© 2017 Copyright - Haijai.com
ตั้งครรภ์แฝด ต้องดูแลอย่างไร
การตั้งครรภ์แฝดเป็นสิ่งที่หลายๆ ครอบครัวแอบคาดหวังลึกๆ เพราะถ้าตั้งครรภ์เพียงหนึ่งครั้งแต่ได้ลูกมากกว่าหนึ่งคน เปรียบเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว สามตัว หรือสี่ตัว ซึ่งบางคนก็รู้สึกสบายที่ไม่ต้องอุ้มท้องหลายครั้ง และเจ็บตัวคลอดหลายครั้ง เด็กที่ออกมาก็หน้าตาเหมือนๆ กัน เวลาเข็นรถไปไหนก็ดูน่ารักมีแต่คนเข้ามาทักทาย
แต่ในความจริงหารู้ไม่ว่า แม่ท้อง ตั้งครรภ์แฝดทางการแพทย์ ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมดลูกของมนุษย์ ถูกออกแบบมารองรับการตั้งครรภ์เพียงครั้งละ 1 คน การมีครรภ์แฝดเกิดขึ้นอาจมีปัญหาต่างๆ ตามมาได้สูงขึ้น เช่น การแท้งบุตร การเกิดการคลอดก่อนกำหนด การเจริญเติบโตช้า หรือแย่งอาหารกันของทารกในครรภ์ รวมถึงการเกิดครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อแม่และเด็ก
ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์สูงขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในการช่วยเรื่องการมีบุตรยาก เช่น การใช้ยากระตุ้นไข่ ทำให้ได้ไข่ที่สุกพร้อมกันครั้งละหลายๆ ใบ ทำให้อัตราการตั้งครรภ์ และเป็นครรภ์แฝดสูงขึ้น ดังที่ผ่านมาที่จังหวัดนครสวรรค์ที่มีคุณแม่ให้กำเนิดลูกแฝด 5 ที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วเช่นกัน
ชนิดของครรภ์แฝด
1.แฝดแท้ (Identical twins หรือ Monozygotic twins) เกิดจากไข่ใบเดียว และอสุจิตัวเดียว เมื่อผสมแล้วจึงมีการแบ่งแยกเป็นทารกสองคน เพศและหน้าตาจึงเหมือนกันทุกประการ แฝดชนิดนี้พบอุบัติการณ์ ได้เท่ากันๆกันทุกเชื้อชาติ ประมาณ 1 ต่อ 250 ของการตั้งครรภ์
2.แฝดเทียม (Fraternal twins หรือ Dizygotic twins) เกิดจากไข่มากกว่า 1 ใบ และอสุจิมากกว่า 1 ตัว จึงได้ทารกหลายคน แฝดชนิดนี้หน้าตาไม่เหมือนกันเลยที่เดียว และมีทั้งโอกาสที่เป็นเพศเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้แฝดชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าโดยปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดแฝดชนิดนี้เพิ่มขึ้น คือ ประวัติกรรมพันธุ์แฝดในครอบครัว เชื้อชาติ(โดยเฉพาะหญิงผิวดำ) แม่ที่อายุมาก และเป็นครรภ์หลังๆมีโอกาสเกิดได้สูงกว่า ภาวะโภชนาการที่ดี หรือ ที่พบได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน คือได้รับยากระตุ้นการตกไข่ และการทำเด็กหลอดแก้ว
การเรียกชื่อครรภ์แฝด
จำนวน |
เรียกว่า |
แฝดสอง |
Twins |
แฝดสาม |
Triplets |
แฝดสี่ |
Quadruplets |
แฝดห้า |
Quintuplets |
แฝดหก |
Sextuplets |
แฝดเจ็ด |
Septuplets |
แฝดแปด |
Octuplets |
แฝดเก้า |
Nonuplets |
แฝดห้า |
Decaplets |
** การตั้งครรภ์ที่บันทึกเป็นสถิติครรภ์แฝดที่จำนวนมากที่สุดและมีชีวิตรอดทุกคน คือ แฝดแปด (Octuplets)
ครรภ์แฝดสอง มีอัตราการเกิดตามธรรมชาติประมาณร้อยละ 1.1 (1 ต่อ 89) แฝดสาม ร้อยละ 0.013 (1 ต่อ 7921) แฝดสี่ ร้อยละ 0.000142 (1 ต่อ 700,000) แต่ปัจจุบันเราพบครรภ์แฝดเหล่านี้ได้บ่อยขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์พัฒนาดีขึ้น จึงมีเด็กแฝดออกมาให้เราเห็นมากขึ้น จึงควรต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากครรภ์แฝดถือว่ามีความเสี่ยงสูงทางการแพทย์ กล่าวคือ มีภาวะแทรกซ้อนได้มากและบ่อยกว่าครรภ์เดี่ยว เช่น การคลอดก่อนกำหนด ในครรภ์เดี่ยวโอกาสเกิดประมาณ ร้อยละ 9.4 