Haijai.com


แม่ตั้งครรภ์เตรียมใจรับมือกับภาวะหลังคลอด


 
เปิดอ่าน 5676

คุณแม่ตั้งครรภ์เตรียมใจรับมือกับภาวะหลังคลอด

 

 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่ที่ได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ผ่านช่วงเหตุการณ์ที่สุดแสนจะมหัศจรรย์ที่สุดในชีวิตตั้งแต่ได้ตั้งครรภ์ และได้ดูแลรักษาครรภ์ จนถึงวันที่คุณแม่ตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอดบุตร

 

 

เมื่อสมาชิกใหม่ได้เกิดขึ้นมา ก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสรีระร่างกาย จิตใจ ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ ก็มากขึ้นด้วย

 

 

 และจุดนี้เองได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สรีระของคุณแม่หลังคลอดจะค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติ  พร้อมกับน้ำหนักของคุณแม่หลังคลอด ส่วนใหญ่แล้วจะลดลงเพียง 3-4 กิโลกรัม เป็นช่วงที่คุณแม่หลังคลอดใหม่ๆ จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งร่างกายของคุณแม่กลับสู่สภาวะปกติดังเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับการดูแลตัวเอง การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารของคุณแม่

 

 

ในช่วงหลังคลอดนี้ แพทย์จะไม่แนะนำให้คุณแม่ควบคุมอาหาร แต่จะแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่ ประกอบไปด้วย วิตามิน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต นม  เกลือแร่ โปรตีน  และควรที่จะรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก เพื่อที่สารอาหารเหล่านี้ จะได้ไปทดแทนภาวะการเสียเลือดหลังคลอด และการให้นมบุตร

 

 

น้ำคาวปลาของคุณแม่จะมีประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 2 เดือน โดยเริ่มจากสีแดง และจางลงเรื่อยๆ จนเป็นสีเหมือนน้ำเหลือง และแห้งไปในที่สุด

 

 

กรณีที่คุณแม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 1 ชั่วโมง เป็นเวลาติดต่อกันถึง 3-4 ชั่วโมง หรือกรณีที่ปริมาณเลือดได้ออกมาเป็นก้อน หรือหลังจากที่คุณแม่คลอดบุตรไปแล้ว 4 วัน เลือดก็ยังมีสีแดงอยู่ หรือคุณแม่มีอาการวิงเวียนศีรษะ ลุกขึ้นแล้วหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม แสดงว่าคุณแม่อาจจะมีอาการของการตกเลือดหลังคลอด ซึ่งคุณแม่จำเป็นที่จะต้องรีบไปปรึกษาแพทย์โดยทันที ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำคาวปลาและมีกลิ่นผิดปกติ หรือปัสสาวะขัด มีไข้ ปวดท้อง  ปวดเอว ก็จำเป็นต้องกลับไปปรึกษากับแพทย์โดยทันที เพราะอาจจะมีการอักเสบที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา

 

 

เมื่อหลังคลอด

 

 ขนาดมดลูกของคุณแม่หลังคลอดจะค่อยๆ ลดขนาดลงจนถึงขนาดปกติ ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ ขนาดของมดลูกของคุณแม่หลังคลอดจะอยู่ในระดับสะดือ และเมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ ขนาดของมดลูกจะลดขนาดลงอีกครึ่งหนึ่ง 

 

 

 คุณแม่หลังคลอดอาจจะมีอาการปวดบริเวณมดลูก ในขณะที่มดลูกมีการบีบตัว เพื่อลดขนาดลง เรียกว่า After pain และจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อลูกดูดนมอาจจะีมีการปวดมาก เนื่องจากฮอร์โมนออกซีโตซีน ได้หลั่งออกมาในการช่วยขับน้ำนมและมีฤทธิ์ในการบีบมดลูกด้วย

 

 

 คุณแม่หลังคลอดอาจจะมีอาการปวดเมื่อยร่างกายตามแขนและขา เนื่องมาจากระหว่างการคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์ได้มีการบิดเกร็งอยู่ในบางอิริยาบทนานจนเกินไป และในเวลาผ่านไป อาการเหล่านี้จะหายไปเอง

 

 

