
© 2017 Copyright - Haijai.com
เรื่องต้องระวังกับอาการครรภ์เป็นพิษ
“มีคุณแม่ท้องสอบถามมาว่า มีอาการเท้าบวม มือบวม และไปอ่านเจอในหนังสือบอกว่า ถ้ามีอาการบวมมากๆ อาจเข้าข่ายอาการครรภ์เป็นพิษ จึงอยากทราบข้อมูลของอาการครรภ์เป็นพิษว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนในแม่ท้อง อันตรายต่อมารดา และทารกในครรภ์ รวมทั้งข้อสังเกต การตรวจวินิจฉัย ป้องกัน และรักษา”
โรคครรภ์เป็นพิษ คืออะไร ?
ครรภ์เป็นพิษ หรือ โรคพิษแห่งครรภ์ (Toxemia or Preeclampsia) ปัจจุบันนิยมเรียกว่าโรคความดันโลหิตสูง ที่ชักนำให้เกิดโดยการตั้งครรภ์ หรือ Pregnancy Induced Hypertension (PIH) เป็นโรคที่เกิดกับหญิงตั้งครรภ์ ที่มีความดันโลหิตสูงร่วมกับการมีโปรตีน หรือไข่ขาว (Albumin) รั่วออกมาในปัสสาวะ บางรายอาจมีอาการบวมร่วมด้วย เกิดในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เป็นต้นไป จนถึงระยะ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด แต่มักพบบ่อยในช่วง ไตรมาสที่ 3 หรือ 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ พบได้ประมาณร้อยละ 2-6 ของการตั้งครรภ์ และเป็นสาเหตุสำคัญอันดับสอง ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของมารดาและทารกในครรภ์ รองจากภาวะตกเลือดหลังคลอด
โรคครรภ์เป็นพิษ เกิดได้อย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่มีหลักฐานจากรายงานวิจัยที่กล่าวไว้หลายๆ สาเหตุ เช่น ความผิดปกติระบบภูมิคุ้มกันของแม่ (Maternal immunologic intolerance) ความผิดปกติการฝังตัวของรก (Abnormal placental implantation) พันธุกรรม อาหาร และสิ่งแวดล้อม (Genetic, nutritional, and environmental factors) รวมถึงการอักเสบของระบบเส้นเลือดต่างๆ (Cardiovascular and inflammatory changes)
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิด โรคครรภ์เป็นพิษ ?
มีงานวิจัยที่ยืนยันความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้นในกลุ่มเหล่านี้
• ลำดับการตั้งครรภ์ โดยพบในครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง
• อายุ โดยพบมากในกลุ่มอายุที่น้อยกว่า 18 ปี และกลุ่มที่อายุมากกว่า 35 ปี
• ประวัติการเกิดครรภ์เป็นพิษในครอบครัว เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว เป็นโรคนี้มาก่อน
• ครรภ์แฝด (Twins or Multiple pregnancy) และครรภ์ไข้ปลาอุก (Molar pregnancy)
• อ้วน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีดัชนีมวลกาย (BMI : Body mass index) มากกว่า 30 ขึ้นไป
• กลุ่มที่มีโรคประจำตัวก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคเอสแอลอี (SLE)
การวินิจฉัย โรคครรภ์เป็นพิษ ?
ในการฝากครรภ์ทุกครั้ง จะมีการตรวจวัดความดันโลหิต และเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหานํ้าตาล และโปรตีนในปัสสาวะ เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน และครรภ์เป็นพิษ โดยถ้าความดันที่วัดได้มากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (140 ตัวแรกคือ ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว หรือ Systolic ส่วนตัวหลังคือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว หรือ Diastolic แนะนำให้วัดในท่านั่ง เครื่องวัดพันรอบแขนในระดับของหัวใจ โดยวัดค่า 2 ครั้งห่างกันประมาณ 6 ชั่วโมง และควรนั่งพักก่อนการตรวจวัดอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อป้องกันความดันสูงที่เกิดจากกิจกรรม เช่น เดินมาเหนื่อยๆ) ถ้าพบว่ามีความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีโปรตีนออกมาในปัสสาวะ ให้การวินิจฉัยว่า เป็นความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (Gestational Hypertension) ซึ่งความดันจะกลับเป็นปกติไม่เกิน 12 สัปดาห์หลังคลอด หรือรายที่มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อนการตั้งครรภ์ (Chronic Hypertension) ทั้งสองโรคนี้ให้การรักษาโดยการติดตามระดับความดันโลหิต และตรวจโปรตีนในปัสสาวะอย่างใกล้ชิด เมื่อใดก็ตามที่พบโปรตีนในปัสสาวะ ขณะที่มีความดันโลหิตสูง ควรให้การวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษ
ก่อนหน้านี้เคยใช้อาการบวมของแม่ มาร่วมในการวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่ปัจจุบันพบว่าอาการบวมเกิดได้หลายสาเหตุ ไม่จำเพาะต้องเป็นอาการของครรภ์เป็นพิษทุกราย เช่น บวมจากกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งมักบวมที่ส่วนล่างของร่างกาย เช่น ขา หรือ เท่า หรือ Physiologic edema แต่ถ้ามีลักษณะการบวมแบบทั้งตัว แขน ขา ใบหน้า ตา หรือ Pathological edema ให้คิดถึงโรคครรภ์เป็นพิษไว้เสมอ
โรคครรภ์เป็นพิษ มีความรุนแรงมากน้อยอย่างไร ? และให้การรักษาอย่างไร ?
