Haijai.com


ปฏิสนธิ เรื่องมหัศจรรย์ของชีวิตแม่ตั้งครรภ์


 
เปิดอ่าน 3954

ปฏิสนธิ เรื่องมหัศจรรย์ของชีวิตแม่ตั้งครรภ์

 

 

การกำเนิดเกิดขึ้นของอีกหนึ่งชีวิตน้อยๆ กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ มาดูกันคะว่าหนึ่งชีวิตน้อยๆ นี้มีเส้นทางการเดินทางมาได้อย่างไร และน่ามหัศจรรย์เพียงไร

 

 

การเดินทางของอสุจิ

 

หลังจากที่ฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิ ซึ่งมีอสุจิจำนวนมากมายหลายร้อยล้านตัว เข้าสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงแล้ว อสุจิจะแหวกว่ายผ่านมูกบริเวณช่องคลอดไปสู่ปากมดลูก ซึ่งมีความบางและยืดหยุ่นได้ดีในช่วงที่ไข่ตกแล้วว่ายต่อไปยังโพรงมดลูก ผ่านท่อนำไข่ไปยังปีกมด โดยทั่วไปอสุจิจะแหวกว่ายต่อด้วยความเร็ว 2 - 3 มิลลิเมตรต่อนาที แต่จะว่ายช้าลงในช่วงที่ผ่านช่องคลอดที่มีสภาพเป็นกรด และจะว่ายเร็วขึ้นเมื่อผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกที่มีสภาพเป็นด่าง ซึ่งกว่าอสุจิจะเดินทางไปถึงปีกมดลูก จำนวนอสุจิก็จะลดลงเป็นจำนวนมาก ทำให้เหลืออสุจิจำนวนไม่มากที่มีโอกาสจะว่ายเข้าไปถึงไข่ และจะมีอสุจิเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่สามารถเจาะเข้าไปในฟองไข่ได้สำเร็จ หลังจากเจาะเข้าไปได้แล้ว อสุจิจะสลัดหางทิ้งไป และย่อยส่วนหัวเพื่อปล่อยโครโมโซมทั้ง 23 แท่งที่บรรจุอยู่ภายในให้เข้าไปสู่ไข่ เพื่อจับคู่กับโครโมโซมอีก 23 แท่งในฟองไข่ และรวมตัวกันกลายเป็นเซลล์ 1 เซลล์ ก็เป็นอันว่าเกิดการปฏิสนธิขึ้นแล้ว

 

 

พัฒนาการของเซลล์และการเดินทางของไข่

 

หลังจากมีการปฏิสนธิขึ้นจนเกิดเป็นเซลล์แล้ว เซลล์จะมีการแบ่งตัวแบบทวีคูณอย่างรวดเร็ว จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ไปเรื่อยๆ จนมีหลายร้อยเซลล์ และในเวลาเดียวกันนั้นเอง ไข่ที่ได้รับการผสมและกลายเป็นตัวอ่อนก็จะค่อยๆ เคลื่อนไปฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อตัวอ่อนสามารถฝังตัวลงในเยื่อบุโพรงมดลูกได้อย่างมั่นคงดีแล้ว จึงจะถือว่าการปฏิสนธิครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นตัวอ่อนจะค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์ ก็จะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และพร้อมที่จะคลอดออกมาสู่โลกภายนอก

 

 

4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

 

เมื่อเกิดการปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ ว่าที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัวจนกระทั่งประจำเดือนขาดหายไป ซึ่งเมื่อไปตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเองถึงได้รู้ว่าคุณกำลังจะได้เป็นคุณแม่แล้ว ในช่วงนี้ตัวอ่อนจะมีขนาดประมาณ 0.36 - 1 มิลลิเมตร เมื่อวัดจากส่วนบนสุดของศีรษะไปถึงส่วนก้น ศีรษะของตัวอ่อนจะมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับลำตัว เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 จะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำมาห่อหุ้มตัวอ่อนเอาไว้ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน ข้างๆ ตัวอ่อนจะมีถุงไข่แดง ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นเลือดเล็กๆ มากมาย ทำหน้าที่ให้อาหารกับตัวอ่อนในขณะที่ยังไม่สามารถดูดซึมอาหารเองได้ จนกระทั่งตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นก็จะเปลี่ยนมาใช้รกในการดูดซึมอาหารจากแม่มาเลี้ยงร่างกายแทน ในส่วนของตัวอ่อนเองจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น เนื้อเยื่อชั้นในจะพัฒนาเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ และต่อมไทรอยด์ เป็นต้น  เนื้อเยื่อชั้นกลางจะพัฒนาเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก กระดูกอ่อน หลอดเลือด และไต ส่วนเนื้อเยื่อชั้นนอกจะพัฒนาเป็นสมอง ระบบประสาท ผิวหนัง และเส้นผม

 

 

ความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

 

ในช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์คุณแม่จะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านรูปร่างแต่จะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของคุณแม่ เช่น มีอาการเจ็บคัดเต้านม คลื่นไส้ อาเจียนเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีอาการท้องผูก อารมณ์แปรปรวนง่าย และเบื่ออาหาร เป็นต้น

 

 

ในช่วงนี้คุณแม่ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และเพื่อการเสริมสร้างร่างกายของลูกน้อยในครรภ์ อย่าออกกำลังกายหักโหม หรือทำงานหนัก โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการแท้งได้

 

 

Expectant Mothers Ask

 

Q : การรับประทานอาหารในหญิงตั้งครรภ์ ในหนึ่งวันควรมีกี่มื้อคะ เพราะสังเกตได้ว่าเวลาที่ตั้งครรภ์มักจะหิวบ่อย

 

A : ที่จริงแล้วหลักการในการรับประทานอาหารของสตรีตั้งครรภ์นั้น ควรรับประทานให้ได้สารอาหารในระดับที่พอเพียงต่อเนื่องจะดีกว่าการรับประทานอาหารมื้อละมากๆ วันละน้อยครั้ง เพราะฉะนั้นคำตอบก็คือควรรับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ เคี้ยวให้ละเอียดเพื่อช่วยการย่อยอาหาร เพราะสตรีตั้งครรภ์มักจะย่อยอาหารยาก เมื่อรู้สึกอิ่มให้หยุดรับประทาน เมื่อหิวใหม่ก็รับประทานใหม่แบบนี้จะดีที่สุด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)