ในขณะที่ครรภ์แฝดสอง และแฝดสาม มีโอกาสเกิดถึงร้อยละ 51 และ 91 ตามลำดับ การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุทำให้ทารกตัวเล็ก น้ำหนักตัวจึงน้อย โดยทารกที่คลอดน้ำหนักตัวน้อยมาก (very low birth weight) ในครรภ์เดี่ยวพบได้เพียงร้อยละ 1.1 ขณะที่ครรภ์แฝดสองและแฝดสามพบได้ถึง ร้อยละ 10.1 และ 31.8 ตามลำดับ โอกาสการเกิดความผิดปกติของสมองทารกในครรภ์ (Cerebral palsy) ในครรภ์เดี่ยวพบเพียง 2.3 ต่อ 1,000 คน ขณะที่ครรภ์แฝดสองและแฝดสาม พบถึง 13 และ 45 ต่อ 1,000 คนตามลำดับ ความเสี่ยงการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมทารกครรภ์ เช่น ภาวะดาวน์ ซินโดรม ในครรภ์แฝดก็สูงขึ้น โดยความเสี่ยงในครรภ์เดี่ยวจะสูงขึ้นเมื่อมารดาตั้งครรภ์อายุเกิน 35 ปี (นับถึงวันครบกำหนดคลอด) ในขณะที่ครรภ์แฝดสอง และ แฝดสาม ความเสี่ยงสูงเริ่มที่อายุ 33 และ 28 ปี ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มอายุดังกล่าวควรได้รับคำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetics counseling) เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยโครโมโซมของทารกในครรภ์ (เช่นการเจาะตรวจน้ำคร่ำ)
นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับมารดาได้สูงขึ้น เช่นในครรภ์แฝดโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า การเกิดรกลอกตัวก่อนกำหนดสูงขึ้น 3 เท่า การเกิดภาวะโลหิตจาง สูงขึ้น 2.5 เท่า การเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สูงขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับครรภ์เดี่ยว และโดยเฉพาะในครรภ์แฝดสาม พบความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดถึง ร้อยละ 96 และภาวะแทรกซ้อนในช่วงหลังคลอดถึงร้อยละ 44 จะเห็นว่าถ้าดูตัวเลขต่างๆแล้วหลายคนค่อนข้างกังวลไม่น้อย แต่ไม่ควรตกใจ เพราะถ้ามีการวางแผนที่ดี ในการดูแลครรภ์ดังต่อไปนี้ ก็อาจทำให้ผลการคลอดออกมาเป็นที่น่าพอใจ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ?
การเลือกโรงพยาบาลสำหรับการฝากครรภ์และการคลอด มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะควรเลือกโรงพยาบาลที่มีความสามารถในการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ (High risk pregnancy)โดยเฉพาะสูตินรีแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญในการดูแลครรภ์แฝด มีความพร้อมที่จะดูแลทารกที่อาจคลอดก่อนกำหนด ที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ ได้ ซึ่งต้องอาศัยกุมารแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กอ่อนๆได้ดี และเครื่องมือในการช่วยชีวิตที่พร้อม เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาจต้องการตู้อบ สำหรับปรับอุณหภูมิร่างกาย หรือ ใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะแรก และทีมงานทางสูติกรรม และกุมาเวชกรรมที่มีความพร้อม (โดยรวมคือ มีครบทั้งหมอสูติ หมอผู้ช่วย พยาบาล หมอเด็ก หมอดมยา และเครื่องมือ ตลอดจนถึงห้องคลอด-ห้องผ่าตัด-ห้องเด็กอ่อนที่มีความพร้อม) และถ้าจะให้ดีควรเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน และเดินทางมาสะดวก จะเหมาะสมกว่า เพราะอาจต้องเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยๆ ตามแพทย์นัด และเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะใช้เวลาเดินทางไม่นานจนเกินไป
คุณแม่ครรภ์แฝด ควรฝากท้องบ่อยแค่ไหน ?
