Haijai.com


พัฒนาการเด็ก เดือนที่ 3


 
เปิดอ่าน 3417

พัฒนาการเด็ก เดือนที่ 3

 

 

“ลูกน้อยกำลังน่ารัก”

 

ตอนนี้คุณแม่คงพอจะมองออกแล้ว ว่าลูกจะมีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร เด็กจะเริ่มแสดง “บุคลิก” ของเขาให้เห็น และการแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ของเขานั้น ก็จะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่จะเป็นไปตามความต้องการพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น การมีสิ่งเร้ามากระตุ้นเด็กอย่างเหมาะสม จะช่วยในการพัฒนาของลูก จากเดิมที่เมื่อลูกตื่นจะต้องการให้อุ้มและป้อนนม ก็จะเริ่มเป็นว่าเขาต้องการให้คุณคุยกับเขา เล่นกับเขาและจะเริ่มไม่ยอม เมื่อถูกทิ้งให้เล่นคนเดียวลูกจะชอบมากที่มีคนมาพูดคุยด้วย ได้เห็นคุณทำท่าสั่นหัว ตบมือ หรือแม้แต่แลบลิ้น ทำหลอกเล่นกับเขา ลูกจะเริ่มเล่นเสียงต่างๆ มากขึ้น

 

 

การได้ยินเสียงดนตรีหรือเสียงที่น่าสนใจ

 

จะช่วยทำให้เขาหยุดร้องเมื่อยามที่กำลังงอแง และจะมีท่าทีตอบสนอง โดยส่งเสียงอ้อแอ้ตอบบ้าง เมื่อใกล้ 4 เดือน ลูกจะชอบทำเสียงคุยอ้อแอ้ อืออา เมื่อมีคนมาคุยด้วยได้นานพอควร ช่วงนี้เด็กจะเริ่มหันหาเสียงที่ได้ยินดีขึ้น และเสียงคุยที่อ่อนโยนนุ่มนวลของคุณแม่ จะช่วยกระตุ้นให้เขาส่งเสียงโต้ตอบได้ดีกว่าเสียงที่ดังอึกทึก

 

 

ลูกจะมองตามคุณแม่ที่เดินไปมาอยู่ต่อหน้าเขา

 

ช่วงนี้ลูกจะยังชอบกำมือ และอมมืออย่างอร่อย แต่ในเวลาไม่นานลูกก็จะเริ่มรู้จักคลายมือและเริ่มคว้าจับ ลูกจะลองใช้นิ้วมือ ลองขยับนิ้วเล่น ยกมือขึ้นมามองจะเริ่มจำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น และแสดงท่าทีดีใจ เมื่อได้เห็นสิ่งที่เขาชอบ โดยเฉพาะเวลาที่เห็นคุณแม่ เวลาที่คุณอยู่กับลูก เช่น เวลาอาบน้ำ ขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือป้อนนม คุณแม่ควรพยายามพูดกับลูกเสมอๆ ด้วยเสียงอ่อนโยนนุ่มนวล ด้วยคำสั้นๆ โดยการเรียกชื่อของส่วนต่างๆ ของร่างกายของลูก เช่น “ยกแขน” ขณะที่คุณกำลังจับแขนลูก ฯลฯ แม้ว่าลูกจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูดนัก แต่ก็จะเป็นการสอนให้ลูกรับรู้โทนเสียง รู้จังหวะของการสนทนา และความหมายกว้างๆ ของคำนั้นได้

 

 

ลูกจะชันคอได้ดีขึ้น

 

เมื่อคุณประคองตัวลูกขึ้นมาอยู่ในท่านั่งแต่ยังต้องคอยจับไว้ไม่ให้ล้ม เมื่อวางนอนคว่ำเขาจะพยายามยกหัว และหน้าอกให้พ้นพื้นได้ช่วงสั้นๆ เวลานอนหงายอยู่เขาจะเริ่มใช้มือปัดป่ายไปมา และเอามือทั้ง 2 ข้างมาเล่นด้วยกันได้

 

 

