Haijai.com


แม่ตั้งครรภ์กับโรคอีสุกอีใส


 
เปิดอ่าน 10315

แม่ตั้งครรภ์กับโรคอีสุกอีใส

 

 

อีสุกอีใส คืออะไร ?

 

อีสุกอีใส หรือ โรคสุกใส (chickenpox) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Varicella-zoster virus (HZV) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด สามารถติดต่อได้หลายทาง เช่น โดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง สัมผัสกับของใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ จากตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใส หรือจากการสูดหายใจเอาละอองเชื้อโรคของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าไปทางเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อโรคมีระยะฟักตัวนาน 10-20 วัน ในกรณีที่โรคสุกใสเกิดขึ้นตั้งแต่แรกคลอด จะเรียกว่า congenital varicella syndrome ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยมารดาติดเชื้อไวรัสสุกใสขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อในช่วง 3 เดือน ของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ได้สูง

 

 

อาการอีสุกอีใส เป็นอย่างไร ?

 

โรคนี้มักจะพบในเด็กวัยเรียนมากกว่ากับผู้ใหญ่ แต่ในผู้ใหญ่มีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตมากกว่าในเด็ก โดยเฉพาะปอดอักเสบ พบได้บ่อย อาการของโรค คือ มักจะมีไข้ต่ำๆ นำมาก่อนสัก 1-2 วันแล้วค่อยมีผื่นขึ้น ลักษณะของผื่น และตุ่ม มักจะขึ้นตามไรผม หรือหลังก่อน จะเห็นเป็นตุ่มน้ำใสๆ บนฐานสีแดง เหมือนหยาดน้ำค้างบนกลีบกุหลาบ (dewdrops on a rose petal) แล้วค่อยลามไปบริเวณหน้าลำตัว และแผ่นหลัง มีอาการปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย คล้ายอาการของไข้หวัดใหญ่ บางคนอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอ และหลังหูโตขึ้น จนคลำได้ก้อนกดเจ็บ บางรายอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ผื่น ตอนเป็นตุ่มน้ำจะรู้สึกคันมาก โดยตุ่มจะทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน หลังจากนั้นจะพัฒนาไปเป็นตุ่มหนอง และแห้งลงจนตกสะเก็ดในที่สุด ลักษณะที่บางเม็ดขึ้นเป็นตุ่มน้ำใสๆ และบางเม็ดกลายเป็นตุ่มกลัดหนอง จึงทำให้คนสมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่า อีสุกอีใส

 

 

ถ้าเป็นอีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์มีอันตรายต่อมารดาอย่างไร ?

 

การเป็นอีสุกอีใสอาจจะดูไม่ร้ายแร ในเด็กทั่วไปแต่ในผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นอีสุกอีใส ส่วนใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงได้มากกว่า โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ ซึ่งมีภาวะภูมิคุ้มกันที่ลดลงจากการตั้งครรภ์ พบว่าความรุนแรงของการติดเชื้ออีสุกอีใสยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะอายุครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอดจะยิ่งอันตราย ซึ่งส่วนใหญ่ ร้อยละ 40 จะมีปัญหาภาวะปอดอักเสบ หรือปอดบวม ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว บางรายอาจจะมีอาการทางสมอง ทำให้ซึมลง และมีอาการชัก ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่ และทารกในครรภ์

 

 

ถ้าเป็นอีสุกอีใสขณะตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร ?

 

ระยะอันตรายที่มารดาเกิดการติดเชื้อที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

 

 การติดเชื้อในครรภ์ โดยทารกในครรภ์มีโอกาสติดได้ร้อยละ 10 เท่าๆ กันทุกไตรมาส โดยเฉพาะในไตรมาสแรก อาจทำให้ทารกเกิดความพิการก่อนกำเนิดได้ เช่น ความผิดปกติของตา (ต้อกระจก) สมอง(ปัญญาอ่อนศีรษะขนาดเล็ก เนื้อสมองเหี่ยวลีบ) แขนขาลีบเล็ก และผิวหนังผิดปกติ (แผลเป็นตามตัว) ที่เรียกว่า congenital varicella syndrome รายที่มีการติดเชื้อรุนแรง อาจทำให้อัตราการตายในระยะแรกคลอดสูง ยังพบว่าในหลายรายทำให้มีการคลอดก่อนกำหนดได้ด้วย

 

 

