© 2017 Copyright - Haijai.com
การนอนของทารกน้อยยามหลับใหล
ทารกแรกเกิด เราจะพบว่าลูกนอนหลับอยู่ตลอดเวลา จะตื่นขึ้นมาก็เพื่อกินนมแม่เท่านั้น แม้บางครั้งเราก็อยากที่จะชื่นชม พูดคุยเล่นกับลูก แต่พอหันมาหาทีไรก็เจออยู่ในท่านอนหลับตาพริ้มอยู่ตลอดเวลา ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ คำตอบง่ายมากคะ นั่นเป็นเพราะว่าการนอนคือสิ่งเดียวที่ลูกจะทำได้ในช่วงวัยทารก เพราะการนอนที่ยาวนานนี้ จะค่อยๆ ลดชั่วโมงการนอนหลับลงหลังจากที่มีพัฒนาการที่โตขึ้นในช่วงอายุที่มากขึ้น
การนอนของทารกแต่ละคนจะแตกต่างกันไปชนิดที่คุณหรือตัวลูกเองก็บังคับควบคุมไม่ได้ ในระหว่างเดือนแรกเกิดนั้น รูปแบบการนอนของทารก จะเป็นเสมือนเงาสะท้อนของพัฒนาการส่วนบุคคลของทารกแต่ละคน เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถฝึกการนอนได้เมื่อตัวเองเหนื่อยอ่อน แล้วก็ไม่สามารถหลับอยู่ได้ถ้าท้องหิว ในระยะเดือนแรกเกิดไปจนถึง 6 สัปดาห์ ปัญหาเรื่องการนอนของทารกมักเกิดจากความหิว หรือเรื่องการย่อยอาหารมากกว่าเรื่องใดๆ ปัสสาวะเปียกชื้นแฉะอาจทำให้ตื่นขึ้นมาได้ จนกว่าจะชินกับการแช่อยู่กับความเปียกชื้น ความเจ็บไข้ได้ป่วย และผื่นคันจากผ้าอ้อมก็เป็นสาเหตุให้เด็กตื่นได้เช่นกัน
การนอนของทารกจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ในทั้งคุณภาพและปริมาณการนอนหลับ ทารกจะมีช่วงเวลาการนอนหลับไม่สนิท(คือลูกตาก็ยังเคลื่อนไหวไปมาใต้เปลือกตาในขณะที่หลับอยู่) กับอาการหลับสนิทโดยปราศจากการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวใดๆ ในช่วงเวลาที่หลับไม่สนิทสลับกันไปกับการหลับสนิทครึ่งต่อครึ่ง ทารกจะเปลี่ยนไปมาระหว่างหลับสนิทและตื่นขึ้นมาเป็นระยะ
ความสับสนเรื่องเวลา
ทารกจะยังไม่รู้ว่าเวลากลางคืนมีไว้สำหรับนอนหลับ มีนักค้นคว้าคนหนึ่งซึ่งได้ศึกษานิสัยการนอน และการตื่นของทารกนับร้อยคนสรุปได้ว่า ทารกแรกเกิดยังไม่รู้วงจรเวลากลางวัน และเวลากลางคืนเหมือนกับพ่อแม่ที่รู้ว่าเวลาใดควรนอนหลับพักผ่อน คุณสามารถช่วยให้ลูกได้รู้จักกับเวลากลางวัน และกลางคืนด้วยการให้ความรัก ความเอาใจใส่และกระตุ้นด้วยเสียงดนตรี พูดคุย ให้เล่นของเล่นสีสดใส ปลุกลูกให้ตื่นขึ้นตอนกลางวัน และในช่วงกลางคืนที่คุณเอาลูกนอน ก็ให้พยายามทำในเวลาเดียวกันเป็นกิจวัตรประจำวันทุกคืน เช่น ปิดไฟ ร้องเพลงกล่อม ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีใดก็ให้ใช้วิธีนั้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค่อยๆ ซึมซาบเข้าใจได้ว่านี่คือเวลานอน
รูปแบบการนอนของลูก
ลูกวัยแรกเกิด – 2 เดือน
• ลูกวัยแรกเกิด –2 เดือน จะมีระยะเวลาการนอนที่ยังไม่เป็นเวลา
