© 2017 Copyright - Haijai.com
ขมิ้นนาโน ทางเลือกใหม่ปราบเชื้อดื้อยา
ปัญหาเชื้อดื้อยานับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจากการที่เชื้อมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น เชื้อ Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยา methicillin (MRSA) ซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายตัว การค้นหายาใหม่เพื่อรับมือกับศัตรูที่นับวันจะเพิ่มพูนความร้ายกาจยิ่งขึ้น จึงนับเป็นภารกิจสำคัญของเหล่านักวิทยาศาสตร์การแพทย์สำหรับงานวิจัยต่อไปนี้ ซึ่งตีพิมพ์ใน Nanomedicine: Nanotechnology, Biology, and Medicine ในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าการนำของเดิม (สารเคอร์คูมินในขมิ้นชัน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน สมานแผล แก้ท้องอืด งานวิจัยสมัยใหม่ยังแสดงให้เห็นว่าเคอร์คูมินมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและต้านการอักเสบ) มาผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ซึ่งในที่นี้คือ “นาโนเทคโนโลยี” เทคโนโลยีแห่งยุคของ “การทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็กๆ”) ได้ให้ทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพในการรับมือปัญหาที่ร้ายแรงนี้
คณะนักวิจัยชาวอเมริกานำโดย Krausz ได้นำสารเคอร์คูมิน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ของขมิ้นชันมาทำให้อยู่ในอนุภาคนาโน โดยใช้เทคโนโลยีโซล-เจล (Sol-gel technology) แล้วนำอนุภาคนาโนดังกล่าวไปทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ในปลาม้าลาย ความสามารถในการฆ่าเชื้อ Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยา methicillin และเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ในหลอดทดลอง ตลอดจนนำไปทดลองในหนูทดลอง ที่มีแผลไฟไหม้ทั้งที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ MRSA
ผลการศึกษาพบว่าอนุภาคนาโนของเคอร์คูมินไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อปลาม้าลาย อนุภาคนาโนเคอร์คูมินยังแสดงฤทธิ์ฆ่าเชื้อทั้งสองชนิดในหลอดทดลองได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อในแผลไฟไหม้ของหนูทดลอง หนูทดลองที่ได้รับอนุภาคนาโนเคอร์คูมินมีแผลไฟไหม้ติดเชื้อ MRSA น้อยกว่าหนูทดลองในกลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับการรักษาอะไร หรือได้รับแต่อนุภาคนาโนที่ไม่มีเคอร์คูมิน) ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ MRSA ของเคอร์คูมินในอนุภาคนาโนยังดีกว่าการใช้เคอร์คูมินเดี่ยวๆ อีกด้วย เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพในการทำให้แผลไฟไหม้สมานตัว อนุภาคนาโนเคอร์คูมิน ก็ยังทำให้แผลสมานตัวได้เร็วสุดอีกด้วย และยังช่วยในการสร้างคอลลาเจนและหลอดเลือดฝอยตรงบริเวณแผลได้ดีสุดอีกด้วย
เคอร์คูมินเป็นสารที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียผ่านหลายกลไกด้วยกัน ในขณะที่ยาปฏิชีวนะที่ใช้กันในแผนปัจจุบัน จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อด้วยกลไกใดเพียงกลไกหนึ่ง อย่างไรก็ตามคุณสมบัติทางกายภาพของเคอร์คูมิน ได้ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดของการใช้เคอร์คูมินในทางคลินิก คุณสมบัติเหล่านี้ ได้แก่ เคอร์คูมินละลายน้ำได้น้อยมาก และสลายตัวในร่างกายได้เร็วมาก การนำเคอร์คูมินมาอยู่ในรูปอนุภาคนาโน ช่วยให้เคอร์คูมินถูกดูดซึมได้ดีขึ้น และไปถึงบริเวณที่ต้องการออกฤทธิ์ได้ดีขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้การใช้เคอร์คูมินในรูปอนุภาคนาโนยังไม่ได้ทำให้เกิดสีเหลืองตรงบริเวณที่ทาอีกด้วย
ทางเลือกที่ทรงพลังจึงไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่เสมอไป ขอเพียงนำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ มาปรับปรุงให้ดีขึ้น เท่านี้ก็อาจจะได้ทางเลือกที่ดีก็เป็นได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)