โรคนี้แบ่งความรุนแรงได้หลายระดับ ดังนี้
Mild preeclampsia มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับการมีโปรตีนในปัสสาวะ เป็นช่วงที่ต้องตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาว่ามีอาการของโรคที่รุนแรงในระดับ Severe pre-eclampsia หรือไม่ ถ้ายังมีอาการครรภ์เป็นพิษขั้นรุนแรง และอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดคลอด สามารถให้การรักษาแบบประคับประคอง การกระตุ้นพัฒนาการปอด และเฝ้าติดตามอาการและสุขภาพทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด หรือตัวโรคเปลี่ยนเป็นชนิดที่รุนแรง
Severe preeclampsia เป็นช่วงที่อาการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น โปรตีนในปัสสาวะรั่วออกมามากขึ้น รวมถึงการทำงานของระบบต่างๆ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลง เช่น ตับ คั่งเลือด ไตวาย ปอดบวมนํ้า เกร็ดเลือดตํ่า บางรายมีอาการที่เป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อนของตัวโรค เช่น อาการปวดศีรษะ (จากความดันโลหิตที่สูงขึ้น) ตาพร่ามัว (จากเส้นเลือดไปเลี้ยงจอประสาทตาน้อยลง) จุกแน่นลิ้นปี่ หรือ ชายโครงด้านขวา (จากเลือดออกที่ตับ) เนื่องจากเป็นภาวะที่อันตรายต่อมารดา และทารกในครรภ์ การรักษาที่จะทำให้อาการของโรคดีขึ้น คือ การยุติการตั้งครรภ์ โดยหลักการรักษาเมื่อวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดที่รุนแรง คือ
• การให้แมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4) หรือยาป้องกันการชัก โดยให้ยาตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย จนถึง 24 ชั่วโมงหลังคลอด รวมถึงการให้ยาลดความดันในกรณีที่ความดันโลหิตสูงมากๆ
• การแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น การทำงานผิดปกติของตับ ไต เกร็ดเลือด
• การยุติการตั้งครรภ์ โดยพิจารณาคลอดทางช่องคลอด ถ้าปากมดลูกพร้อม และคาดว่าจะคลอดได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจใช้ครีมช่วยคลอดศีรษะ (Forceps) เพื่อลดการเบ่งของแม่ ทำให้ความดันไม่สูงมากไปกว่าเดิมจนเป็นอันตราย หรือพิจารณาผ่าตัดคลอด ถ้าไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้
• Eclampsia เป็นอาการที่รุนแรงของโรคนี้ ถ้ามีการชักต้องรีบให้ยาเพื่อหยุดการชักให้เร็วที่สุด ซึ่งยาที่ใช้คือ แมกนีเซียมซัลเฟต ซึ่งมีฤทธิ์หยุดอาการชัก และป้องกันการกลับมาชักซํ้าอีก รีบแก้ไขระบบการหายใจ และระบบไหลเวียนเลือดของมารดาเพื่อป้องกันการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงลูก และรีบนำทารกออกมาให้เร็ว ถ้าอาการของมารดาคงที่แล้ว นอกจากอาการชักจะเกิดในช่วงตั้งครรภ์ แล้ว อาการชักยังสามารถเกิดขึ้นภาย หลังคลอด ได้ในระยะเวลา 6 สัปดาห์หลังคลอด โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก ดังนั้นการให้ยากันชักมักให้ต่อเนื่องจนถึงระยะ 24 ชั่วโมงหลังคลอด
การแยกความแตกต่างระหว่าง Mild preeclampsia และ Severe preeclampsia | ||
สิ่งที่ตรวจพบ | Mild preeclampsia | Severe preeclampsia |
• ความดันโลหิต | น้อยกว่า 160/110 mmHg | ตั้งแต่ 160/110 mmHg ขึ้นไป |
• โปรตีนในปัสสาวะ (เก็บปัสสาวะ 24 ชม.) Dipstick : คือแผ่นสำหรับตรวจวัด ระดับความเข้มโปรตีนในปัสสาวะ |
น้อยกว่า 2 gm/d หรือ (dipstick 1+ หรือ 2+) |
มากกว่า 2 gm/d หรือ (dipstick 3+ หรือ 4+) |
• อาการปวดศีรษะ | ไม่มี | มี |
• อาการตาพร่ามัว | ไม่มี | มี |
• อาการจุกแน่นลิ้นปี่ | ไม่มี | มี |
• ปัสสาวะออกน้อย / Oliguria (<500ml/hr) | ไม่มี | มี |
• ชัก | ไม่มี | มี (eclampsia) |
• การทำงานของไต / Serum Creatinine | ปกติ | สูงผิดปกติ |
• เกร็ดเลือด | ปกติ | ต่ำกว่า 100,000 ต่อ มม. |
• การทำงานของตับ / Liver enzyme | ผิดปกติเล็กน้อย | ผิดปกติชัดเจน |
• ทารกโตช้าในครรภ์ / Growth retardation | ไม่มี | มี |
• ภาวะปอดบวมน้ำ / Pulmonary edema | ไม่มี | มี |
โอกาสการเกิดเป็นซํ้าในท้องถัดไป
การป้องกันโรคครรภ์เป็นพิษ และการตรวจคัดกรองก่อนมีอาการ ?