คุณแม่หลังคลอดบางคนอาจจะมีอาการเลือดออกใต้ตา หรือบริเวณบนใบหน้าอาจจะมีเลือดคั่ง อันเนื่องมาจากการออกแรงเบ่งคลอด ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

 

 

การที่คุณแม่หลังคลอดถ่ายปัสสาวะและอุจจาระลำบาก อาการเช่นนี้จะเกิดขึ้นหลังคลอด แต่สามารถแก้ไขได้โดยการดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง

 

 

การเจ็บปวดจากแผลฝีเย็บของคุณแม่หลังคลอด ซึ่งสามารถบรรเทาอาการ ได้โดยการนั่งแช่น้ำอุ่น หรือ อบแผลด้วยความร้อน หรือ รับประทานยาแก้ปวด 

 

 

 คุณแม่หลังคลอดอาจจะมีอาการคัดเต้านมมากในวันที่ 3 หรือ 4 หลังจากคลอดบุตร ซึ่งแสดงว่าน้ำนมของคุณแม่เริ่มมีมากขึ้น คุณแม่สามารถที่จะระงับอาการปวดได้ โดยการอาบน้ำอุ่น หรือปั๊มนมออก หรือ ใช้แผ่นเย็นวาง 

 

 

 คุณแม่หลังคลอดอาจจะมีอาการเจ็บปวด เนื่องจากการแยกกันของกระดูกบริเวณหัวหน่าว หรือก้นกบ แต่อาการสามารถหายได้ โดยกายภาพบำบัดหรือรับประทานยาแก้ปวด  เมื่อคุณแม่กลับไปถึงบ้าน จะพบว่า การดำเนินชีวิตทุกอย่างในวันนี้ ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปจากเมื่อวันก่อน ขอให้คุณแม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด  เด็กทารกส่วนใหญ่ มักจะนอนในช่วงเวลากลางวันและมักจะตื่นในช่วงเวลากลางคืน และจะสามารถปรับตัวได้เองในเวลา 1-3 เดือน

 

 

ถ้าคุณแม่มีคุณพ่อ หรือญาติพี่น้องคอยช่วยเหลือ คุณแม่จะผ่านช่วงนี้ไปได้อย่างมีความสุข

 

 

 คุณแม่ในช่วงหลังคลอดบุตร อาจพบกับภาวะอาการซึมเศร้า เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย และจะหายไปได้เองในเวลาต่อมา ยกเว้นในคุณแม่บางท่าน ถ้ามีอาการซึมเศร้านานเกินกว่า 10 วัน อาจจะต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งจะสามารถหายไปได้เอง ยกเว้นในบางรายถ้าเป็นนานเกินกว่า 10 วัน อาจจะต้องไปปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับการช่วยเหลือ

 

 

คุณแม่หลังคลอดควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่ และฮอร์โมนที่กำลังเปลี่ยนแปลง กลับสู่สภาวะเป็นปกติก่อน และแผลหายสนิท เพราะก่อนหน้านั้นอาการอักเสบของแผลก็ยังไม่หายเป็นปกติ ไม่มีน้ำหล่อลื่น ผนังช่องคลอดจะบาง อันเนื่องมาจากผลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

 

 

ประจำเดือนจะมาเร็ว ถ้าคุณแม่ไม่ได้ให้นมบุตร ประจำเดือนอาจจะมาในเดือนแรกหลังคลอดบุตร และคุณแม่ที่ให้นมบุตร ประจำเดือนอาจจะไม่มานานถึง 6 เดือน จนถึง 1 ปี แต่ในระหว่างนี้ คุณแม่สามารถที่จะตั้งครรภ์อีกครั้งได้ เพราะรังไข่ของคุณแม่นั้น ยังสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ถึงคุณแม่จะไม่มีประจำเดือนมาเลยก็ตาม ฉะนั้น แพทย์จะนัดคุณแม่มาตรวจหลังคลอด เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูก และให้คำปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็น ยาฉีด ห่วงอนามัย ถุงยางอนามัย แผ่นแปะคุมกำเนิด และยาเม็ดคุมกำเนิด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคุณแม่แต่ละท่านๆ ไป

 

 

พญ. กิตติกานต์ นิ่มตระกูล

(Some images used under license from Shutterstock.com.)