย่างช้าๆ เมื่อหัวเด็กค่อยๆ เคลื่อนลงต่ำ ช่วงนี้จะใช้เวลานานที่สุด แต่มารดายังสามารถจิบน้ำ เดินไปเดินมาได้ เพียงแต่ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ระหว่างนี้เหล่าว่าที่คุณแม่จะมีอาการเจ็บท้องหรือท้องปั้นเป็นระยะห่างๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่ามดลูกกำลังบีบตัวเพื่อดันทารกลงมา และเด็กคนหนึ่งกำลังจะคลอดในไม่ช้า
ในช่วงแรกแพทย์และพยาบาลจะทำได้เพียงแค่คอยดูแลอยู่ห่างๆ ตรวจร่างกายเป็นระยะทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยประมาณ และรอให้ปากมดลูกเปิดหมดเสียก่อน คุณแม่ก็ไม่ควรจะรีบร้อนเบ่งในช่วงนี้ เพราะนอกจากจะเปลืองแรงโดยเปล่าประโยชน์แล้ว (คือไม่ได้ทำให้คลอดได้เร็วขึ้น ไม่ได้ทำให้เด็กเคลื่อนลงมาไวขึ้น) ยังทำให้ปากมดลูกบวม ทำให้การคลอดช้าลงอีกด้วย
หลังจากผ่านพ้นระยะแรกไปจนกระทั่งปากมดลูกเปิดได้ราวๆ 3-4 เซนติเมตรแล้ว ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายจะถูกย้ายมานอนในอีกห้องหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ห้องทำคลอด” นั่นเอง
เมื่อย้ายเข้ามาในส่วนที่ 2 หรือส่วนทำคลอด คุณแม่จะถูกให้งดน้ำงดอาหาร ซึ่งเรื่องนี้ก็มีเหตุผลเบื้องหลังอยู่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การคลอดนั้นเต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่คาดคิด การที่ให้งดน้ำงดอาหารก็เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ เนื่องจากถ้ามีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นจริง และจำเป็นต้องทำการผ่าตัดด่วน หากมารดามีอาหารหรือน้ำค้างคาอยู่ในกระเพาะอาหารจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการสำลักลงปอด ในช่วงที่ต้องทำการผ่าตัด เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปอดอักเสบ นอนโรงพยาบาลนานขึ้น หรือแม้กระทั่งอาจจะขาดอากาศจนเสียชีวิตก็มี
อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากห้องรอคลอด คือ คุณแม่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินไปมา ให้นอนอยู่บนเตียงเท่านั้น ช่วงนี้คุณแม่ส่วนมากจะรู้สึกเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น อาการปวดจะมากขึ้น เนื่องจากศีรษะของทารกลงต่ำมากขึ้น เพื่อพยายามดันให้ปากมดลูกเปิดหมด คือ 10 เซนติเมตร ในช่วงนี้แพทย์อาจจะให้ยาเร่งคลอดร่วมไปกับยาแก้ปวดทางสายน้ำเกลือ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการปวดมักจะไม่ได้หายเป็นปลิดทิ้ง (ยกเว้นกรณีให้ยาแก้ปวดเข้าทางไขสันหลัง ซึ่งต้องให้วิสัญญีแพทย์เป็นผู้วางยา) เนื่องจากให้ยาแก้ปวดในปริมาณที่สูงจนกระทั่งแม่หายปวด ทารกที่คลอดออกมาจะได้รับผลข้างเคียงจากยา ทำให้ไม่สามารถหายใจเองได้ และเมื่อปากมดลูกเปิดหมด 10 เซนติเมตร กระบวนการคลอดจริงๆ จึงจะเริ่มต้นขึ้น
ในช่วงกระบวนการคลอดนี้ แพทย์และพยาบาลจึงจะเข้ามามีบทบาทในการช่วงทำคลอด แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงที่รอให้ปากมดลูกเปิดหมด เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการของธรรมชาติอย่างแท้จริง การแพทย์มีส่วนเข้าไปแทรกแซงน้อยมาก บทบาทหลักของแพทย์และพยาบาลในกระบวนการคลอดส่วนมากนั้น เป็นการป้องกันและรับมือเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น แพทย์จึงจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ เพื่อดูแลให้คุณแม่และทารกคลอดได้อย่างปลอดภัย
จะขอกล่าวนอกเรื่องนิดแต่ยังอยู่ในประเด็นของการคลอดบุตร นั่นคือ คำถามที่หลายๆ ท่านอาจจะมีอยู่ในใจตอนนี้ว่า การผ่าคลอดจะอันตรายน้อยกว่าหรือเปล่านะ
คำตอบน่าจะเป็นอย่างนี้ค่ะ การผ่าคลอดเจ็บเวลาคลอดน้อยกว่า (เพราะเราให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง) แต่เจ็บหลังคลอดมากกว่า เสียเลือดมากกว่า (คลอดธรรมชาติจะเสียเลือดโดยเฉลี่ย 2 ลิตร แต่การผ่าท้องคลอดจะเสียเลือดประมาณ 4 ลิตร) นอนโรงพยาบาลนานกว่า ภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัดสูงกว่า แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสูงกว่า และจะเป็นประโยชน์ต่อมารดาและทารกเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมเท่านั้น (เช่น กรณีที่มารดาหรือทารกอาจจะเป็นอันตรายหากการคลอดไม่สิ้นสุดโดยเร็ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตรวจร่างกายและการวัดชีพจรของทารกในครรภ์เป็นสำคัญ และภาวะอันตรายส่วนใหญ่ มักจะไม่สัมพันธ์กับความเจ็บปวดของมารดา) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแนะนำให้ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายลองปรึกษากับสูติแพทย์ดูถึงทางเลือกในการคลคอดเป็นรายๆ ไป
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับว่าที่คุณแม่ทุกคนผ่านพ้นการคลอดบุตรอย่างปลอดภัย และได้กลับบ้านพร้อมกับเจ้าตัวเล็กอย่างมีความสุขนะคะ
สัญญาณว่าเจ้าตัวเล็กพร้อมจะคลอดแล้ว
1.มีอาการเจ็บครรภ์ถี่และสม่ำเสมอ คุณแม่ที่มีอาการเจ็บครรภ์อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เนื่องจากในระยะท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ อาจจะมีอาการที่เรียกว่า “เจ็บครรภ์เตือน” เป็นอาการที่มดลูกบีบรัดตัวเหมือนเป็นการซ้อม เพื่อค่อยๆ ดันทารกลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกราน (แต่ยังไม่คลอด) อาการของการเจ็บครรภ์จริงคืออาการเจ็บครรภ์จะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยมากจะเจ็บค้างอยู่นานราวๆ ครึ่งถึงหนึ่งนาที
2.มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
3.น้ำเดิน ลักษณะเป็นน้ำใสๆ ไหลออกทางช่องคลอด
พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร
แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)