
© 2017 Copyright - Haijai.com
ทำความรู้จักกับโรคลมชักในเด็ก
โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากการทำงานของเซลล์สมองที่ไม่สัมพันธ์กันไปชั่วขณะหนึ่งแล้วกลับมาสู่สภาพปกติได้เอง อาการชัก (Seizure) เป็นการแสดงออกถึงการที่เซลล์ประสาทในสมองทำงานผิดปกติ โดยมีการกระตุ้นอย่างเฉียบพลัน (Paroxysmal) และมีแนวโน้มที่จะเป็นซ้ำบ่อยๆ อาการแสดงขณะชักนั้นขึ้นอยู่กับว่า บริเวณของสมองที่มีการทำงานมากผิดปกตินั้นรับผิดชอบต่อการทำงานอะไร เช่น การเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ การหยุดตอบสนองและมีตาเหม่อลอยชั่วขณะ หรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เป็นอยู่ชั่วครู่ เป็นต้น ส่วนใหญ่อาการชักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ หลังจากการชักบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการอ่อนเพลียหรือสติสัมปชัญญะเสียไปชั่วขณะก็ได้
โรคลมชักที่เกิดในเด็ก มีบางส่วนที่เป็นโรคทางกรรมพันธุ์และรอยโรคในสมอง โดยไม่ค่อยพบว่าเกิดจากเนื้องอกในสมอง โรคลมชักสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่ โรคลมชักทั้งตัว และโรคลมชักเฉพาะที่ ซึ่งแยกออกได้เป็นหลายชนิด
กลุ่มที่ 1 โรคลมชักทั้งตัว (Generalized Seizure) ซึ่งมีผลต่อสมองทั้ง 2 ด้าน เกิดขึ้นทันทีและทำให้หมดสติเฉียบพลัน มีหลายรูปแบบ เช่น โรคลมชักทั้งตัวชนิดเกร็งกระตุก (Tonic-clonic Seizure) หรือที่เรียกว่า โรคลมบ้าหมู ทำให้ร่างกายเกิดอาการเกร็ง และล้มลงอาจจะมีเสียงร้องดัง แขน ขาบิดเกร็ง และกระตุก อาจจะทำให้ปัสสาวะราดหรือกัดลิ้นตัวเองได้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
• โรคลมชักทั้งตัวชนิดเกร็ง (Tonic Seizure) ทำให้เกิดอาการเกร็งของร่างกายและล้มลง ไม่มีอาการกระตุก
• โรคลมชักทั้งตัวชนิดหมดแรง (Atonic Seizure) ทำให้กล้ามเนื้อเกิดหมดแรงอย่างเฉียบพลันทันที และล้มลง
• โรคลมชักทั้งตัวชนิดกระตุก (Myoclonic Seizure) ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุกหรือบิด อาจเกิดกับแขน ขา หรือทั้งตัว
• โรคลมชักทั้งตัวชนิดเหม่อ (Absence Seizure) เด็กจะเกิดอาการเหม่อเป็นระยะเวลาสั้นๆ
กลุ่มที่ 2 โรคลมชักเฉพาะที่ (Partial Seizure) จะมีผลต่อสมองบางส่วน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
• โรคลมชักเฉพาะที่แบบธรรมดา (Simple Partial Seizure) ขึ้นอยู่กับตำแหน่งรอยโรคในสมอง อาจทำให้เกิดอาการกลัวหรือได้รับกลิ่นหรือรสชาติแปลกๆ อาจจะมีการกระตุกของศีรษะหรือแขน ขา หรือพบว่ามีอาการเหมือนเป็นเหน็บที่ร่างกายด้านหนึ่งด้านใด อาการชักอาจทำให้เห็นเหมือนแสงไฟแฟลช
• โรคลมชักเฉพาะที่ซับซ้อน (Complex Partial Seizure) อาจเริ่มจากการมีโรคลมชักเฉพาะที่อย่างง่าย อาจจะสูญเสียความระมัดระวังต่อสิ่งแวดล้อมหรือปฏิกิริยารอบตัว มีขยับมือไปมา เคี้ยว กลืน วิ่ง เดิน ทำอะไรไม่รู้ตัว เรียกว่า “ออโตมาติซึม” (Automatism)
• โรคลมชักเฉพาะที่กลายเป็นชักทั้งตัว (Partial Seizure with Secondary Generalized Seizure) ในผู้ป่วยโรคลมชักวัยผู้ใหญ่ 70-80% มักจะเป็นชักชนิดนี้ ดังนั้นแพทย์จะซักประวัติว่ามีอาการเตือน (Aura) หรือไม่ เช่น ได้กลิ่น ได้ยินเสียง เหน็บชาที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง กล้ามเนื้อกระตุกก่อนจะมีอาการวูบหรือไม่รู้ตัวในผู้ป่วยเด็กบางราย พฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ (Stereotype) เช่น กระตุก เหม่อเป็นพักๆ พฤติกรรมแปลกๆ เช่น จู่ๆ ก็วิ่งมากอดคุณแม่แล้วทำท่าพยักหน้าซ้ำโดยไม่มีเหตุผลอธิบาย นอนละเมอ อาจจะเป็นโรคลมชักได้
ดังนั้นเมื่อลูกน้อยมีอาการชัก โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการมีไข้สูง ประกอบกับมีอาการดังที่กล่าวมา
ข้างต้นข้อใดข้อหนึ่ง ให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกไปพบคุณหมอโดยด่วน เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ข้อควรระวัง
ไม่ว่าลูกน้อยจะชักด้วยสาเหตุอะไร พึงจำไว้ว่าการชักนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสมอง หรือสติปัญญาของลูกน้อยโดยตรงค่ะ ดังนั้นเมื่อลูกน้อยชัก หลังจากทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรรีบพาไปโรงพยาบาลทันทีนะคะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)