© 2017 Copyright - Haijai.com
เนื้องอกในมดลูกขณะตั้งครรภ์ต้องดูแลอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ไม่นอย คือเมื่อทราบว่า มีเนื้องอกมดลูกอยู่ในร่างกาย ในขณะตั้งครรภ์ โดยทราบจากการที่คุณหมอตรวจอัลตราซาวนด์ดูทารกในครรภ์ แล้วพบเนื้องอก คำถามที่ตามมาคือเนื้องอกจะมีผลต่อการตั้งครรภ์ หรือทารกในครรภ์หรือไม่ จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือระหว่างการคลอดหรือไม่ ระหว่างการผ่าตัดคลอดบุตรสามารถตัดเนื้องอกออกได้หรือไม่
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจและรู้จัก “เนื้องอกมดลูก” หรือ “Myoma uteri หรือ Fibroids หรือ Leiomyoma”กันก่อน ว่าเนื้องอกชนิดนี้เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ แรกเริ่มมีขนาดเล็กๆ เท่าเมล็ดถั่วแล้วค่อยๆ โตขึ้นช้าๆ ซึ่งพบได้ในคนทั่วไปได้ร้อยละ 20-25 โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น โอกาสการเกิดเนื้องอกก็จะสูงขึ้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด เนื้องอกมดลูกเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงถูกตัดมดลูกมากที่สุด โดยทั่วไป สามารถแบ่งชนิดเนื้องอกเป็น 4 ชนิด คือ
1.ชนิดที่แทรกเข้าไปในโพรงมดลูก (Submucous myoma)
2.ชนิดที่ฝังในกล้ามเนื้อมดลูก(Intramural myoma)
3.ชนิดที่อยู่ที่ผิวของมดลูก หรือมีลักษณะยื่นออกไปในช่องท้อง (Subserous myoma) รวมถึงชนิดที่เป็นติ่งมีก้านห้อยลงออกมา (Pedunculated myoma)
4.ชนิดที่อยู่ที่บริเวณปากมดลูก (Cervical myoma)
โดยปกติเนื้องอกมดลูกทำให้เกิดอาการได้หลายอย่างตามชนิด และตำแหน่งของการเกิด เช่น เนื้องอกที่แทรกอยู่ในเนื้อมดลูก หรือยื่นออกมาที่ผิวของโพรงมดลูก ทำให้โพรงมดลูกขยายออก ก็จะทำให้เลือดประจำเดือนออกมาก เป็นลิ่มเลือด หรือออกนานผิดปกติ ปวดถ่วงท้องน้อย
โดยเฉพาะปวดเวลามีรอบเดือน เพราะเนื้องอกจะขวางการบีบตัวของมดลูก ถ้าเป็นชนิดที่ยื่นออกมาที่นอกตัวมดลูกทางด้านหน้า ก็อาจไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือ ถ้ายื่นออกไปด้านหลังของมดลูกก็อาจไปกดเบียดลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องผูกตามมาได้ โดยมากตรวจพบจากการตรวจคลำหน้าท้อง หรือ ตรวจภายใน ส่วนใหญ่จะยืนยันโดยการตรวจอัลตร้าซาวนด์ การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ ขึ้นกับขนาดของก้อน ตำแหน่งที่เป็น อาการของคนไข้ และความต้องการมีบุตรในอนาคต ในก้อนขนาดไม่ใหญ่มากและไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์อาจใช้วิธีตรวจติดตามขนาดของก้อน และติดตามอาการไปก่อน หรือใช้ยา ในการควบคุม เช่น ยากลุ่มฮอร์โมน ซึ่งมีทั้งชนิดกินและฉีด หรือการฉีดสารบางชนิดเข้าไปในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตัวเนื้องอกให้เกิดการอุดตัน เพื่อไม่ให้เลือดไปเลี้ยงตัวเนื้องอกได้ (Uterine artery embolization : UAE) ในรายที่มีอาการมากอาจพิจารณาทำการผ่าตัด ซึ่งทำได้ทั้งการตัดเฉพาะเนื้องอกออก หรือตัดมดลูกออกเลย ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการมีบุตรของคนไข้ และการผ่าตัดในปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopy or Hysteroscopy) ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอก
โดยปกติข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด เช่น การที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ (เทียบกับมดลูกขณะตั้งครรภ์ คือ ใหญ่กว่ามดลูกขณะตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์) การกดเบียดของเนื้องอกต่ออวัยวะข้างเคียง เช่นกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย อาการปวดท้องมาก โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือน การที่มีเลือดประจำเดือนออกมากและนานจนเกิดภาวะซีด การแท้งบุตรบ่อยๆ หรือภาวะมีบุตรยาก และการที่ก้อนเนื้องอกโตไวเกินไป ส่วนการเกิดเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 การมีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์มักมีคำถามตามมาดังนี้
คำถาม เนื้องอกมดลูกทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กในท้องไหม ?
