© 2017 Copyright - Haijai.com
ทารกระยะแรกเกิดยังเป็นระยะที่มีอัตราการเกิดโรค และอัตราการเสียชีวิตสูง เพราะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และการต่อสู้กับเชื้อโรคยังไม่ดีนัก จึงทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย การดูแลและป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ลูกน้อยมีสุขภาพดี ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด กันก่อนค่ะ
• น้ำหนัก โดยปกติจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3,200 กรัม (สำหรับประเทศไทย) ตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลักษณะศีรษะค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับลำตัว สามารถที่จะเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน ถ้าจับให้นอนคว่ำ ก็สามารถที่จะหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง ได้โดยไม่ทำให้หายใจลำบาก ถ้ามีเสียงดัง หรือได้รับความกระเทือน ทารกจะรู้สึกสะดุ้งตกใจพร้อมๆ กันก็จะกางแขนออก แล้วโอบแขนเข้าหากันแล้วจึงร้องเสียงดัง ปฏิกิริยาเช่นนี้ถือว่าเป็นปกติธรรมชาติ ในทางตรงกันข้ามถ้าทารกนอนเฉยหรือซึม แสดงว่าอาจมีความผิดปกติของสมอง
• ศีรษะ โดยปกติมักดูใหญ่เส้นรอบศีรษะ 35 เซนติเมตร มีผมปกคลุมเต็มศีรษะ ในวันแรกๆ อาจมีลักษณะค่อนข้างยาว ทั้งนี้เป็นผลเนื่องจากการบีบรัดผ่านทางช่องคลอด ตรงกลางศีรษะด้านหน้าเหนือหน้าผากขึ้นไปจะมีลักษณะเป็นช่องนุ่มๆ สี่เหลี่ยมเรียกว่า กระหม่อม จึงต้องคอยระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นบริเวณนี้ เนื่องจากมีมันสมองอยู่ภายในและไม่มีกระดูกแข็งหุ้ม กระหม่อมนี้จะปิดเมื่อ
ทารกอายุประมาณ 1 ปี
• ผิวหนัง โดยทั่วไปมักบางจนบางครั้งมองเห็นเส้นเลือดฝอยได้ สีมัก
จะแดงหรือชมพูเข้ม อาจจะมีขนอ่อนอยู่ตามบริเวณไหล่และหลังก็ได้ ในทารกบางคนที่ไม่ครบกำหนดดีอาจพบขนอ่อนชนิดนี้ทั่วตัวก็ได้ ประมาณวันที่ 3 หลังคลอด ทารกบางคนอาจมีภาวะตัวเหลืองได้ โดยสังเกตมีสีเหลืองบริเวณตาขาว และผิวที่เคยเป็นสีแดง เมื่อแรกเกิดเปลี่ยนเป็นสีส้มทารกที่มีตัวเหลืองทุกรายควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจประเมินค้นหาปัญหาที่ทำให้ตัวเหลือง
• อุจจาระ ทารกปกติจะถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อุจจาระนี้มีสีเทาปนดำเรียกว่า ขี้เทา (meconium) ไม่มีกลิ่น ต่อมาเมื่อทารกได้รับประทานนมแล้ว ขี้เทาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเทาเข้ม เขียว เขียวเหลือง และเหลืองในที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน โดยปกติทารกจะถ่ายอุจจาระเกือบทุกครั้งที่รับประทานนม จึงอาจจะถ่ายวันละ 3-6 ครั้งก็ได้
• สะดือ ในวันแรกๆ สายสะดือจะมีสีขาวขุ่นและเห็นเส้นเลือดดำแห้งอยู่ภายใน ต่อมาก็ค่อยๆ แห้งลงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและดำในที่สุด และจะหลุดไปในราววันที่ 7-10 หลังคลอด แต่อาจจะหลุดก่อนหรือหลังกว่านี้ก็ได้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
• การหายใจ เด็กทารกปกติหายใจโดยใช้ท้องเป็นหลักคือ มีการเคลื่อนไหวของท้องมากกว่าทรวงอกหายใจประมาณนาทีละ 30-40 ครั้ง ซึ่งมากกว่าเด็กโตๆ ประมาณเท่าตัว ถ้าไม่มีอาการไอหอบหรือตัวเขียวถือว่าปกติ