การฝากครรภ์ ใกล้เคียงกับครรภ์เดี่ยวทั่วๆ ไป เช่นในไตรมาสแรกๆอาจนัดทุก 4 สัปดาห์ เมื่อครรภ์แก่ขึ้นก็จะเริ่มนัดถี่ขึ้น เป็นทุก 2 สัปดาห์ และ 1 สัปดาห์ตามลำดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยแพทย์ผู้ดูแลจะเป็นผู้พิจารณา โดยการฝากครรภ์แต่ละครั้ง อาจต้องมีการตรวจติดตามการเจริญเติบโตทารกในครรภ์และตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ด้วยเครื่องตรวจอัลตร้าซาวด์ บ่อยกว่าในครรภ์เดี่ยว เพื่อดูการเจริญเติบโต ดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ ตรวจลักษณะเยื่อหุ้มทารก รก และน้ำคร่ำ ซึ่งการตรวจครรภ์แฝดตั้งแต่ไตรมาสแรกจะช่วยแยกชนิดครรภ์แฝดจากการตรวจได้ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับครรภ์แฝดชนิดนั้นๆ เช่น ครรภ์แฝดแท้มีโอกาสเกิดการแย่งอาหารกันของทารกในท้องได้ ทำให้การเจริญเติบโตไม่ไปด้วยกัน ตัวหนึ่งเล็กตัวหนึ่งใหญ่ (Discordance twins or twin-to-twin transfusion syndrome) โดยปกติจะติดตามการตรวจอัลตร้าซาวด์ทุก 3-6 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่พบความผิดปกติ อาจพิจารณาการตรวจถี่ขึ้นเป็นทุก 2-3สัปดาห์ก็ได้ นอกจากนี้อัลตร้าซาวด์ยังสามารถนำมาใช้ในการตรวจประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ การวัดความยาวของคอมดลูก (Cervical length) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย
คุณแม่ครรภ์แฝด ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
มารับการตรวจฝากครรภ์ทุกครั้งตามที่แพทย์นัดหมาย และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น การทานยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กอย่างน้อย 60 มิลลิกรัม โฟลิค 1 มิลลิกรัม ต่อวัน ร่วมกับทานยา แคลเซี่ยมอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนให้มากขึ้น งดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เมื่อพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น อาการตกขาวผิดปกติ คัน หรือ มีกลิ่น อาจมีภาวะช่องคลอดอักเสบ ควรรีบมารับการตรวจ เพราะตกขาว ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เป็นสาเหตุให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ รวมถึงอาการของครรภ์เป็นพิษ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องรีบกลับมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
คุณแม่ครรภ์แฝด คลอดเมื่อไรดี ?
ครรภ์แฝดสอง มากกว่า ร้อยละ 40 และ ครรภ์แฝดสาม มากกว่าร้อยละ 75 มักเกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ (Preterm labor) อายุครรภ์โดยเฉลี่ยของครรภ์แฝดสอง คือ 36 สัปดาห์ และแฝดสาม แฝดสี่ อายุครรภ์เฉลี่ยอยู่ที่ 32 และ 30 สัปดาห์ตามลำดับ แต่ถ้าสามารถอยู่จนครบกำหนดได้ ไม่ควรให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปจนเกินอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ (ในครรภ์เดี่ยวไม่ควรเกิน 42 สัปดาห์) เพราะความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์จะสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีการเสื่อมสภาพของรก จนเกิดภาวะน้ำคร่ำน้อย สายสะดืออาจถูกกดทับ กระทั่งสามารถทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
คุณแม่ครรภ์แฝดคลอดวิธีไหนดี?
ปัจจุบันข้อแนะนำสำหรับการคลอดในครรภ์แฝดสอง สามารถให้คลอดทางช่องคลอดได้ ในกรณีที่ทารกอยู่ในท่าศีรษะทั้งคู่ (Vertex-Vertex presentation) พบได้ร้อยละ 40-45 หรือ ทารกคนแรกอยู่ท่าศีรษะ แต่คนที่สองอยู่ในท่าอื่น (Vertex-Non-vertex presentation) พบได้ร้อยละ 35-40 โดยต้องพิจารณาว่า ถ้าทารกคนที่สองไม่ได้มีขนาดใหญ่กว่าคนแรก และ หมอทำคลอดมีประสบการณ์ด้านการหมุนปรับท่าเด็ก หรือดึงเด็กในครรภ์ทางช่องคลอด (Internal podalic version or total breech extraction) ก็สามารถให้คลอดเองได้ แต่ถ้าแพทย์ไม่มีประสบการณ์ในวิธีการคลอดดังกล่าว สามารถตัดสินใจผ่าตัดคลอดได้ ส่วนถ้าเด็กทารกคนแรกไม่ได้เอาศีรษะลง (Non-vertex first twin) พบร้อยละ 15 ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัดคลอด และครรภ์แฝดอื่นๆตั้งแต่ แฝด 3 ขึ้นไป แนะนำให้ผ่าตัดคลอดทั้งหมด
ต้องระวังอะไรบ้างช่วงหลังคลอด ?
อาการตกเลือดหลังคลอดเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากมดลูกถูกยืดขยายออกมาก อาจให้ให้มีการหดตัวไม่ดีหลังคลอด ซึ่งจะตามมาด้วยอาการตกเลือดหลังคลอด คนไข้บางคนเสียเลือดมากจนควบคุมไม่อยู่ หมออาจจำเป็นต้องตัดมดลูกออกในบางรายที่เสียเลือดมาก ดังนั้น หลังคลอดจึงควรได้รับยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูกทันทีทั้งการคลอดปกติ หรือหลังผ่าตัดคลอด และติดตามอาการเลือดออกหลังคลอดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้อาการติดเชื้อหลังคลอดก็เป็นสิ่งที่แพทย์ต้องป้องกัน และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
จะเห็นว่าขั้นตอนการดูแลครรภ์แฝดไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยากจนเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ต้องให้ความสำคัญกับการฝากครรภ์ ไปพบหมอตามที่นัด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ท่านก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่เคยประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์และคลอดลูกแฝดมาแล้ว
นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)