
© 2017 Copyright - Haijai.com
วิธีพาลูกไปโรงเรียน กลัวว่าลูกจะไม่ยอมไปโรงเรียน
Q : ลูกจะต้องเข้าอนุบาล เทอมนี้เป็นเทอมแรก แต่ดิฉันก็ยังเป็นกังวลอยู่บ้าง กลัวว่าลูกจะไม่ยอมไปโรงเรียนค่ะ แต่ก็มีการ
เตรียมตัวอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ นะคะ พอจะมีวิธีแนะนำพาลูกไปโรงเรียนให้ดิฉันในฐานะผู้ปกครองหรือเปล่าคะ
A : ยินดีอย่างยิ่งค่ะ เพราะดิฉันมีประสบการณ์ตรงอยู่แล้ว และคำแนะนำต่อไปนี้ก็ผ่านการทดลองและทดสอบด้วยพ่อแม่
ผู้ปกครองของลูกวัยอนุบาลแล้วด้วย โดยมีเงื่อนไขของความสำเร็จอยู่บ้าง กล่าวคือ ต้องทำร่วมกันทั้งบ้านและโรงเรียน โดย
เฉพาะที่บ้านก็ต้องร่วมกันทั้งครอบครัว ดิฉันยังห่วงนิดๆ เรื่องเงื่อนไขเวลาค่ะ เพราะการเตรียมลูกไปโรงเรียนนั้นไม่สามารถ
ทำได้รวดเร็วเหมือนกดปุ่มเปิด-ปิดสวิตซ์ไฟค่ะ ต้องอาศัยเวลาบ่มเพาะและความอดทนของผู้ใหญ่ทุกคนค่ะ เกริ่นมามากขอ
แบ่งคำแนะนำเป็นการเตรียมตัวและเตรียมใจ ดังนี้นะคะ
1. การเตรียมใจ ดิฉันหมายถึงทั้งใจลูกและใจพ่อแม่ ลูกที่มีพี่ๆ เป็นแบบอย่างก็จะไม่ยากนัก เพราะมีพี่ๆ เป็นต้นแบบ
เด็กหลายคนเห็นพี่ถือกระเป๋านักเรียน สวมใส่เครื่องแบบก็อยากทำตาม ก็เป็นโชคดีของผู้ใหญ่ไปนะคะ แต่สำหรับลูกคนเดียวหรือลูกคนแรกก็ต้องเตรียมข้อมูลทางบวก เช่น หาหนังสือนิทานมาเล่าเรื่องราวสนุกๆ ที่ตัวละครพบเมื่อไปโรงเรียน มีคำพูดให้กำลังใจและวิธีคิด เช่น “ที่ห้องเรียนหนูจะมีของเล่นมากมาย หนูจะได้เล่นกับเพื่อนๆ มีคุณครูใจดีอ่านนิทาน สอนร้องเพลง วาดรูประบายสี อาหารก็อร่อย” ถ้าทำได้ควรพาลูกไปพบคุณครูก่อนไปเรียนจริงๆ และในสัปดาห์แรกๆ ต้องพยายามรับกลับบ้านเร็วหน่อย ขณะนี้โรงเรียนอนุบาลจะมีนโยบายช่วยการปรับตัวลูกๆ ในระยะ 2-3 วันแรกจะให้เด็กอยู่เพียงครึ่งวัน แล้วให้ผู้ปกครองอยู่ด้วย บางโรงเรียนจะอนุญาตให้นำของเล่น ของใช้แสนรัก เช่น น้องหมอน ผ้าห่มคู่ใจมาด้วย รวมทั้งให้พกรูปถ่ายคุณพ่อคุณแม่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ จะได้หยิบมาดูเวลาคิดถึง ซึ่งดิฉันคิดว่าช่วยในด้านจิตใจมากๆ เลยค่ะ และ
2. การเตรียมกาย หมายถึง การเตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สอนให้ลูกบอกความต้องการขับถ่ายได้ ฝึกการช่วยเหลือตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้า ใส่ถุงเท้า รองเท้า การรับประทานอาหารด้วยตนเอง การดื่มนมจากแก้วแทนการใช้ขวด เป็นต้น
ประเด็นสุดท้ายที่จะขอฝากคือ การกลัวการพลัดพราก (Separation Anxiety) ของเด็กวัยอนุบาลเป็นเรื่องปกตินะคะ
ขอท่านผู้ปกครองให้ความเข้าใจลูกๆ ให้มากที่สุด การก้าวผ่านประสบการณ์เริ่มแรกเหล่านี้ก็จะปราศจากปัญหาและความทุกข์ใจแน่นอนค่ะ
ดร.วรนาท รักสกุลไทย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)