โรคครรภ์เป็นพิษเมื่อเคยเป็นแล้ว โอกาสที่ตั้งครรภ์ครั้งต่อไป แล้วเกิดขึ้นซํ้าอีกพบได้บ่อยขึ้น โดยถ้ามีประวัติครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรงในช่วงใกล้คลอด จะมีโอกาสเกิดซํ้าประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ถ้ามีประวัติเป็นครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง โอกาสเกิดเป็นซํ้าประมาณร้อยละ 20 แต่ถ้าเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์น้อยกว่า 30 สัปดาห์ จะมีโอกาสเป็นซํ้าได้สูงถึงร้อยละ 40 ในครรภ์ถัดไป ดังนั้นผู้ที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษ แล้วตั้งครรภ์ใหม่อีก ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด และแจ้งประวัติแก่แพทย์ที่ดูแลครรภ์ เพื่อประโยชน์ต่อตัวคนไข้เอง
ปัจจุบันมีผู้วิจัยหลายราย พยายามหาวิธีป้องกันโรคครรภ์เป็นพิษนี้ แต่จากข้อมูลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยาแอสไพริน (Aspirin) เฮปาริน (Heparin) แคลเซี่ยม (Calcium) วิตามินซี (Vitamin C) วิตามินอี (Vitamin E) หรือ นมที่มีส่วนผสมของโปรไปโอติก (Probiotics) อาจมีผลในบางรายหรือบางกลุ่มของคนไข้ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการผลิตชุดการตรวจคัดกรองที่สามารถ ตรวจหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือเสี่ยงต่อการเกิดซ้ำ ซึ่งยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายนัก เนื่องจากประสิทธิภาพของการตรวจยังไม่สูงและ ราคายังแพงอยู่มาก ดังนั้นสิ่งที่สูติแพทย์ใช้ในการค้นหาโรคในปัจจุบัน คื อ การตรวจติดตามวัดความดัน และตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ ทุกครั้งที่คุณแม่มาฝากครรภ์ ถ้ามีความผิดปกติจะรีบให้การวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ และตัวคุณแม่ีเองน้อยที่สุด ดังนั้นการไปรับการฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้ทราบโรคนี้ตั้งแต่เริ่มเป็นได้
Tips
อาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสังเกตและระวัง!!! ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์
• อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
• อาการตาพร่ามัว
• อาการจุกแน่นลิ้นปี่และชายโครงด้านขวา
• อาการบวมทั่วตัว (Generalized Edema) ตา ใบหน้า มือ ข้อมือ หน้าแข้ง เท้า
• น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว (1-2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์) ทั้งที่ไม่ได้ทานอาหารเพิ่มขึ้น (ปกติสัปดาห์ละประมาณ 0.5 กิโลกรัม)
แกงกลิโอไซด์ (GA : Ganglioside) เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์สมอง บริเวณเส้นใยประสาท และจุดเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ช่วยให้การรับส่งข้อมูลระหว่างเซลล์สมองมีประสิทธิภาพ ทำให้ทารกเรียนรู้ จดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีผลต่อระดับสติปัญญาของลูกน้อย นอกจากนี้ ยังช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย และช่วยลดปัญหาท้องเสีย ผลการวิจัยพบว่าทารกที่ดื่มนมแม่ จะมีปริมาณแกงกลิโอไซด์ที่สมองมากกว่าทารกที่ไม่ได้ดื่มนมแม่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)