© 2017 Copyright - Haijai.com
10 อาการไม่สบายตัวขณะตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ในผู้หญิงส่วนใหญ่พอได้ทำหน้าที่อุ้มท้องแล้วก็ยากที่จะปฏิเสธการอุ้มท้องในครั้งต่อๆ ไปได้ การอุ้มท้องหนึ่งท้องต้องใช้เวลานานถึง 9 เดือน หรือ 42 สัปดาห์โดยประมาณ ใช้ระยะเวลาไม่น้อยเลย ผู้ที่จะมารับภาระหน้าที่ตรงนี้จะต้องใช้ทั้งความอดทน และความเสียสละอย่างมาก และกว่าจะได้มาซึ่งของขวัญอันล้ำค่าชิ้นนี้ ก็อาจต้องมีบทพิสูจน์เข้ามาบ้างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทดสอบค่ะ การได้รู้ถึงลักษณะอาการที่จะเกิดขณะตั้งครรภ์ก็เพื่อเป็นการเตรียมตัว และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีสติค่ะ
อาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงคลอดเลย มักที่จะเกิดได้อย่างกะทันหัน หรือบางครั้งก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติในผู้หญิงตั้งครรภ์อยู่แล้ว แต่เพื่อความสบายใจและรู้เท่าทันถึงอาการข้างเคียงที่มักจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สบายตัว ก็จะทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นค่ะ ฉบับนี้ขอนำเสนอ 10 อาการแรกที่มักจะเกิดขึ้นในคุณแม่ตั้งครรภ์ และทำให้รู้สึกไม่สบายตัวค่ะ
คุณแม่ตั้งครรภ์กับเรื่องไม่สบายตัว
1.คลื่นไส้ อาเจียน (Nauseated) อาการนี้เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้มีการคลื่นไส้และอาเจียนขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรทำอะไรแบบเร่งรีบมากนัก หากทานอาหารเข้าไปแล้วอาเจียนออก ควรเปลี่ยนเป็นการทานในปริมาณที่น้อยลง แต่ให้ทานบ่อยครั้งขึ้นแทนค่ะ
2.หน้ามืด (Fainting) อาการหน้ามืดในคุณแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะขณะที่ตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้หลอดเลือดหย่อนตัวจนเกิดความดันโลหิตต่ำ อาการหน้ามืดมักเกิดขึ้นขณะที่กำลังลุกขึ้น หรือเดินๆ อยู่ก็หน้ามืดขึ้นมาก็มีค่ะ การพักผ่อนที่เพียงพอ และการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จะช่วยให้อาการหน้ามืดบรรเทาลงได้
3.ปวดท้อง (Abdominal Pain) อาการนี้เป็นเพราะข้อต่อที่รองรับมดลูกมีการยืดตัวออกมา จึงทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องขึ้นได้ หรือเมื่อยบริเวณด้านล่างของช่วงท้อง การบรรเทาอาการอาจใช้ฝ่ามือนวดบริเวณท้องที่ปวด แต่อย่าลงน้ำหนักที่แรงมากเกินไป
4.เหนื่อยง่าย (Exhausted) อาการเหนื่อยง่ายจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน ทำให้รู้สึกว่ามีความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และรู้สึกไม่สบายในช่วงเช้า เป็นเพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายมีการหย่อนตัว ซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหลังมากด้วย หากคุณแม่มีอาการเหนื่อยง่ายให้นอนพัก หรืองีบหลับสักพักก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้นคะ
5.ปวดหลัง (Backache) อาการปวดหลังเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน นั่นเป็นเพราะข้อต่อกระดูกส่วนต่างๆ ของร่างกายมีการหย่อนตัวตามขนาดและรูปสรีระของครรภ์ ที่นับวันก็เพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ ขณะนอนหรือนั่งคุณแม่จึงมักมีอาการปวดหลังตามมาติดๆ เวลานั่งก็มักจะนั่งไม่สบาย ดังนั้นในการนั่งแต่ละครั้งควรใช้หมอนหนุนหลังไว้ด้วย ก็จะช่วยให้การปวดหลังลดน้อยลงค่ะ