 การติดเชื้อปริกำเนิด อาจติดเชื้อผ่านทางมดลูก และช่องทางคลอด โดยมีความเสี่ยงสูงในรายที่มารดาเป็นอีสุกอีใสในระยะก่อนคลอด 5 วัน และหลังคลอด 2 วัน เนื่องจากถ้ามารดาเป็นโรคก่อนคลอด 5 วัน จะยังไม่มีภูมิคุ้มกัน (Antibody) ในมารดามากพอที่จะส่งไปช่วยป้องกันในลูก และถ้าอาการเกิดใน 2 วันหลังคลอด แสดงว่าปริมาณเชื้อสูงตั้งแต่ช่วงที่คลอด และทารกได้รับเชื้อไปตั้งแต่ก่อนคลอดแล้ว ซึ่งอัตราเสียชีวิตของทารกที่ติดเชื้อในระยะดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 20-30

 

 

การรักษาอีสุกอีใส ทำได้อย่างไร ?

 

เนื่องจากอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายเองได้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค โดยต้องไม่วิตกกังวล หรือกลัวจนเกินไป ว่าเป็นโรคที่หายเองได้ การดูและผิวในระยะที่มีผื่นอย่างถูกต้อง เช่น ทำความสะอาดแผลให้ดี และป้องกันการติดเชื้อของเชื้อแบคทีเรียที่แผล โดยไม่แกะหรือเกาแผล เมื่อหายจากโรค จะไม่มีร่องรอยแผลเป็นเกิดขึ้น

 

 

การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การนอนพักผ่อนให้มากๆ และดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้ ใช้ยาลดไข้ในกลุ่มพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยาในกลุ่มแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิด Reye’s syndrome ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ควรอาบน้ำ และใช้สบู่ฟอกผิวหนังให้สะอาด ควรตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการแกะเกา เพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียทีแผลที่เกาได้ ในรายที่มีอาการคัน ให้ยาแก้คัน เช่น คลอเฟนิรามีน หรือ ซีพีเอ็ม ช่วยลดอาการคันได้ หรือทายา คาลาไมน์ แก้คันก็ได้

 

 

การรักษาแบบเจาะจง คือการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสอีสุกอีใส ซึ่งควรจะให้ในระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง หลังมีผื่นขึ้น ซึ่งการให้ยาในช่วงนี้สามารถทำให้ระยะเวลาของโรคสั้นลง แผลตกสะเก็ดเร็วขึ้น โอกาสการเกิดแผลติดเชื้อหรือแผลที่ลึกมากก็น้อยลง อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้ก็มีราคาแพงมาก การพิจารณาเลือกใช้ยากลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วย ส่วนในรายที่ตั้งครรภ์ การใช้ยาต้านไวรัสขณะตั้งครรภ์ ยังมีการศึกษาน้อย การให้ยา จึงควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เป็นรายๆ ไป ส่วนทารกที่คลอดในระยะเวลา

 

 

มีวิธีป้องกันโรคนี้ได้หรือไม่ ?

 

การป้องกันโดยไม่ไปสัมผัสโรค เช่น หลีกเลี่ยงคนที่ป่วยเป็นอีสุกอีใส แต่เนื่องจากการติดต่อของอีสุกอีใสนั้น เริ่มได้ตั้งแต่ 2-3 วันก่อนที่จะมีผื่นขึ้น และตลอดเวลาที่กำลังมีผื่นตุ่มสุกใสอยู่ จนกว่าตุ่มเหล่านี้จะแห้งกลายเป็นสะเก็ด จึงจะพ้นระยะติดต่อ จึงเป็นการยากที่จะรู้ว่าใครติดเชื้อตั้งแต่ระยะยังไม่มีผื่นขึ้น ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิตที่นำมาทำให้อ่อนกำลังลง และนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยไม่ทำให้เกิดโรคขึ้น และสามารถป้องกันการติดเชื้ออีสุกอีใส เมื่อได้รับเชื้อจากผู้อื่นที่เป็นโรค ในสหรัฐอเมริกา วัคซีนนี้ ได้ถูกบรรจุให้อยู่ในตารางการให้วัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก แต่ในประเทศไทย เนื่องจากวัคซีนอีสุกอีใส มีราคาค่อนข้างสูง จากรายงานทางระบาดวิทยาพบ ว่า 50 % ของอีสุกอีใสเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง จึงยังไม่กำหนดให้เป็น วัคซีนที่บังคับฉีดในเด็กไทย อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำว่า สำหรับเด็กไทยที่อายุอยู่ในช่วง 10-12 ปี ถ้ายังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ก็น่าจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เนื่องจากในวัยเด็กช่วง อายุ 1-12 ปี การสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย จะตอบสนองกับวัคซีนได้ดี การได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว ก็เพียงพอแล้ว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แต่สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม ใน ระยะห่าง 4-8 สัปดาห์ จึงเพียงพอที่จะกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้สูงพอที่ จะป้องกันโรค ส่วนผู้ที่เคย เป็นอีสุกอีใสมาแล้ว จะมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องฉีดวัคซีนอีกสำหรับผู้ใหญ่ต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 1 เดือน และควรรออย่างน้อยอีก 1-3 เดือน จึงจะเริ่มตั้งครรภ์ได้ ผลข้างเคียงที่ อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน พบว่าอาจมีไข้หรืออาการร้อนแดงตรงตำแหน่งที่ฉีดยา (5 %) อาจมีผื่นคล้ายผื่นอีสุกอีใสเกิดขึ้น แต่ไม่รุนแรง (3-4 %) แต่ส่วนใหญ่ของ ผู้รับวัคซีนไม่พบความผิดปกติใดๆ

