Haijai.com


กระเพาะปัสสาวะอักเสบมาเยือนคุณแม่ท้อง


 
เปิดอ่าน 15025

กระเพาะปัสสาวะอักเสบมาเยือนคุณแม่ท้อง

 

 

คุณแม่ท้อง : เธอเดี๋ยวฉันมานะ ขอไปเข้าห้องน้ำก่อน

 

เพื่อนคุณแม่ : ตั้งกะเรานั่งกินข้าวด้วยกันมา 30 นาที เธอเดินเข้าห้องน้ำไป 2 รอบแล้วนะ ทำไมเข้าห้องน้ำบ่อยจัง

 

คุณแม่ท้อง : ก็ฉันท้องได้ 6 เดือนกว่าๆ แล้ว คุณหมอบอกว่าช่วงไตรมาสสองขึ้นไป จะต้องเข้าห้องน้ำบ่อย เพราะลูกไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ พอกินน้ำเข้าไปนิดหน่อย แป๊ปเดียวเดี๋ยวก็ต้องเดินเข้าห้องน้ำ

 

เพื่อนคุณแม่ : แล้วทำไมไม่อั้นไว้ เวลาปวดหนักๆ ค่อยเดินไปเข้าครั้งเดียวละเธอ

 

คุณแม่ท้อง : ไม่ได้เลยเธอ เพราะคุณหมอบอกว่า จะปวดมากปวดน้อยก็ต้องขยันเดินไปเข้าห้องน้ำ เพราะไม่อย่างนั้น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบอาจถามหาได้นะเธอ แค่ฉันท้องผูกก็จะแย่อยู่แล้ว หากมาเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบอีก คงเป็นฝันร้ายสำหรับการอุ้มท้องครั้งแรกของฉันเป็นแน่ๆ นะเธอ

 

 

มีหญิงตั้งครรภ์ไม่น้อย ที่ช่วงระหว่างการตั้งครรภ์จะต้องมีอาการแทรกซ้อนเล็กๆ น้อยๆ

 

ไปจนถึงขั้นรุนแรง อย่างริดสีดวงทวารหนักที่เกิดจากอาการท้องผูก และที่หนักสุดอีกอาการหนึ่งคือ

 

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

เรามาทำความรู้จักอาการของ "โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ" กันค่ะ

 

 

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

เกิดจากการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งทำให้เกิดอาการแสบร้อนขณะปัสสาวะออกมา โดยธรรมชาติแล้ว ปัสสาวะของเราจะไม่มีเชื้อโรค แต่เมื่อตั้งครรภ์และฮอร์โมนในร่างกายมีการปรับสมดุล ทำให้ทางเดินปัสสาวะคลายตัว และขยายออก จึงทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น เมื่อคุณแม่สงสัยว่า ตัวเองจะมีอาการของโรคปัสสาวะอักเสบหรือเปล่า เมื่อปัสสาวะให้สังเกตจากอาการเหล่านี้ ว่ามีร่วมด้วยหรือไม่ คือ



รู้สึกแสบร้อน ระคายเคืองขณะปัสสาวะ

 

รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย และรู้สึกปวดปัสสาวะมาก แต่พอไปเข้า

 

ห้องน้ำกลับมีปัสสาวะออกเพียงเล็กน้อย

 

ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย

 

ปวดท้องเวลาปัสสาวะ

 

ปัสสาวะบ่อย

 

ปัสสาวะกระปริบกระปรอย

 

กลั้นปัสสาวะไม่ได้

 

ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น

 

ปัสสาวะมีสีขุ่น

 

ปัสสาวะมีเลือดปนออกมา

 

 

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากคุณแม่ตั้งครรภ์ดูแลรักษาร่างกายเป็นอย่างดี และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอที่ดูแลครรภ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งการรักษาสุขอนามัยช่วงตั้งครรภ์เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงในการปฏิบัติ ทั้งนี้ก็เพื่อร่างกายที่แข็งแรงตลอด 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ค่ะ การดูแลเรื่องสุขอนามัยสามารถปฏิบัติกันได้ง่ายๆ ตามคำแนะนำนี้คะ

 

เมื่อคุณแม่ปัสสาวะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ใช้ผ้าสะอาดๆ เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง (ห้ามเช็ดย้อนขึ้นจากหลังมาหน้า เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ช่องคลอดได้)

 

เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ไม่ว่าจะปวดมากปวดน้อย ก็ให้ไปเข้าห้องน้ำทันที และปัสสาวะออกมาให้สุดเท่าที่จะทำได้

 

เวลาที่คุณแม่อาบน้ำชำระล้างทำความสะอาดร่างกายนั้น ในส่วนของจุดซ่อนเร้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งการทำความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้น เพียงแค่ชำระล้างด้วยน้ำสะอาดก็เพียงพอแล้วค่ะ และเมื่อเช็ดตัวให้แห้งแล้ว ไม่ควรทาแป้งบริเวณขาหนีบ เพราะฝุ่นแป้งอาจเข้าไปในช่องคลอดได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคือง และเกิดการอักเสบขึ้นได้

 

เพื่อความสบายตัวของคุณแม่ และเพื่อไม่ให้อึดอัดจนเกินไป ควรสวมกางเกงชั้นในที่ทำด้วยผ้าฝ่าย เพราะลดการอับชื้นบริเวณจุดซ่อนเร้น เนื่องจากผ้าฝ่ายเป็นผ้าที่โปรงสบาย จึงระบายอากาศได้ดี

 

ไม่ควรดื่มน้ำน้อยลง การดื่มน้ำน้อยส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ และอาจมีอาการท้องผูกเกิดขึ้นได้ค่ะ

 

 

การดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงตลอดช่วงการตั้งครรภ์ จะช่วยลดอาการเจ็บป่วยแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในตลอด 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์นะคะ ฉะนั้น คุณแม่ควรที่จะพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เท่านี้ก็ช่วยให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงมีภูมิคุ้มกัน ที่จะสามารถต่อสู้กับเชื้อโรค และแบคทีเรียต่างๆ ที่อาจแทรกซ้อนเข้ามาในช่วงตั้งครรภ์ได้แล้วละค่ะ

 

 

โยเกิร์ต สักถ้วยช่วงตั้งครรภ์

 

ตลอดการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ มีคุณแม่อยู่ไม่น้อย ที่มีอาการท้องผูก ซึ่งอาการท้องผูก มักทำให้คุณแม่ไม่อยากทานอาหาร เนื่องจากทานเข้าไปแล้ว ก็ไม่ถ่ายออกมาง่ายๆ แถมยังทำให้รู้สึกอึดอัดแน่นท้องอย่างนั้น เราลองมาทานโยเกิร์ตหลังทานอาหารกันสักถ้วยดีมั้ยคะ แนะนำว่าให้ทานโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ในหลังมื้ออาหารเช้า หรือหลังมื้ออาหารเย็น ส่วนระหว่างวันก็ให้ดื่มน้ำ ดื่มนมกันตามปกติค่ะการทานโยเกิร์ตจะดีต่อระบบขับถ่าย เพราะมากไปด้วยจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายแล้ว โยเกิร์ตยังมากไปด้วยแคลเซียม ที่จะช่วยเสริมสร้างกระดูก และฟันของคุณแม่คุณลูกในท้องให้แข็งแรงอีกด้วยนะคะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)