เตรียมจัดห้อง และบริเวณที่จะให้ลูกอยู่ให้เป็นที่ปลอดภัย และทำความสะอาดได้ง่าย

 

พยายามจัดให้ไม่มีของที่อาจเป็นอันตรายอยู่ใกล้ เช่น กระติกน้ำร้อนเครื่องแก้วที่แตกง่าย หรือของที่มีขนาดเล็กๆ ที่ลูกอาจจะเอาเข้าปากได้ เพราะอีกไม่นานลูกก็จะสามารถพลิกตัว หรือคืบไปจนถึงสิ่งเหล่านี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้

 

 

ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้

 

ในช่วงนี้แม้ว่ากิจกรรมต่างๆ ของลูกดูเหมือนจะเริ่มเป็นเวลาแน่นอนขึ้น แต่ก็พบว่าบางครั้งอาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เช่น ถ้าเขาง่วงมากอาจหลับไปเลย หรืออาจจะงอแงกวนอยู่พักใหญ่ ทำอะไรให้ก็ไม่เอา แต่ก็ขอให้เข้าใจและให้จัดเวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนเดิมในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้เขาปรับตัวได้ดีกว่า การเปลี่ยนกิจกรรมไปมาจนลูกสับสน คาดเดาไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อไป อีกไม่นานเขาก็จะเข้าที่เข้าทางดีกว่านี้

 

 

ลูกจะเริ่มนอนได้นานขึ้นในเวลากลางคืน

 

แต่อาจจะมีการตื่นขึ้นมาทานนมบ้างสักมื้อหนึ่ง หรืออาจจะตื่นมากวน พลิกตัวไปมาเหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น คุณสามารถช่วยฝึกลูกให้เขาจัดระเบียบการนอนการตื่นได้ดีขึ้น โดยในช่วงกลางวัน เมื่อเขาตื่น ให้พยายามทำบรรยากาศให้สว่างชวนลูกคุย เล่นหรือพาออกจากเตียงของเขา เพื่อให้เขาตื่นนานขึ้น และเมื่อถึงเวลานอนตอนกลางคืน ก็พยายามปรับสภาพแวดล้อมให้อยู่ในความสงบ สร้างบรรยากาศในการนอน เช่น ให้ไฟในห้องไม่สว่างนัก ไม่มีเสียงดังจากทีวีหรือโทรศัพท์คอยกวน ไม่ชวนลูกคุยหรือเล่นในเวลากลางคืน เพื่อให้ลูกค่อยๆ เรียนรู้ว่ากลางคืนมืด เงียบ และต้องนอน โดยอาจจะป้อนนมก่อนนอน พร้อมกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ให้ เพื่อให้ลูกหลับอย่างสบาย และอาจรวมถึงการกล่อมลูกให้นอนอย่างที่คุณแม่ถนัดด้วย

 

 

มาถึงตอนนี้คุณแม่และลูกก็จะรู้ใจกันมากขึ้น

 

คุณแม่จะรู้ได้ว่าท่าทางและการร้องของเขานั้นหมายถึงอะไร และควรจะทำอย่างไรให้เขาสบาย และอบอุ่นที่มีคุณแม่อยู่ใกล้ๆ คอยดูแลเขา เขาจะเริ่มมีความไว้วางใจในสิ่งรอบข้าง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีต่อบุคลิกภาพ และอารมณ์ของเขาในอนาคต

 

 

Do you know

 

“การเล่น” ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้

 

 จับมือลูกกำไว้ให้ถือของเล่น และเขย่าไปพร้อมๆ กันในอุ้งมือของคุณแม่

 

 พูดคุยทำเสียงโต้ตอบกับลูก

 

 ให้นอนคว่ำเพื่อหัดชันคอ และช่วยออก กำลังแขนขา โดยยกแขนขาอย่างเบาๆ ได้

 

 อุ้มและร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ฟัง

 

 แขวนสิ่งของสีสดชิ้นโตๆ ที่เคลื่อนไหวได้ห่างจากเขา 1 ฟุต เพื่อให้เขาดูและไขว่คว้า

(Some images used under license from Shutterstock.com.)