Haijai.com


ร่างกายของทารกแรกเกิด


 
เปิดอ่าน 4538

ร่างกายของทารกแรกเกิด

 

 

พอครบ 40 สัปดาห์ก็ได้พบกันสักทีนะ!!! คุณแม่กับคุณพ่อรอพบหนูตั้ง 9 เดือนแหนะ ร่างกายของหนูเล็กนิดเดียวเอง ถ้าเทียบกับร่างกายของแม่ สงสัยคุณพ่อกับคุณแม่ต้องทำความรู้จักกับร่างกายเล็กๆ ของลูกสักหน่อยแล้ว

 

 

ทำความรู้จักกับ ร่างกายของ เจ้าหนูแรกเกิด

 

ศีรษะ

 

ถ้าเทียบกับร่างกายที่เล็กน่าอุ้มน่ากอดของทารกแล้วล่ะก็ ศีรษะจะมีขนาดโตกว่าร่างกายส่วนอื่น หากลองวัดเส้นรอบศีรษะของทารกแรกเกิด จะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 35 เซนติเมตร หรือเทียบแบบง่ายๆ ก็คือ มีขนาด 1 ใน 4 ของร่างกายเลยละค่ะ จนอายุครบ 18 ปี ศีรษะก็จะมีขนาดเท่ากับ 1 ใน 8 ของร่างกายเหมือนกับขนาดศีรษะของผู้ใหญ่

 

 

น้ำหนัก และความสูง

 

ทารกแรกเกิด จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 2,500-4,500 กรัม โดยน้ำหนักของทารกก็จะขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนในขณะที่ทารกหม่ำๆ อยู่ในท้องคุณแม่ และเรื่องของยีนส์ต่างๆ ก็มีส่วนด้วยนะคะ ส่วนในเรื่องความสูงก็เช่นกันค่ะ ขึ้นอยู่กับตัวแปรเช่นเดียวกับน้ำหนัก แต่ถ้าจะเทียบตามค่าเฉลี่ยทั่วไปก็ประมาณ 48-51 เซนติเมตร

 

 

ดวงตา

 

ถ้าสังเกตจากภายนอก เวลาที่ลูกนอนหลับปุ๋ยบริเวณหนังตาอาจจะดูบวมๆ เล็กน้อย คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ เพราะนั่นเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในขณะคลอด และจะค่อยๆหายไป โดยใช้เวลา 2-3 วัน สำหรับสีของดวงตาคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นว่า ในช่วงแรกๆ สีดวงตาของทารกจะมีสีออกน้ำเงินๆ จะยังไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ตามแบบของคุณพ่อและคุณแม่ต้องใช้เวลาอีกหลายอาทิตย์ เม็ดสีที่ดวงตาจะค่อยๆ ปรากฏ และทำให้ดวงตาค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มตามแบบสีตาสวยๆของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

 

 

ริมฝีปาก

 

ทารก มักจะดูดปากจุ๊บๆ จั๊บๆ การที่ลูกชอบดูดปากจะทำให้บริเวณริมฝีปากพองเป็นเม็ดเล็กๆ ค่ะ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะอาการที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อลูก และจะค่อยๆ หายไปเองในที่สุดค่ะ

 

 

ผิวหนัง

 

บริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า ของทารกแรกเกิดอาจแห้งและลอกอย่างเห็นได้ชัด ส่วนบริเวณอื่นๆ ของผิวหนังอาจแห้ง และลอกบ้างเล็กน้อย อาการแห้ง และลอกของผิวหนังนั้น เป็นอาการปกติของทารกแรกเกิด ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วันอาการดังกล่าวก็จะหายไปค่ะ

 

 

จุดขาวๆ บริเวณดั้งจมูก

 

จุดขาวๆ เล็กๆ ที่ปรากฏบริเวณดั้งจมูกของลูกเรียกว่า“มีเลีย” จุดเหล่านี้เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ และต่อมไขมันคุณแม่ไม่ควรบีบหรือแกะจุดขาวๆ พวกนี้นะคะ เพราะตามธรรมชาติแล้วจุดขาวๆ จะหายไปเองหลังจากที่คลอดออกมาไม่กี่วันค่ะ

 

 

สะดือ

 

สะดือของทารก จะค่อยๆ แห้ง และหลุดออกโดยใช้ระยะเวลาไม่นาน สำหรับทารกบางคนสาเหตุที่สะดือดูโป่งๆ นั้นอาจเกิดจากภาวะไส้เลื่อนมาอยู่บริเวณสะดือ ภาวะข้างต้นจะหายไปภายในระยะเวลา 1 ปี หากอาการไม่หาย หรือสะดื้อโป่งมากผิดปกติควรรีบพาไปพบแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)