
© 2017 Copyright - Haijai.com
แม่ท้องหรือลูก หนักใครกันแน่
ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวช่วงตั้งครรภ์สำหรับแม่ท้องนั้น เป็นเรื่องที่ต้องกังวลกันมาก ไม่ว่าคุณแม่จะ ท้องแรก ท้องสอง ท้องสามต่างก็กังวลเหมือนกันว่า รูปร่างจะไม่กลับคืนมาเหมือนก่อนตั้งครรภ์ กลัวลดไม่ลง จะใช้วิธีจำกัดอาหารก็ไม่ได้อีก เพราะกลัวว่าลูกน้อยจะได้สารอาหารไม่ครบถ้วน เมื่อลองมาหักลบกลบน้ำหนักเจ้าตัวเล็กแล้ว กลับเป็นว่าเจ้าหนูเอาน้ำหนักไปนิดเดียว เหลือทิ้งไว้ให้คุณแม่เสียมาก มาลองดูหลักการง่ายๆ ให้ท้องนี้น้ำหนักคุณแม่เพิ่มขึ้นอย่างพอสมควรและไม่เบียดบังเจ้าตัวเล็กอีกด้วย
ท้องนี้หนักอะไรบ้าง
น้ำหนักคุณแม่ที่ขึ้นในขณะตั้งครรภ์เป็นผลมาจากหลายส่วน ทั้งจากทารก รก น้ำคร่ำ มดลูก เต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น ปริมาณเลือด และน้ำในเซลล์ที่เพิ่มขึ้น โดยทั่วไปแล้วน้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงกลางของการตั้งครรภ์ นั่นคือตั้งแต่เดือนที่ 3 เป็นต้นไป เพราะช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้นคุณแม่ส่วนใหญ่จะแพ้ท้องโอ้กอ้ากกันอยู่ อาจจะกินอะไรได้ไม่ค่อยมาก ส่วนช่วงใกล้คลอดนั้นอย่าว่าจะขยับตัวไปกินเลย แม้แต่จะนอนแต่ละทียังลำบาก ในช่วงนี้อัตราเพิ่มของน้ำหนักจึงไม่มาก
ท้องนี้หนักเท่าไหร่ดีนะ
เกณฑ์ที่เราใช้วัดว่าคุณแม่นั้นมีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไปนั้นเราใช้หลักของ Body Mass Indexหรือ BMI : ดัชนีน้ำหนักมวลกาย คุณแม่ที่มี BMI น้อยกว่า 19.8 ถือว่าผอม ส่วนคุณแม่ที่ BMI มากกว่า 29 ถือว่าอ้วน โดยคำนวณจาก น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 ซึ่งก็เท่ากับ [กิโลกรัม ÷(เมตร2)] เช่น น้ำหนัก 60 กก. สูง 170 ม. ก็จะเท่ากับ 60 หารด้วย 2.89 = 20.76 ซึ่งแสดงว่า BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ตารางเปรียบเทียบค่า BMI ช่วงตั้งครรภ์ |
|
น้อย |
BMI น้อยกว่า19.8 |
ปกติ |
BMI 19.8 – 26 |
มาก |
BMI > 26 - 29 |
อ้วน |
BMI มากกว่า29 |
หลังคลอด จะลดอย่างไรดี
หลังจากคลอดลูกแล้วคุณแม่จะผอมลงทันที 5-6 กิโลกรัม ซึ่งเป็นผลรวมของน้ำหนักของเจ้าตัวเล็ก รก น้ำคร่ำ เลือดและน้ำที่ออกขณะคลอด ภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด น้ำหนักคุณแม่ก็จะหายไปอีกประมาณ 3-5 กิโลกรัม เนื่องจากกระบวนการของร่างกายที่จะขับน้ำที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากขณะตั้งครรภ์ออกทางปัสสาวะ (diuresis) แต่น้ำหนักที่มาจากไขมันที่พอกพูนขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะยังไม่หายไปไหน
การลดน้ำหนักหลังคลอดนั้นควรรอให้เลยช่วง 45 วันหลังคลอดไปก่อน เพราะช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะต้องใส่ใจกับลูกน้อยให้มากที่สุด และยิ่งคุณแม่ที่ให้นมลูก ขอให้ลืมความคิดเรื่องลดน้ำหนักไปก่อน เพราะการงดอาหารในช่วงนี้ เท่ากับทำให้ลูกน้อยได้สารอาหารผ่านทางน้ำนมลดลงด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักในช่วงนี้อาจทำให้ปวดแผลที่ฝีเย็บหรือหน้าท้องอีกด้วย
เชื่อว่าสุดท้ายแล้วความสุขที่สุด ของคุณแม่ทุกท่าน คงไม่อยู่ที่การได้หุ่นสวยเพรียว เท่าตอนก่อนท้องกลับมาครอบครอง แต่ความสุขที่แท้จริง คือ การได้เลี้ยงดูและเห็นลูกน้อยอ้วนท้วนสมบูรณ์ต่างหาก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)