• เต้านม ทารกปกติไม่ว่าชายหรือหญิง ถ้าครบกำหนดมักจะมีเต้านมที่สามารถจะคลำได้ ในบางคนอาจมีน้ำนม 2-3 หยดไหลออกมาก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่ควรไปบีบเล่นเพราะอาจมีอันตราย และเกิดการอักเสบขึ้นได้ ถ้าทิ้งไว้เฉยๆ ก็จะเล็กลงเป็นปกติได้เอง
• การมีโลหิตไหลออกทางช่องคลอด อาจพบได้ในทารกหญิงที่ครบกำหนด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดของฮอร์โมนเมื่ออายุ 3-4 วัน อาจมีโลหิตออกได้เล็กน้อย จะเป็นอยู่ครั้งเดียวและเป็นปกติ ไม่มีอันตรายหรือต้องรักษาแต่อย่างใด
ภาวะปกติในทารกแรกเกิด
ภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิดมี ดังต่อไปนี้
• การสะดุ้งหรือผวา (Moro reflex) การสะดุ้งหรือการผวาเวลามีเสียงดัง หรือเวลาสัมผัสทารกเป็นสิ่งที่ทารกทุกคนต้องมี เพราะแสดงถึงระบบประสาทที่ปกติ ทารกตอบสนอง โดยการยกแขนและยกขา แบมือและกางแขนออก แล้วโอบแขนเข้าหากัน พบทั้งในภาวะตื่นหรือหลับสนิท พบได้จนถึงอายุ 6 เดือน
• การกระตุก (Twitching) ขณะทารกหลับจะมีกระตุกเล็กน้อยที่แขนหรือที่ขา เวลาตื่นไม่มีอาการกระตุกผู้ใหญ่บางครั้งก็มี การกระตุกก่อนรู้สึกตัวตื่นบางครั้งพ่อแม่คิดว่าลูกชัก หากบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีความรู้เรื่องนี้ ทารกมักถูกรับไว้ในโรงพยาบาล
• การบิดตัว ทารกครบกำหนดมีการเคลื่อนไหว เวลาตื่นนอนคล้ายผู้ใหญ่บิดขี้เกียจ ทารกยกแขนเหนือศีรษะ งอข้อตะโพกและข้อเข่า และบิดลำตัว ลักษณะเคลื่อนไหวแบบนี้พบในทารกที่ปกติ และอาจพบมากในทารกบางคนอาจบิดตัวจนหน้าแดง
• การแหวะนม หูรูดกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่ดีทำให้รูดปิดไม่สนิท มีผลให้ทารกแหวะนมเล็กๆ น้อยๆ หลังมื้อนมและอาจออกมาทางจมูกและปาก น้ำนมที่ออกมาอาจมีลักษณะเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้ เนื่องจากถูกกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนของการย่อยอาหาร พ่อแม่เข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่ย่อย และนมที่ให้ลูกไม่ดี
การแก้ไขการแหวะนม คือการไล่ลมร่วมกับการจัดให้ทารกนอนศีรษะสูง และตะแคงขวาหลังดูดนม ประมาณครึ่งชั่วโมงท่านอนดังกล่าวหูรูดของกระเพาะอาหารจะอยู่สูง ทำให้น้ำนมไหลย้อนไม่ได้ ผู้ดูแลบางคนปล่อยให้ทารกนอนราบ ขณะดูดนมแล้วใช้ผ้าหนุนขวดนม การปฏิบัติเช่นนั้นทำให้ทารกกลืนน้ำนมและลมเข้าไป ทารกจะเรอและแหวะน้ำนมออกมาด้วย
การป้อนนมที่ถูกต้อง จะต้องอุ้มทารกให้อยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนเสมอ และถือขวดนมให้น้ำนมท่วมจุกนมตลอดเวลา ภายหลังดูดนมหมดแล้วต้องจับทารกนั่ง หรืออุ้มพาดบ่าเพื่อไล่ลม
• ทารกไม่ดูดน้ำนม น้ำนมแม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 88% นมผงก่อนที่จะป้อนทารก ก็ต้องผสมน้ำในอัตราส่วนที่พอเหมาะ เพื่อให้มีส่วนประกอบใกล้เคียงกับนมมารดา ทารกจึงได้น้ำอย่างเพียงพอจากน้ำนม และไม่จำเป็นต้องดูดน้ำเปล่าเพิ่มเติมเพื่อแก้หิวน้ำ โดยเฉพาะทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่การดูดน้ำหรือการป้อนน้ำเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ว่าทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียว(Exclusive breastfeeding) 4-6 เดือน หากพ่อแม่ไม่เข้าใจจุดนี้จะวิตกกังวลที่ทารกไม่ดูดน้ำเวลาให้น้ำเปล่า และแก้โดยผสมกลูโคสหรือน้ำผึ้ง เพื่อให้ทารกดูดน้ำอันตรายของการผสมกลูโคส หรือน้ำผึ้งคืออาจทำให้ทารกดูดนมน้อยลง เป็นเหตุให้น้ำหนักตัวขึ้นช้ากว่าปกติ และเกิดท้องร่วง เพราะน้ำที่เจือกลูโคสหรือน้ำผึ้งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน
