
© 2017 Copyright - Haijai.com
9 อาการใน 9 เดือนของการตั้งครรภ์
ตลอดช่วงเวลาทั้ง 9 เดือนของการตั้งครรภ์ ในว่าที่คุณแม่หลายท่านคงต้องฝ่าฟันอุปสรรค์ พร้อมบททดสอบที่ยากลำบากมากมาย จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก่อกำเนิดเกิดขึ้นของชีวิตน้อยๆ ในครรภ์ อาการเหล่านี้แม้จะเป็นสัญญาณหนึ่งที่สื่อถึงก้าวแรกเริ่มของการทำหน้าที่ “แม่” ซึ่งจะต้องมีทั้งความอดทน และการเสียสละ แต่ถ้าว่าที่คุณแม่ได้ล่วงรู้ถึงสาเหตุ และวิธีการดูแลตัวเอง ว่าที่คุณแม่ก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ พร้อมทั้งการได้ทำหน้าการเป็นแม่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดคนหนึ่งเลยล่ะคะ
อาการ 9 อย่างที่มักเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์
1.ปัสสาวะบ่อย เป็นอาการปกติสำหรับแม่ท้องคะ ในเดือนแรกๆ เพราะระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นจึงทำให้ปัสสาวะบ่อย แต่พอเมื่อการตั้งครรภ์ผ่านพ้นช่วง 3 เดือนแรกไปแล้ว อาการปัสสาวะบ่อยนี้ก็จะหายไปคะ และจะเป็นอีกครั้งหนึ่งในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นนั้นก็จะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้คุณต้องเดินเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
• การแก้ไข หากคุณแม่รู้สึกรำคาญที่จะต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ในตอนกลางคืน อาจลดการดื่มน้ำให้น้อยลงในตอนเย็นและช่วงหัวค่ำ ก็จะช่วยได้คะ ที่สำคัญคือ หากมีอาการแสบขัดร่วมด้วยขณะปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
2.จุกเสียด เกิดขึ้นเพราะกระเพาะอาหารพองตัว และเกิดการสำรอกของกรด และน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
• การแก้ไข ให้คุณแม่ดื่มน้ำมากๆ หรือปรึกษาคุณหมอ ให้ช่วยสั่งยาลดกรดที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ควรไปซื้อยามาทานเองนะคะ เพราะยาลดกรดบางประเภทจะมีส่วนผสมของโซเดียมคาร์บอเนต ซึ่งจะเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้คะ
3.เป็นตะคริวที่ขา เกิดจากระดับของแคลเซียมในเลือดลดต่ำลง และอาจจะเกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่ช้าลง
• การแก้ไข การนอนยกขาให้สูงขึ้น และดื่มนมให้มากจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการตะคริวที่ขาได้ การนวด และการใช้ความร้อนประคบจะทำให้อาการเป็นตะคริวหายเร็วขึ้นคะ
4.ริดสีดวงทวาร เกิดจากการติดขัดของระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกายส่วนล่างในระยะตั้งครรภ์ ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ทวาร มักจะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาการที่เกิดขึ้นจะมีตุ่มพองสีคล้ำเป็นกลุ่มอยู่รอบรูทวารหนัก หรือในส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายทำให้มีอาการเจ็บ หรือมีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ
• การแก้ไข ถ้าหากในกรณีที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ ก็ให้ควบคุมการขับถ่ายให้เป็นไปตามปกติทุกวัน รับประทานผักผลไม้ และดื่มน้ำให้มากก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการริดสีดวงทวารได้ แต่หากเป็นแล้ว เกิดเจ็บเวลาขับถ่าย ให้นำเอาอ่างใส่น้ำอุ่นจัดๆ มานั่งแช่ ใช้มือช่วยดันเอาหัวริดสีดวงทวารเข้าไปทุกครั้งหลังถ่าย ก็จะทำให้ไม่เป็นมากขึ้น
5.ท้องผูก เกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ในคุณแม่ตั้งครรภ์จะช้าลง ทำให้การขับถ่ายเป็นไปได้ยากขึ้น
• การแก้ไข รับประทานผักผลไม้ และดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าปกติ
6.ปวดหลัง เกิดจากการที่คุณแม่จะต้องอยู่ในท่าแอ่นท้องเพื่อรับน้ำหนักของครรภ์ จนทำให้กล้ามเนื้อหลังถูกยึดตึง และบวกกับการที่เอ็นและข้อของช่องเชิงกรานหย่อน จึงทำให้เกิดอาการปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณหลังช่วงล่าง
• การแก้ไข ให้นอนพักมากๆ บนที่นอนที่ค่อนข้างแข็ง และใช้น้ำร้อนประคบหลังก็จะช่วยได้ ถ้าเป็นมากอาจต้องใช้ผ้าพยุงหน้าท้องช่วยอีกแรงก็ได้เช่นกัน
7.เวียนศีรษะ ในขณะตั้งครรภ์นั้น ปริมาณเลือดจำนวนมากจะถูกกักเก็บไว้ในช่องท้องเพื่อใช้เลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้เลือดแดงไหลขึ้นไปเลี้ยงสมองของคุณแม่ไม่ทันในบางครั้ง ทำให้สมองขาดออกซิเจนจึงเป็นผลให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้คะ
• การแก้ไข ให้นั่งชันเข่า แล้วก้มศีรษะให้เข้าหาเข่า หรือจะนอนลงก็ได้เช่นกัน
8.แน่นหน้าอก ในระยะอายุครรภ์แก่ มดลูกจะอยู่สูงและเบียดกระบังลม ทำให้การเคลื่อนขึ้น และลงของกระบังลมไม่สะดวกเท่าที่ควร จึงทำให้คุณแม่มีอาการแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยมาก
• การแก้ไข คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงที่จะยกของหนักๆ และไม่ขึ้นหรือลงบันไดสูงๆ หรือหลายๆ ขั้น หากเกิดอาการในตอนกลางคืน ให้ใช้หมอนสัก 2-3 ใบ หนุนไหล่ให้สูงขึ้น
9.ขาบวม ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เนื้อเยื่อของร่างกายจะอุ้มน้ำเอาไว้มาก ประกอบกับการไหลเวียนของเลือดที่ขาไหลเวียนไม่ค่อยสะดวก จึงทำให้เกิดอาการบวมบริเวณข้อเท้าขึ้นได้
• การแก้ไข ให้ลดอาหารรสเค็มลง ก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากเป็นมากๆ ควรไปพบแพทย์ เพราะแพทย์อาจจะสั่งยาขับปัสสาวะให้กับคุณแม่ได้ในบางกรณีเท่านั้น (และไม่ควรซื้อยามาทานเอง เพราะอาจได้รับอันตราย) และหากบวมมาก โดยบวมลามมาที่ขา หน้า และมือ อาจเป็นอาการเริ่มต้นของอาการครรภ์เป็นพิษคุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาทันทีคะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)