6.หายใจไม่สะดวก (Breathlessness) อาการหายใจไม่สะดวกของคุณแม่นั้นเกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจนไปดันกระบังลมและปอด เป็นผลให้คุณแม่หายใจไม่สะดวก การหายใจไม่สะดวกนี้มักจะเกิดขึ้นตอนที่คุณแม่มีอายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อระบบการหายใจ คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอที่ดูแลครรภ์ เพราะคุณหมอจะให้คำแนะนำที่เหมาะกับสรีระของคุณแม่แต่ละคนได้อย่างเหมาะสมค่ะ
7.ชาตามมือและเท้า (Polyneuropathy) อาการชาตามมือและเท้ามีเกิดขึ้นบ้างในบางครั้งของการตั้งครรภ์ค่ะ สาเหตุเป็นเพราะระบบประสาทที่ข้อมือถูกกดทับจึงทำให้มีการชาเกิดขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการขาดวิตามินบี 6 ดังนั้นในการรับประทานอาหารควรเพิ่มปริมาณอาหารที่มากไปด้วยคุณค่าของวิตามินบี 6 ไปด้วย เพราะวิตามินบี 6 จะช่วยในเรื่องของอาการชาตามมือ ตามเท้าได้เป็นอย่างดี
8.ตะคริว (Cramp) อาการตะคริวเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เท่านั้น ตะคริวเกิดจากการหมุนเวียนของเลือดที่ไม่สมดุลกัน เนื่องจากทารกในครรภ์ไปกดทับระบบการหมุนเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ลำบากขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งคือ ภาวะแคลเซียมในร่างกายต่ำ หากเกิดเป็นตะคริวขึ้นมาให้จับฝ่าเท้าของคุณแม่แล้วค่อยๆ ดันเข้าหาตัว โดยดันเข้า ปล่อยออก และไม่ควรที่จะบีบนวดตรงบริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว เพราะการที่บีบนวดตรงบริเวณกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวโดยตรงจะยิ่งทำให้ปวดมากขึ้น
9.ท้องผูก (Constipation) อาการท้องผูกเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบของลำไส้ เพราะฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์จะทำให้ระบบขับถ่ายมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การขับถ่ายทำได้ยากขึ้น จึงเกิดภาวะท้องผูก แก้ได้ด้วยการที่คุณแม่จะต้องทานผัก ผลไม้ ที่มีกากใยเพิ่มมากๆ และที่สำคัญจะต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะช่วยเรื่องปัญหาท้องผูกในการตั้งครรภ์ได้เป็นอย่างดี
10.ริดสีดวงทวาร (Piles) อาการนี้เกิดจากการติดขัดของระบบไหลเวียนของเลือดในร่างกายส่วนล่างในระยะตั้งครรภ์ ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดที่ทวาร มักจะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาการที่เกิดขึ้นจะมีตุ่มพองสีคล้ำเป็นกลุ่มอยู่รอบรูทวารหนัก หรือในส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายทำให้มีอาการเจ็บ หรือมีเลือดออกเวลาถ่ายอุจจาระ หากในกรณีที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ให้ควบคุมการขับถ่ายให้เป็นไปตามปกติทุกวัน รับประทานผักผลไม้และดื่มน้ำให้มากก็จะช่วยป้องกันการเกิดอาการริดสีดวงทวารได้ แต่หากเป็นแล้วเกิดเจ็บเวลาขับถ่าย ให้นำเอาอ่างใส่น้ำอุ่นจัดๆ มานั่งแช่ ใช้มือช่วยดันเอาหัวริดสีดวงทวารเข้าไปทุกครั้งหลังถ่าย ก็จะทำให้ไม่เป็นมากขึ้น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)