• การถ่ายอุจจาระบ่อย ทารกแรกเกิดที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว อาจถ่ายอุจจาระกะปริดกะปรอย ขณะดูดนมแม่บิดตัวหรือผายลมจะมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วย ทำให้เข้าใจผิดว่าทารกท้องเดิน เพราะอาจนับการถ่ายอุจจาระได้ถึง 10-20 ครั้งต่อวัน อุจจาระมีสีเหลืองเข้ม คล้ายสีทองคำใหม่ๆ และมีกลิ่นเปรี้ยว สาเหตุเกิดจากนมแม่มีนมน้ำเหลือง (Colostrum) เจือปนซึ่งช่วยระบายท้อง นมน้ำเหลืองจะหมดไป เหลือแต่น้ำนมแม่แท้เมื่อเข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ 4 หลังคลอด
• ร้องเวลาถ่ายปัสสาวะ เมื่ออายุใกล้หนึ่งเดือนทารกบางรายเริ่มรับรู้ความรู้สึกปวดปัสสาวะ ทำให้ทารกร้องเหมือนมีการเจ็บปวดก่อนถ่ายปัสสาวะ ภาวะนี้เป็นเฉพาะเวลาที่ทารกถ่ายปัสสาวะขณะตื่น หากถ่ายปัสสาวะขณะนอนหลับทารกจะไม่ร้อง ทารกจะไม่มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นหยดๆ หรือเบ่งอาการนี้จะหายเองภายใน 1 เดือน
• ตัวเหลือง ทารกที่ได้รับนมแม่มีโอกาสเกิดตัวเหลืองได้ 2 ลักษณะคือ
1. Breastfeeding Jaundice พบใน 2-4 วันหลังคลอด เกิดจากการได้รับนมแม่ไม่พอ เพราะจำกัดจำนวนครั้งของการดูด ร่วมกับการให้ดูดน้ำเปล่าหรือน้ำกลูโคส การป้องกันภาวะนี้ คือ ให้ทารกอยู่กับมารดาตลอดเวลา ให้ดูดนมแม่บ่อย (มากกว่า 8 มื้อ/วัน) งดน้ำเปล่าหรือน้ำกลูโคส
2. Breastmilk Jaundice ซึ่งเริ่มปรากฏปลายสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่ 2-3 หลังคลอด เมื่อให้นมแม่ต่อไปจะค่อยๆ เหลืองลดลงจนปกติ เมื่ออายุ 3-12 สัปดาห์กลไกลการเกิด Breastmilk Jaundice ยังไม่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ตามทารกตัวเหลืองทุกรายควรปรึกษากุมารแพทย์ และนำมาติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
• ผิวหนังลอก ขบวนการสร้าง Keratin ของผิวหนัง แสดงถึงภาวะการเจริญเต็มที่ของผิวหนัง โดยทารกในครรภ์ต้องมีภาวะโภชนาการปกติ ผิวหนังจะมีการลอกภายหลังอายุ 24-28 ชั่วโมง มักพบที่มือและเท้า ผิวหนังที่ลอกจะหายไปในเวลา 2-3 วัน โดยไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ในทารกเกิดก่อนกำหนดผิวหนังจะลอกช้ากว่า โดยจะปรากฏเมื่อ 2-3 สัปดาห์หลังคลอดและอาจลอกมาก
• ปานแดงชนิดเรียบ ปานแดงที่เปลือกตาบน หน้าผากและท้ายทอย พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของทารกแรกเกิด ปานชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน และจะแดงขึ้นเวลาทารกร้อง ปานแดงที่เปลือกตามักหายไปเมื่อทารกมีอายุหนึ่งปี ปานแดงที่หน้าผากมักพบร่วมกับปานแดงที่ท้ายทอย มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม โดยมีฐานอยู่ที่ชายผมและมุมชี้ไปทางจมูก Stork mark ปรากฏนานกว่าหนึ่งปี และอาจคงอยู่ให้เห็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่เป็นครั้งคราวเวลาโกรธ
