© 2017 Copyright - Haijai.com
“ลูกน้อยพลิกตัวคล่องแล้ว”
ช่วงอายุ 4-5 เดือน ลูกควรจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 2 เท่าของแรกเกิด ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกนั้น เด็กจะโตเร็ว และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เฉลี่ยเดือนละ 800-1,000 กรัม แต่หลังจากเข้าเดือนที่ 5 น้ำหนักจะเริ่มขึ้นช้าลง โดยอาจจะเพิ่มประมาณ 500-600 กรัมต่อเดือน และหลังจาก 6 เดือนไปแล้วจะเหลือเพียง 200-400 กรัมต่อเดือน
ลูกควรจะพลิกตัวคว่ำหงายได้คล่อง
และชอบที่จะอยู่ในท่านั่งมากกว่าท่านอน ลูกจะเริ่มใช้มือร่วมกับสายตาที่มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น จะเริ่มจับสิ่งของบางครั้งจะกำของแน่นด้วยมือทั้ง 2 ข้าง และชอบที่จะเอาของต่างๆ ใส่เข้าไปในปากเพื่อเรียนรู้ ลูกจะยังไม่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของที่เห็นอยู่ต่อหน้า กับสิ่งของที่ถูกซ่อนไว้ แม้ว่าลูกจะมองเห็นว่าคุณซ่อนของชิ้นนั้นต่อหน้าเขาก็ตาม
ลูกจะชอบที่จะพบปะผู้คน
จะส่งเสียงต่างๆ ได้อย่างน่ารัก และยังชอบทำท่าทางเลียนแบบคนที่กำลังเล่นกับเขา ลูกจะทำเสียงสูง เสียงต่ำ และเริ่มออกเสียงที่พอจับความหมายได้ เช่น คำว่า “ดา, มา” ท่าทีที่คุณตอบสนองต่อการส่งเสียงของเขา จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ลูกสนุก กับการส่งเสียงต่างๆ มากขึ้น ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นโอกาสในการตรวจเช็ก การได้ยินของลูกไปด้วย เพราะความสามารถในการพัฒนาการด้านภาษานั้น จะขึ้นกับการได้ยินเสียงต่างๆ โดยเฉพาะเสียงพูดของคนรอบข้างด้วย
อาหารที่ลูกทานก็มีความสำคัญ
เพราะในช่วงนี้จะพบว่าปริมาณของธาตุเหล็กที่สะสมมาในตอนแรกเกิด จะเริ่มลดน้อยลงจากการที่ลูกมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็ว ดังนั้นควรให้นมที่มีธาตุเหล็กเสริม (ซึ่งนมทารกส่วนใหญ่ที่มีขายในท้องตลาดก็มีการเสริมธาตุเหล็กอยู่แล้ว) และในทารกที่เลี้ยงด้วยนมมารดา อาจต้องการธาตุเหล็กเพิ่มจากอาหารเสริม และการให้รับประทานวิตามินที่มีธาตุเหล็ก (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน)
ลูกจะทานอาหารได้ดีขึ้น
แต่ในการเลือกชนิดอาหารที่จะป้อนลูก ยังต้องระวังเรื่องการแพ้สารอาหารบางชนิด จึงยังต้องคอยเอาใจใส่เสมอ บางครั้งลูกจะมัวแต่สนใจที่จะเล่น ทำให้การป้อนอาหารใช้เวลานานมาก และบางครั้งก็จะเริ่มอมข้าว ในรายที่ทานอาหารได้ดีจะเห็นว่าการทานนมจะน้อยลงบ้างซึ่งเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะในอาหารของลูกที่คุณป้อนนั้น จะมีคุณค่าทางโภชนาการ มีปริมาณของแคลอรี่ และสารอาหารที่ครบถ้วนอยู่แล้ว
หลังจากนี้ไม่นานเด็กบางคนจะเริ่มแยกแยะระหว่างคนที่เขาคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า
ทำให้เขาเริ่มกลัว หรือร้องไห้เมื่อเจอคนแปลกหน้า ที่เรียกว่า “Stranger anxiety” ลูกจะต้องการเวลาสำหรับทำความคุ้นเคย และสังเกตคนแปลกหน้าที่เริ่มเข้ามาอยู่ใกล้เขา ถ้าคนๆ นั้นไม่มีท่าทีที่จะเป็นอันตรายหรือตรงเข้ามาหาเขาทันที ลูกก็จะไม่เกิดความกลัว แต่ถ้าคนๆ นั้นทำเสียงดังหรือมีท่าทางที่ทำให้ลูกตกใจ ลูกก็จะร้องหรือกลัวขึ้นมาทันทีดังนั้นควรให้ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่จะเข้ามาหาคุณพ่อคุณแม่ในขณะที่อยู่กับลูก ให้พูดคุยกับคุณโดยไม่ทำท่าให้ความสนใจเด็กมากนัก เพื่อให้เด็กได้เกิดความไว้วางใจก่อน จึงค่อยเล่นกับเด็กทีหลัง
นอกจากนี้ลูกเริ่มที่จะทำอะไรได้หลายอย่างขึ้น
คุณจึงควรเตรียมตัวที่จะสอนให้เขารู้ ถึงกฎเกณฑ์บางอย่างที่ง่ายๆ ได้ เพราะลูกพอจะรู้จากการสังเกตสีหน้าท่าทาง และน้ำเสียงของคุณว่าคุณ “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ซึ่งต้องอาศัยเวลา ความเข้าใจ และความสม่ำเสมอในการฝึกฝนอีกสักพักใหญ่ ก่อนที่เด็กจะเรียนรู้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูลูกในอนาคต อย่างที่เรียกว่า “Discipline” นั่นเอง
ข้อควรรู้
“การเล่น” ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้
• วางของเล่นสีสดใสไว้ข้างหน้า ให้หัดคืบไปเอา
• พูดกับลูกบ่อยๆ และช้าๆ เพื่อให้เขาได้สังเกตริมฝีปาก
• หัดให้ลูกจำแนกเสียงสิ่งต่างๆ โดยคุณสอนเรียกชื่อเสียงของสิ่งต่างๆ ให้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)