© 2017 Copyright - Haijai.com
อาหารทำลายไต
เมื่อเกิดโรคไตเรื้อรัง เนื้อไตจะค่อยๆ ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนหน่วยไตที่ทำหน้าที่เหมือนตัวกรองจะลดจำนวนลง ของเสียจำนวนมากที่เกิดจากการกินหรือการเผาผลาญในร่างกายจะผ่านไปยังเนื้อไตส่วนที่เหลือ ทำให้ตัวกรองเหล่านั้นทำงานหนักเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า ตัวกรองส่วนที่เหลือเหล่านั้น ก็จะตายไปอย่างรวดเร็วในที่สุด จึงเกิดไตวายระยะสุดท้ายที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องฟอกเลือด เพราะไม่มีทางที่ของเสียในร่างกายจะถูกกำจัดออก เราสามารถช่วยให้ไตทำงานลดลงได้ด้วยการควบคุมอาหารได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะสามารถชะลอการเสื่อมหน้าที่ของไตได้
หลักในการควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่จำเป็นต้องฟอกเลือด คือ ต้องลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม และควบคุมปริมาณการได้รับเนื้อสัตว์ เนื่องจากในเนื้อสัตว์มีโปรตีนสูง ซึ่งการได้รับในปริมาณมากจะทำให้ปริมาณของเสียในร่างกายเพิ่มมากขึ้น ไตทำงานหนักขึ้น ดังนั้น เมนูโดยรวมทั้งวันจะมีเนื้อสัตว์ไม่มาก ตัวอย่างอาหารแต่ละมื้อใน 1 วัน ได้แก่
• มื้อเช้า ข้าวสวยกับแกงส้ม หรือ โจ๊กไม่ใส่ไข่ 1 ถ้วย
• มื้อกลางวัน เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องลดปริมาณโปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีทั้งในสัตว์และพืช เช่น ข้าว ผู้ป่วยอาจต้องเลือกรับประทานแป้งที่ไม่มีโปรตีน เรียกว่า “แป้งปลอดโปรตีน” พบได้ในวุ้นเส้น เส้นก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้
เพราะฉะนั้นมื้อกลางวันอาจเลือกเป็นก๋วยเตี๋ยววุ้นเส้นหรือสุกี้สัก 1 ชาม แนะนำให้รับประทานเป็นสุกี้แห้ง เวลาสั่งให้บอกแม่ค้าว่า อย่าพึ่งใส่น้ำจิ้ม ขอเอามาใส่น้ำจิ้มเอง ซึ่งโควตาน้ำจิ้มที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานได้ โดยที่โซเดียมไม่เกินจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 ช้อนโต๊ะ เพราะฉะนั้นถ้าเราแยกน้ำจิ้มมาใส่ต่างหาก เชื่อว่าปริมาณ 1.5 ช้อนโต๊ะ น่าจะเพียงพอ ที่จะทำให้เราได้รสชาติอาหารนั้นๆ
• มื้อเย็น สำหรับผู้หญิงอาจจะชอบข้าว น้ำพริก ปลาทู ก็สามารถรับประทานได้ แต่ปริมาณน้ำพริกที่รับประทานได้ต่อมื้อจะอยู่ที่ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ส่วนปลาทูต้องเป็นปลาทูสด อาจเป็นปลาชนิดอื่นก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ปลาที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว รับประทานคู่กับผักลวกหรือแกงประเภทผักก็ได้ ไม่แนะนำให้รับประทานแกงที่มีเนื้อสัตว์อีก เพราะต้องจำกัดปริมาณโปรตีน และที่ควรรับประทานผักลวกหรือผักที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนแทนผักสด เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องควบคุมปริมาณโพแทสเซียม เมื่อเปรียบเทียบผักชนิดเดียวกันในปริมาณเท่ากันระหว่างผักลวกกับผักสด พบว่าการลวกหรือผ่านความร้อนจะทำให้ปริมาณโพแทสเซียมในผักลดลง
สำหรับผู้ป่วยโรคไต น้ำเปล่า คือ เครื่องดื่มที่ดีที่สุด
หากต้องการดื่มน้ำสมุนไพร ต้องมั่นใจว่าสมุนไพรชนิดนั้นๆ ไม่ส่งผลกระทบต่อไต สำหรับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ นอกจากน้ำเปล่าที่ผู้ป่วยโรคไตพอดื่มได้ เช่น น้ำใบเตย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำตะไคร้ น้ำดอกอัญชัน น้ำเก๊กฮวย แต่ให้ลดความหวานลง หรือเปลี่ยนไปใช้น้ำตาลเทียม
ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ |
||
ชนิด |
ปริมาณ |
โซเดียม (มก.) |
เกลือ |
1 ช้อนชา |
2,000 |
ผงปรุงรส |
1 ช้อนชา |
950 |
ผงชูรส |
1 ช้อนชา |
600 |
น้ำปลา |
1 ช้อนชา |
400 |
ซีอิ้วขาว |
1 ช้อนชา |
400 |
ซอสปรุงรส |
1 ช้อนชา |
400 |
น้ำปลาร้า |
1 ช้อนชา |
593 |
ซอสหอยนางรม |
1 ช้อนชา |
450 |
น้ำจิ้มสุกี้ |
1 ช้อนชา |
280 |
ซอสพริก |
1 ช้อนชา |
220 |
น้ำจิ้มไก่ |
1 ช้อนชา |
210 |
ซอสมะเขือเทศ |
1 ช้อนชา |
140 |
โภชนาการดูแลไตในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคไตเรื้อรัง
สำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคไต อาจจะต้องกลับไปดูที่สาเหตุของการเกิดโรคไตเรื้อรัง สำหรับคนไทย สาเหตุอันดับหนึ่งมาจากโรคเบาหวาน รองลงมาคือความดันโลหิตสูง ผู้เขียนขอแยกเป็น 2 กรณี คือ
• กรณีที่เป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ในแง่ของอาหาร ต้องรับประทานอาหารลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม เพื่อที่จะคุมไม่ให้น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และความดันโลหิตสูง จนกระทั่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไตในอนาคต
• กรณีที่ไม่เป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทั้งสอง คำว่า “เหมาะสม” ให้ใช้เกณฑ์ง่ายๆ สำหรับผู้หญิงให้ใช้ ส่วนสูง – 110 ผู้ชายใช้ ส่วนสูง -100 จะได้ค่าน้ำหนักตัวที่เหมาะสมของเราออกมา ถ้าน้ำหนักเกินจากค่าที่ได้ จำเป็นต้องเริ่มลดน้ำหนักแล้ว โดยอาจลดด้วยการออกกำลังกายเพิ่ม หรือควบคุมอาหาร หรือทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมอาหารไม่หนักหนาสาหัสจนเกินไป เช่น ลดของว่างระหว่างวัน ลดน้ำอัดลมหรือชากาแฟ ร่วมกับออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง ก็จะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ประมาณเดือนละ 0.5-1 กิโลกรัม ที่สำคัญต้องมีความตั้งใจ
ความเข้าใจผิดที่พบบ่อย
• ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่จะทราบดีอยู่แล้วว่า ต้องลดการรับประทานเนื้อสัตว์ แต่ผู้ป่วยจะมีความเชื่อที่ผิดอยู่อย่างหนึ่งว่า จะเปลี่ยนมารับประทานปลาแทนการรับประทานเนื้อหมูเนื้อไก่ ซึ่งปริมาณที่รับประทานเข้าไปนั้นเป็นลักษณะ “กินไม่จำกัด” แต่ในความเป็นจริง ปลาก็คือเนื้อสัตว์ชนิดหนึ่ง การรับประทานในปริมาณที่มากเกิน จะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เสื่อมเร็วขึ้น
• ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเมื่อทราบว่า ตนเองเป็นโรคไต จะเสาะหาสูตรอาหารต่างๆ ที่เชื่อว่าช่วยบำรุงไต เช่น สูตรเซี่ยงจี๊ผสมเม็ดลิ้นจี่ 8 เม็ด ต้มน้ำ 2 ถ้วย ให้เหลือ 1 ถ้วยแล้วดื่ม เป็นต้น ในช่วงแรกของการรับประทานสูตรอาหารต่างๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกดีเนื่องจากปัสสาวะออกดีขึ้น ใสขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไปมาก หรือสมุนไพรบางตัวที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ แต่เมื่อผู้ป่วยรับประทานไปได้สักระยะหนึ่ง ปรากฏว่าค่าการทำงานของไตทรุดลง รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ยูริกในเลือดสูงจากการรับประทานเครื่องใน หรือปริมาณโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นจากการรับประทานสมุนไพรบางชนิด เป็นต้น และกว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ก็เสียโอกาสในการรักษาไตไปมากแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
• ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่าซีอิ๊วและน้ำปลามีความเค็มต่างกัน คือ น้ำปลาจะเค็มกว่าซีอิ๊ว เพราะฉะนั้นเมื่อแนะนำให้ลดเค็ม ก็จะเปลี่ยนจากน้ำปลามาเป็นซีอิ๊ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากไม่ว่าจะน้ำปลาหรือซีอิ๊ว ต่างก็มีปริมาณโซเดียวมใกล้เคียงกัน ดังนั้น ถ้าต้องลดเค็มจริงๆ ควรจะลดที่รสชาติด้วย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชนิดเครื่องปรุง ซึ่งทำได้โดยการลดปริมาณเครื่องปรุงที่ใช้ลงครึ่งหนึ่ง เช่น เคยใส่น้ำปลา 1 ช้อน ก็ลดลงเหลือครึ่งช้อน จึงจะได้รับปริมาณโซเดียมลดลงจริงๆ
การที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถควบคุมอาหารได้ 100% เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ายังทำไม่ได้ อย่างน้อยการเริ่มที่จะลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการชะลอการเสื่อมของไต และชะลอการเข้าสู่กระบวนการฟอกไต อย่างไรก็ตามยังคงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าการเข้มงวดเรื่องอาหาร ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข และเลือกที่จะรับประทานตามใจตนเอง แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยพึงตระหนัก คือ การปล่อยชีวิตตามใจตนเองเช่นนั้น จะนำมาสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อาจจะรุนแรงและทรมานมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งอาจไปกระทบรบกวนลูกหลานหรือผู้ดูแล
ดังนั้นหากผู้ป่วยยังมีความอยากในการรับประทาน การมาพบนักกำหนดอาหารจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะนักกำหนดอาหารจะช่วยหาจุดสมดุล เพื่อตอบสนองความอยากของผู้ป่วยและในขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดที่ทางการแพทย์ยอมรับได้ด้วย ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประทานสิ่งที่อยากได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเลือกที่จะตามใจปาก ผู้ป่วยก็ต้องยอมรับว่าผลการรักษาที่ออกมาก็จะไม่ดีตามที่หวังไว้
ในการมาพบนักกำหนดอาหาร นอกจากผลตรวจและผลเลือดจากแพทย์แล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องเตรียม คือ การเตรียมใจให้พร้อมที่จะเริ่มต้นปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำ และควรพาญาติหรือผู้ดูแลมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ครัวหรือคนจ่ายกับข้าวประจำบ้าน จากการศึกษาเก็บข้อมูล เราพบว่าถ้าทั้งครอบครัวช่วยกันคอยเตรียม คอยเตือน และมีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับโรคไต ความสำเร็จในการควบคุมอาหารของผู้ป่วยจะมีสูงกว่าผู้ป่วยที่มาเพียงลำพัง
อาหารเป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้น เราต้องไม่ลืมว่า “กินอย่างไร ได้อย่างนั้น” เพราะเราเป็นคนตัดสินใจเอง ว่าสุขภาพของเราจะไปในทิศทางใด ทุกคนทั้งที่เป็นโรคไตและยังไม่เป็น เราทั้งหมดสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปอย่างไร ถ้าพร้อมที่จะควบคุมอาหาร หรือรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เหมาะสมตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะมีสุขภาพในอนาคตที่ดีมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตรงกันข้าม หากเรายังตามใจปาก อาหารที่เราคิดว่าอร่อยในวันนี้ อนาคตเราอาจจะไม่ได้กินมันอีกเลยก็ได้ มาเริ่มต้นดูแลตัวเองกันตั้งแต่วันนี้นะคะ
เอกหทัย แซ่เตีย
นักกำหนดอาหาร
(Some images used under license from Shutterstock.com.)