© 2017 Copyright - Haijai.com
ปัญหาสำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เราจะต่อกันด้วยปัญหายิบย่อยที่ใครหลายคนอาจมองดูว่าก็แค่ปัญหาเล็กๆ แต่สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่คิดว่าเล็กนะคะ ฉะนั้น เราไปไขข้อข้องใจและเป็นกำลังใจให้คุณแม่มือใหม่หัดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันต่อค่ะ
Nursing Strike คืออะไร
Nursing strike คือ อาการที่ลูกปฏิเสธเต้านมหลังจากที่ดูดนมเป็นปกติมาเป็นเวลาหลายเดือน การปฏิเสธเต้านมอาจหมายถึง มีบางสิ่งเกิดกับลูกของคุณและลูกพยายามสื่อสารให้คุณรู้ว่ามีสิ่งผิดปกติ ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีปฏิกิยาเดียวกันในสถานการณ์ที่ต่างกัน เด็กบางคนสามารถดูดนมต่อไปได้ เด็กบางคนอาจฉุนเฉียวกับเต้านม แต่บางคนอาจปฏิเสธเต้าตลอดไป สาเหตุของการปฏิเสธเต้าได้แก่ ปวดฟันเนื่องจากฟันกำลังขึ้น หรือเกิดจากการติดเชื้อราในช่องปาก หรือเจ็บคอจากหวัด หูติดเชื้อ ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะดูดนม ฯลฯ
ถ้าลูกปฏิเสธเต้านม ต้องปฏิบัติอย่างไร
ถ้าลูกของคุณปฏิเสธนมแม่ เป็นเรื่องปกติที่คุณจะกังวลและสับสนโดยเฉพาะถ้าลูกไม่มีความสุข ที่สำคัญคือคุณต้องไม่รู้สึกผิดหรือโทษว่าเป็นความผิดคุณ คุณอาจรู้สึกอึดอัดที่เต้านมของคุณเมื่อมีการสร้างน้ำนมมากขึ้น วิธีแก้ไข
• พยายามให้ลูกดูดนมตรงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเต้านมคัด และท่อน้ำนมอุดตัน
• พยายามใช้วิธีอื่นในการป้อนนมลูกเป็นการชั่วคราว เช่น ใช้ถ้วย หลอดหยด หรือช้อน ตรวจสอบผ้าอ้อมลูกเพื่อให้แน่ใจว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ (5-6 ครั้งต่อวัน)
• พยายามเสนอเต้าให้ลูกดูด ถ้าลูกไม่ยอมให้หยุดและลองทำใหม่ทีหลัง ลองทำเมื่อลูกกำลังจะนอนหรือเมื่อลูกง่วงมากๆ
• พยายามลองท่าให้นมหลายๆ ท่า
• พยายามให้ความสนใจลูกเต็มที่และปลอบโยนลูกด้วยการสัมผัสและกอดรัดมากขึ้น
• พยายามให้นมขณะนั่งบนเก้าอี้โยกในห้องที่เงียบที่ไม่มีสิ่งรบกวน
อยากทราบเทคนิค เกี่ยวกับการบีบเก็บน้ำนมแม่คะ
• ล้างมือให้สะอาดก่อนการบีบ และเก็บน้ำนมทุกครั้ง
• หามุมสงบนั่งให้สบายผ่อนคลายจะช่วยให้การหลั่งน้ำนมดีขึ้น ถ้าเต้านมคัดตึง คุณแม่อาจจะประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นจัดๆ ประมาณ 3-5 นาที
• นวดเต้านมในลักษณะเป็นวงกลม จากฐานเต้านมเข้าหาหัวนม และคลึงเบาๆ เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
• บีบน้ำนมออกโดยใช้นิ้วหัวแม่มือวางบนลานหัวนมด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือวางด้านตรงข้ามกดนิ้วเข้าหาทรวงอก แล้วค่อยๆ บีบปลายนิ้วเข้าหากัน น้ำนมก็จะไหลออกมา
• เก็บใส่ภาชนะสะอาดที่เตรียมไว้
• ทำซ้ำใหม่ กด บีบ ปล่อย เป็นจังหวะช้าๆ เมื่อน้ำนมไหลน้อยก็เปลี่ยนตำแหน่งที่วางนิ้วไปบริเวณรอบลานนม เพื่อให้น้ำนมไหลออกจากกระเปาะน้ำนม
• ใช้เวลาบีบน้ำนมแต่ละข้างประมาณ 10-15 นาที
• การบีบน้ำนมด้วยมือ หากทำอย่างนุ่มนวลถูกวิธี คุณแม่ก็จะไม่เจ็บ และน้ำนมก็จะออกมาดี
สารอาหารลูทีน ในนมแม่มีประโยชน์กับลูกอย่างไร
ลูทีน เป็นสารอาหารอีกชนิดหนึ่งที่พบมากในน้ำนมแม่มีประโยชน์ในการปกป้องจอประสาทตา บริเวณที่เรียกว่า Macula of Lutein สารลูทีนนี้จะแตกต่างจากสารอาหารชนิดอื่นๆ คือ ร่างกายคนเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้จะได้รับจากการรับประทานเท่านั้น สารลูทีนพบมากในน้ำนมแม่ และผักใบเขียวเข้ม การให้ลูกดื่มนมแม่และส่งเสริมให้ลูกรับประทานผักใบเขียว ก็จะช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารที่ช่วยปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้นคุณแม่ควรให้ลูกดื่มนมแม่ให้นานที่สุด แต่ถ้าหากมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ คุณแม่ก็สามารถพิจารณาอาหารอื่นที่มีสารอาหารลูทีนให้ลูกรับประทาน เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน สารลูทีนพบมากในน้ำนมแม่ และผักใบเขียวเข้ม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)