• 2, 3 สัปดาห์ จะนอนตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงละประมาณ 30 นาที –3 ชั่วโมง และตื่นบ่อยในตอนกลางคืน
• 6 สัปดาห์ รูปแบบการนอนจะเริ่มสม่ำเสมอ และเป็นระเบียบมากขึ้น
ลูกวัยทารก 2 –12 เดือน
• 2 – 4 เดือน ช่วงเวลาการนอนหลัลและเวลาตื่น เป็นช่วงเวลาที่สม่ำเสมอตลอดวัน
• 3 – 6 เดือน เริ่มนอนตอนกลางคืนนานขึ้น
• 1 ขวบ จะนอนตอนกลางวันน้อยลง จาก 3 – 4 ครั้ง เหลือเพียง 1 – 2 ครั้ง
ลูกวัยเตาะแตะ 1 –3 ขวบ
1 ขวบครึ่ง จะเลิกนอนตอนเช้า และมักจะไม่นอนกลางวัน เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง ถึง 5 ขวบ ลูกวัยนี้สามารถนอนหลับตลอดคืนได้แต่การเจ็บป่วย การเดินทาง และการปเลี่ยนที่นอนเป็นนอนบนเตียงอาจเป็นการรบกวนการนอนของลูก
ลูกควรนอนวันละเท่าไหร่ ทั้งกลางคืน กลางวัน ลูกควรหลับกี่ชั่วโมง
ลูกวัยแรกคลอด – 2 เดือน
ระยะเวลาการนอนหลับค่อนข้างกว้างเนื่องจากการนอนที่ไม่สม่ำเสมอชัดเจนจน 2 – 3 สัปดาห์แรก จึงอาจนอนนาน 10.5 – 18 ชั่วโมง เฉลี่ยอยู่ที่ 14.25 ชั่วโมง
ลูกวัยทารกวัย 2 –12 เดือน
นอนหลับในเวลากลางคืนนานขึ้น มีการนอนตอนกลางวันที่ชัดเจน
• เมื่ออายุ 2 เดือน ระยะเวลานอนทั้งหมดโดยเฉลี่ย 14.5 ชั่วโมง กลางคืน 9.5 ชั่วโมง กลางวัน 5 ชั่วโมง
• อายุ 6 เดือน เวลานอนทั้งหมดโดยเฉลี่ย 14.5 ชั่วโมง กลางคืน 11 ชั่วโมง กลางวัน 3.5 ชั่วโมง
• อายุ 12 เดือน ระยะเวลานอนทั้งหมดโดยเฉลี่ย 14 ชั่วโมง กลางคืน 11.5 ชั่วโมง และกลางวัน 2.5 ชั่วโมง
ลูกวัยเตาะแตะ 1 –3 ขวบ
ชั่วโมงการนอนกลางคืนจะนานขึ้น ไม่ตื่นมากวน หรือหิวง่ายๆ และจะนอนกลางวันน้อยลง
• อายุ 1 ขวบ เวลานอนทั้งหมดโดยเฉลี่ยเป็น 14 ชั่วโมง กลางวัน 2.5 ชั่วโมง ส่วนกลางคืน 11.5 ชั่วโมง
• อายุ 3 ขวบ การนอนโดยเฉลี่ยทั้งหมดคือ 13 ชั่วโมง กลางคืน 11.5 ชั่วโมง และกลางวัน 1.5 ชั่วโมง
Expectant Mothers Ask
Q : ผลกระทบของการนอนต่อลูก มีผลทางด้านใดบ้าง
A : การนอนที่ไม่เพียงพอ หรือมีสิ่งรบกวนการนอนของลูกจะส่งผลต่อการนอนของลูก คือ
1.อารมรณ์และพฤติกรรม(EQ) การนอนหลับไม่เพียงพอต่อการทำงานของระบบประสาท โดยก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น กระสับกระส่าย งอแง ร้องไห้มากเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมในทางที่ไม่ดี เลี้ยงยาก เหม่อลอย สมาธิสั้น ความจำบกพร่อง
2.พัฒนาการทางร่างกาย(Growth Development) กระบวนการสร้างฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตจะหยุดชะงัก ระบบต่อมไร้ท่อและระบบเผาผลาญอาหาร ทำงานไม่มีประสิทธิภาพทำให้เด็กโตช้า พัฒนาการช้ากว่าคนอื่น ภูมิต้านทานน้อย มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ง่าย สุขภาพไม่ดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)