Haijai.com


ไตมีหน้าที่อะไรบ้าง


 
เปิดอ่าน 81410

ระบบไต

 

 

ไตมีลักษณะคล้ายถั่ว อยู่บริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ใต้ต่อกระดูกซี่โครงและอยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง มีสีแดงเหมือนไตหมู มีขนาดความยาวเส้นผ่าศูนย์กลางตามความยาว 11-12 เซนติเมตร หนักข้างละ 150 กรัม ไตแต่ละข้างได้รับเลือดผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งออกจากหัวใจเมื่อเลือดไหลผ่านไตจะมีการกรองผ่านหน่วยไตเล็กๆ เรียกว่า เนฟรอน (nephron) ซึ่งมีอยู่ข้างละ 1 ล้านหน่วย หน่วยไตเล็กๆ เหล่านี้มีหน้าที่กรองของเสียจากเลือดผ่านท่อไต และเกิดเป็นน้ำปัสสาวะขับออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ ไตกรองเลือดประมาณ 240 ลิตรต่อวัน และดูดกลับ 237.6 ลิตรต่อวัน อีก 2.4 ลิตรกลายเป็นน้ำปัสสาวะออกจากร่างกาย ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยไตที่ปกติเพียง 1 ข้าง เพราะมีการปรับสมดุลได้ดีมาก ดังนั้น ผู้ที่บริจาคไต 1 ข้าง จึงสามารถมีชีวิตที่ปกติได้ด้วยไตเพียงข้างเดียว

 

 

ไตมีหน้าที่อะไรบ้าง

 

 ปรับสมดุลน้ำในร่างกาย ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญในการควบคุมการขับหรือเก็บน้ำไว้ในร่างกาย เมื่อร่างกายขาดน้ำ เช่น อากาศร้อนจัด เสียน้ำทางเหงื่อมาก ร่างกายจะปรับดุลน้ำโดยจะมีการกระหายน้ำดื่มน้ำมากขึ้น เป็นการทดแทนน้ำที่เสียไป ร่างกายก็อยู่ในสมดุลหรือเมื่อคนเราดื่มน้ำเป็นจำนวนมากเกินความต้องการ ไตก็จะทำหน้าที่ขับน้ำส่วนเกินออกเช่นเดียวกัน แต่เมื่อใดที่ไตผิดปกติ การปรับดุลน้ำไม่ได้ จะเกิดภาวะน้ำเกินและภาวะขาดน้ำ ซึ่งถ้ารุนแรงมากจะมีผลกระทบต่อสมองจนมีอาการสับสน ซึมและชักได้

 

 

 ปรับสมดุลเกลือแร่และกรดด่าง ไตปกติสามารถขับเกลือแร่ส่วนที่เกินความต้องการออกมาในปัสสาวะได้ เช่น รับประทานอาหารเค็มจัด ร่างกายจะปรับเกลือแร่นี้ โดยรู้สึกกระหายน้ำ ดื่มน้ำมากขึ้น และขับเกลือแร่ส่วนเกินที่ค้างอยู่ออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าไตเสียหน้าที่ ไม่สามารถขับเกลือแร่ที่เกินได้ ทำให้เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้า มือ และเท้า ถ้าเป็นรุนแรงจะมีผลเสียต่อหัวใจด้วย โพแทสเซียมเป็นเกลือแร่ตัวหนึ่งที่ใช้สำหรับการทำงานของหัวใจและกล้ามเนื้อ เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมเข้าไป ไตทำหน้าที่ควบคุมระดับของโพแทสเซียมในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ระดับของโพแทสเซียมในเลือดจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจเกิดการเต้นผิดปกติ จนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้

 

 

โดยทั่วไปอาหารโปรตีนที่เรารับประทานเข้าไป ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางพลังงานและสารเคมีต่างๆ ตลอดจนเกิดสารกรด ซึ่งจะถูกขับออกจากร่างกายเพื่อรักษาสมดุล โดยไตมีหน้าที่หลักของการขับกรด เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ ร่างกายจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ร่างกายจะไม่เป็นปกติสุข

 

 

 กำจัดของเสียออกจากร่างกาย ร่างกายมีกระบวนการขับของเสียออกจากร่างกายได้หลายวิธี เช่น ขับออกทางอุจจาระ ทางลมหายใจ ทางเหงื่อ และทางปัสสาวะ การเผาผลาญโปรตีนจากอาหารและการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดของเสียที่เรียกว่า “ยูเรีย” และ “ครีเอตินิน” ซึ่งจะถูกขับออกทางไต สารคั่งค้างนอกจากยูเรีย ยังมีสารชนิดอื่นๆ อีกหลายอย่าง รวมทั้งยาที่รับประทานและยาฉีดเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งถ้าไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เกิดการค้างของสารต่างๆ เหล่านี้ เกิดมีพิษต่อร่างกาย ทำให้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ นอนไม่หลับ อาจซึมลงจนถึงชักได้

 

 

 สร้างฮอร์โมนหลายชนิด ไตผลิตฮอร์โมนที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ เรนิน อิริโทรพอยอีติน และวิตามิน ซึ่งมีบทบาทดังนี้

 

1.ฮอร์โมนเรนิน ช่วยในการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย และการดูดซึมของเกลือแร่ที่ไต ซึ่งมีผลต่อความดันโลหิตเช่นกัน ถ้าไตเสื่อมจะเกิดความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนเรนิน มีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้

 

 

2.ฮอร์โมนอิริโทรพอยอีติน เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นในการกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง ในกรณีที่ไตเสียหน้าที่ จะมีการหลั่งสารนี้ลดลง ทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง และเกิดภาวะโลหิตจางได้

 

 

3.วิตามินดี ช่วยควบคุมการดูดซึมแคลเซียมจากอาหาร และช่วยในการเสริมสร้างกระดูก การที่ไตเสียทำให้วิตามินดีไม่สามารถทำงานได้ มีผลทำให้ระดับของแคลเซียมในเลือดลดลง และกระดูกเสื่อมได้ โดยทั่วไปวิตามินดีที่ได้รับจากอาหาร และสังเคราะห์ผ่านกระบวนการของผิวหนังที่ได้รับแสงอาทิตย์ ซึ่งมีอัลตราไวโอเลต การออกฤทธิ์ต้องอาศัยไตที่ดี

 

 

ผู้ที่เป็นโรคไตมักไม่ค่อยปรากฏอาการให้เห็น เพราะไตเป็นอวัยวะที่มีความสามารถพิเศษในการปรับการทำงาน ให้อยู่ในสมดุลแม้ว่าจะเหลือเพียง 50% ของปกติ แต่ถ้าการทำงานของไตลดเหลือ 25% จะเริ่มปรากฏอาการต่างๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร ซีด คันตามตัว บวมตามใบหน้า แขนขา ปัสสาวะมากตอนกลางคืน ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจคล้ายกับอาการของโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกาย ซึ่งจะพบว่าความดันโลหิตสูง มีบวม ซีด รวมถึงต้องตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และภาพรังสีเพิ่มเติม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

 

 

ศ.เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ

อายุรแพทย์โรคไต

(Some images used under license from Shutterstock.com.)