 

 

Tips : ควรรู้เกี่ยวกับโรคอีสุกอีใส

 

 

 โรคนี้เมื่อเป็นแล้วอาจมีโอกาสเป็น งูสวัด ได้ในภายหลัง อีสุกอีใสกับงูสวัดนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน พอเป็นอีสุกอีใสแล้ว ร่างกายเราสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้ออีสุกอีใส ตัวไวรัสก็ไม่ได้ตายไปเสียทั้งหมด แต่มีบางส่วนไปหลบอยู่ตามปมประสาทตามแนวไขสันหลัง พอร่างกายมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อไวรัสก็ออกมาอาละวาดใหม่ เพียงแต่ออกมาทางเส้นประสาท ที่ไปเลี้ยงผิวหนังทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังเป็นงูสวัดให้เห็น

 

 

 ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากเพื่อป้องกันการติดต่อ โดยระยะแพร่เชื้อจะเริ่มตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ก่อนที่ผื่นหรือตุ่มแห้งหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6-7 วัน

 

 

 ไม่มีของแสลง

 

 

 ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรค อีสุกอีใส แล้ว ห้ามให้วัคซีนแก่คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไม่ควรจะฉีดวัคซีนให้กับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่สำหรับหญิงที่ยังไม่ตั้งครรภ์ สามารถรับวัคซีนได้ โดยวัคซีนอีสุกอีใสในผู้ใหญ่ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 1 เดือน และควรที่จะรออย่างน้อยอีก 1-3 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีนครบตามกำหนด ก่อนที่จะเริ่มปล่อยให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น

 

 

 เมื่อเป็นอีสุกอีใสแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้

 

 

Tips : ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนอีสุกอีใส (จากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย)

 

 

 ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดเข็มแรกอายุ 12-18 เดือน

 

 

 อาจพิจารณาให้ฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี อาจฉีดเข็มที่ 2 ก่อนอายุ 4 ปีได้ในกรณีที่มีการระบาด โดยต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน

 

 

 พิจารณาให้ฉีดวัคซีนนี้ แก่เด็กทุกคนที่อายุมากกว่า 1 ปีที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส

 

 

 ถ้าอายุมากกว่า 13 ปี ให้ฉีดสองเข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

 

 

 ในกรณีที่ต้องการฉีดวัคซีน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม และอีสุกอีใสในเวลาเดียวกัน สามารถใช้วัคซีนรวม หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส (MMRV) แทนการฉีดแบบแยกเข็มได้ในทุกครั้ง ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 – 12 ปี การใช้วัคซีนรวม MMRV ที่อายุ 4-6 ปีแทนการฉีดวัคซีนแบบแยกเข็มพบมีอาการข้างเคียงไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีการใช้วัคซีนรวม MMRV ในเด็กอายุ 12-23 เดือน ทำให้มีโอกาสเกิดการชักจากไข้ได้มากกว่าการฉีดแยกเข็ม สำหรับกรณีที่เคยได้วัคซีน MMR หรือ VZV มาก่อน แนะนำให้วัคซีนรวม MMRV ห่างจากวัคซีน MMR ครั้งก่อน อย่างน้อย 1 เดือน และห่างจากวัคซีน VZV ครั้งก่อน อย่างน้อย 3 เดือน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)