ตอบ ส่วนใหญ่การศึกษาจากหลายงานวิจัยไม่พบว่าเนื้องอกทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า หรือ เสียชีวิตในครรภ์แต่อย่างใด
คำถาม เนื้องอกมดลูกมีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร ?
คำตอบ การมีเนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ มักทำให้เกิดการแท้งบุตรบ่อยๆ ถ้าตำแหน่งการฝังตัวของทารกไปอยู่บริเวณเนื้องอก หรือการเกิดท่าผิดปกติของทารกในครรภ์จากการเบียดดันของตัวเนื้องอก อาจทำให้เพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอด โดยเฉพาะก้อนเนื้องอกที่ใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร อาการปวดท้องจากการที่มีการขาดเลือดไปเลี้ยง หรือ การตายของเนื้องอกภายในก้อน (Red degeneration) การเกิดการคลอดก่อนกำหนด (Preterm labor) ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด (Premature rupture of membrane) รกลอกตัวก่อนกำหนด รวมถึงการตกเลือดในระหว่างคลอด และหลังคลอด เนื้องอกมดลูกในขณะตั้งครรภ์ จะมีฮอร์โมนไปเลี้ยงที่ตัวก้อนมาก ทำให้ก้อนโตเร็วโดยเฉพาะในไตรมาสแรก ดังนั้นการตรวจพบว่าก้อนมีขนาด ใหญ่ 7-8 เซนติเมตร จึงอาจไม่ใช่ขนาดจริงของก้อนเนื้องอก จึงควรรอให้มีการประเมินหลังคลอด 3-6 เดือน ถ้าก้อนยังมีขนาดใหญ่อยู่จึงค่อยพิจารณาผ่าตัด การโตเร็วของก้อนทำให้พบว่าเมื่อก้อนโตถึงระดับหนึ่ง เส้นเลือดจะไปเลี้ยงไม่พอที่ส่วนกลางของตัวก้อน ทำให้เนื้องอกขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดการตายของเนื้อเยื่อด้านในก้อน ทำให้มีอาการปวดที่ตัวก้อน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยการรักษาก็เพียงแต่ประคับประคองให้ยาแก้ปวดให้เพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการปวด อาการจะค่อยดีขึ้น แต่ถ้าไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
คำถาม เนื้องอกมดลูก มีวิธีการรักษาอย่างไร ในขณะตั้งครรภ์ ?
ตอบ การเฝ้าติดตามขนาดของก้อนและอาการ ส่วนใหญ่จะผ่าตัดในกรณีที่มีอาการปวดมากๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา โดยมากพิจารณาผ่าตัดในไตรมาสที่สอง และเป็นก้อนชนิดที่ยื่นออกไปในช่องท้อง (Subserous myoma) หรือชนิดที่เป็นติ่งห้อยลงออกมา (Pedunculate myoma) หรือมีการบิดขั้วของก้อน
คำถาม ถ้าต้องผ่าคลอด คุณหมอผ่าตัดเนื้องอกมดลูกออกไปเลยได้ไหม ?
ตอบ การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกออกขณะผ่าตัดคลอด สัมพันธ์กับการเสียเลือดอย่างมาก เนื่องจากมดลูกขณะที่ตั้งครรภ์มีเลือดมาเลี้ยงมาก จึงเสี่ยงต่อการเสียเลือดอย่างมาก และอาจจำเป็นต้องตัดมดลูกในกรณีที่ไม่สามารถหยุดเลือดได้อยู่ ยกเว้นกรณีที่เป็นเนื้องอกกชนิดที่เป็นติ่งห้อยลงออกมา (Pedunculate myoma) ที่ก้านไม่ใหญ่มากสามารถทำการผ่าตัดออกได้
คำถาม เนื้องอกที่ว่ามีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ไหม ?
ตอบ มีโอกาส แต่น้อยมาก ปกติโอกาสที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง (Leiomyosarcoma) น้อยกว่าร้อยละ 1 โดยมากสามารถสังเกตติดตามจากพฤติกรรมของตัวก้อนได้ เช่น โตเร็ว เช่นภายใน 1-2 เดือนมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของก้อนอย่างชัดเจน การมีอาการร่วม เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือก้อนที่พบว่ามีการโตขึ้นในช่วงของวัยหมดประจำเดือน (โดยปกติเนื้องอกพวกนี้จะโตขึ้นด้วยฮอร์โมนเพศหญิง หรือ เอสโตรเจน ในวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนหมดไป เนื้องอกเหล่านี้จึงควรฝ่อและลดขนาดลง) ดังนั้นผู้มีเนื้องอกอยู่ก็ควรได้รับการติดตามโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)