© 2017 Copyright - Haijai.com
การตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำได้ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง (50 กรัม GCT : Glucose challenge test) โดยถ้ามีความผิดปกติ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้วย 100 กรัม OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมตรวจในอเมริกาและไทย หรือใช้การตรวจ 75 กรัม Glucose Tolerance Test ตามองค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งใช้มากในประเทศแถบยุโรป
50 กรัม GCT (Glucose Challenge Test) เป็นการตรวจคัดกรองที่ทำการตรวจได้ โดยไม่ต้องงดอาหาร รับประทานน้ำตาล 50 กรัม หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง จะได้รับการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล ค่าที่ได้ ถ้ามากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม โดย 100 กรัม OGTT ต่อ แต่ถ้าค่าที่ได้มากกว่า 185 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร ให้การวินิจฉัยภาวะ GDM ได้เลย โดยไม่ต้องตรวจเพิ่มเติม
100 กรัม OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) เป็นการตรวจวินิจฉัยหลังจากที่การตรวจคัดกรองผิดปกติ หรือบางราย ที่ไม่ต้องการผ่านการตรวจคัดกรอง สามารถข้ามมารับการตรวจวินิจฉัยครั้งเดียวเลยก็ได้ ขั้นตอนประกอบด้วย การเจาะเลือดหลังจากที่อดอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (FBS : Fasting Blood Sugar) หลังจากนั้น จะรับประทานน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม โดยมากจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วย เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังจากนั้นทำการเจาะเลือดที่ชั่วโมงที่ 1, 2, 3 หลังรับประทานน้ำตาล ระหว่างการเจาะเลือดให้งดสูบบุหรี่ด้วย ถ้าผลปกติให้ทำการตรวจซ้ำในช่วงอายุครรภ์ 24 - 28 สัปดาห์ ถ้าผิดปกติให้การักษาตามการวินิจฉัย ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ GDM A1 และ GDM A2 โดยใน GDM A1 มีความผิดปกติของค่า OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) 2 ใน 3 ค่าหลัง โดยที่ค่าแรก FBS (Fasting Blood Sugar) ปกติการรักษาโดยใช้การควบคุมอาหารก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่ GDM A2 มีความผิดปกติของ FBS ร่วมด้วย การรักษานอกจากใช้การควบคุมอาหารแล้ว ยังต้องมีการใช้อินซูลิน (Insulin) ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย โดยปกติจะคุมระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร (FBS) ในระดับต่ำกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และรดับน้ำตาล 1 ชั่วโมง หลังอาหารอยู่ที่ไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือระดับน้ำตาล 2 ชั่วโมง หลังอาหารอยู่ที่ไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
การควบคุมระดับน้ำตาลให้สม่ำเสมอ ใกล้เคียงกันตลอดวัน ทำให้ระบบการหลั่งสารอินซูลินในลูก ไม่ได้รับการกระตุ้นมาก ในทางกลับกัน ถ้าควบคุมไม่ดี ระดับน้ำตาลที่สูงในแม่ จะส่งไปเลี้ยงทารกในครรภ์อยู่ตลอด ผลที่ตามมาก็คือ เด็กได้สารอาหารเยอะมาก ทำให้ได้ทารกที่ตัวโต มากกว่าปกติ เกิดปัญหาในการคลอดยากตามมา เช่น เพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอดสูงขึ้น การตกเลือดหลังคลอด หรือการคลอดติดไหล่ได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและตัวทารกเอง หลังจากที่เด็กคลอดมีการผูกตัดสายสะดือ ไม่มีน้ำตาลจากแม่ส่งมาเลี้ยงลูก แต่ระดับอินซูลินในตัวทารกยังสูงอยู่ ออกฤทธิ์ทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายทารกต่ำลง (Hypoglycemia) ทำให้เกิดผลต่อทารกในเรื่องการหายใจไม่ดี ไม่ร้อง ไม่ยอมดูดนม ติดเชื้อง่ายตามมาด้วย เรื่องสมดุลกรดด่างในร่างกายเปลี่ยนไป เลือดข้นขึ้น ตัวเหลือง ตลอดจนถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ รวมถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย ดังนั้น การที่สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยในเวลาที่เหมาะสมและถูกต้อง พร้อมกับได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมและถูกต้องระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก็สามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงลงได้
การดูแลเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ โดยพยายามควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงภาวะปกติ และสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน โดยการควบคุมอาหาร และคำนวณปริมาณอาหารที่มีแคลอรีพอเหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละวัน โดยมีการกระจายมื้ออาหารเป็น 6 มื้อแทน 3 มื้อในคนปกติ (มื้อหลัก 3 มื้อ และมื้อรอง 3 มื้อ) และแบ่งสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยพยายามลดอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาล และเพิ่มอาหารพวกโปรตีนและผัก และหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น มะม่วงสุก ทุเรียน โดยใช้นักโภชนากร เป็นผู้จัดอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำไปปฏิบัติต่อเนื่องได้ที่บ้าน
การใช้ยาอินซูลิน (Insulin) ฉีดควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อการควบคุมอาหารอย่างดีแล้ว ไม่สามารถลดระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย การฉีดและปรับยาในช่วงแรกควรนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะอาจมีปัญหาน้ำตาลต่ำเกินไปได้หลังจากที่ได้รับยาอินซูลิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์ ปกติมักใช้ยาที่น้อยที่สุด ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ โดยให้ยาวันละ 1-2 ครั้ง และติดตามผลเลือดในแต่ละมื้ออาหาร โดยควบคุมให้น้ำตาลขณะอดอาหาร (FBS) อยู่ในระดับน้อยกว่า 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับน้ำตาล 2 ชั่วโมง หลังอาหาร (2 hour Post-pandial) อยู่ที่ระดับไม่เิกิน 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การดูแลมารดาและทารกในครรภ์ แพทย์อาจต้องนัดดูแลฝากครรภ์ถี่ขึ้น ในช่วงปรับระดับน้ำตาลในเลือด และการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ การคลอดแนะนำให้คลอด เมื่อครบกำหนด ถ้ามีการชักนำหรือการผ่าตัดคลอด แนะนำที่อายุครรภ์ประมาณ 38.5 สัปดาห์ ในระหว่างการรอคลอด ก็จะมีการตรวจและปรับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ หลังคลอดส่วนใหญ่น้ำตาลจะกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว ถ้ายังพบว่าน้ำตาลสูงอยู่หลังคลอด ต้องนึกถึงภาวะเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ หรือ Overt DM (ถ้าสงสัยควรตรวจน้ำตาลเพิ่มเติมหลังคลอด) นอกจากนี้ในกลุ่มที่ระดับน้ำตาลลดเป็นปกติหลังคลอด พบว่ามีถึงร้อยละ 50 ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดถาวร (Overt DM) ได้ภายในระยะ 5-10 ปี หลังคลอด จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีการตรวจติดตามระดับน้ำตาลทุกปี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานที่เหมาะสม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)