• ปานดำ (Mongolian Spot) เป็นสีของผิวหนังที่มีสีเขียวเทา หรือสีน้ำเงินดำ มีขอบเขตไม่ชัดเจน เกิดจากการมีเซลล์เมลานินแทรกซึมอยู่ในชั้นผิวหนังมาก พบที่บริเวณก้นกบ ก้นและหลังส่วนเอว อาจพบได้ที่หลัง ส่วนบนหัวไหล่ แขนและขา ภาวะนี้พบร้อยละ 90 ของทารกแรกเกิด โดยพบตั้งแต่ทารกคลอดออกมา และมักหายไปก่อนพ้นวัยทารก
• ผื่นแดง (Erythema Toxicum) ผื่นแดงที่ตรงกลางมีตุ่มนูนขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ซึ่งมีสีนวลหรือซีดบางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง อาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกระจาย พบได้ตามผิวหนังทั่วไป ภาวะนี้พบร้อยละ 50-70 ของทารกครบกำหนด อาจพบหลังคลอดทันที พบบ่อยที่สุดอายุ 24-48 ชั่วโมง และอาจพบได้จนกว่าทารกมีอายุ 1-2 สัปดาห์ ในทารกบางรายอาจพบได้จนถึงอายุ 3 สัปดาห์
• ผิวหนังลายเหมือนร่างแห (Cutis Marmorata) ผิวหนังมีลวดลายเหมือนร่างแห หรือเหมือนลายหินอ่อน เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดฝอย พบในทารกแรกเกิดที่ปกติ แล้วยังพบในทารกที่อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิ สิ่งแวดล้อมเย็นหรือร้อนไป
• ภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้า เป็นภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้าเกิดจากการมีเลือดคั่งและมีจุดห้อเลือด (petechiae) จำÒนวนมาก เกิดจากการถูกบีบรัดโดยการคลอดตามธรรมชาติ หรือจากสายสะดือพันคอ จุดห้อเลือดมักหายอย่างรวดเร็วใน 2-3 วัน
• ภาวะเขียวที่มือและเท้า ภาวะเขียวที่มือและที่เท้า พบได้บ่อยในทารก 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เกิดจากการไหลเวียนเลือดที่มือและเท้าช้าลง หรืออยู่ในที่เย็นและหรืออาจมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ
• เลือดออกที่ตาขาว เลือดออกที่ตาขาวหรือรอบๆ แก้วตา เป็นภาวะที่พบได้บ่อย และหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์
• ตุ่มขาว ภาวะนี้มีลักษณะเป็นตุ่มนูน จากพื้นผิวมีสีนวลหรือสีขาวขนาด 1 มิลลิเมตร พบที่แก้ม ดั้งจมูก หน้าผาก เพดานแข็ง เหงือก หัวนม และปลายอวัยวะเพศของทารกเพศชาย ภาวะนี้พบร้อยละ 40 ของทารกครบกำหนด มักแตกและหายไปเมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์ หรืออยู่ได้นานถึง 2 เดือน
• ตุ่มขาวในปาก ที่กลางเพดานปากของทารกแรกเกิด อาจมีเม็ดสีขาวขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตร) เรียกว่า Epithelial pearl หรือ Epstein pearl ซึ่งเป็นของปกติในทารกแรกเกิด อาจมีจำนวนมากน้อยต่างกัน ตุ่มเล็กๆ นี้ไม่ทำให้ทารกไม่ดูดนมและจะหลุดไปเอง อาจพบตุ่มขาวลักษณะนี้ที่เหงือก ที่หัวนม และปลายอวัยวะเพศชาย ซึ่งเรียกว่า Epidermal inclusion cyst คนสูงอายุเรียกสิ่งใดที่มีสีขาวในปากของทารกว่า หละ
• ลิ้นขาว พบได้ในทารกแรกเกิดโดยปรากฏสีขาวกระจายเท่าๆ กัน บริเวณกลางลิ้น ซึ่งจะหายเองเมื่อทารกมีอายุมากขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ การวินิจฉัยแยกโรคจากเชื้อรา ซึ่งพบมีแผ่นสีขาวเป็นหย่อมๆ ที่ลิ้น และพบร่วมกับที่เพดานปาก กระพุ้งแก้มหรือที่ริมฝีปากด้วย
• ริมฝีปากแห้งและลอกเป็นแผ่น ขอบริมฝีปากของทารกอาจมีเม็ดพอง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 มิลลิเมตร อาจพบตลอดขอบริมฝีปากบนหรือล่าง หรือพบเฉพาะที่กลางริมฝีปากบน เม็ดนี้จะแห้งและลอกหลุดเป็นแผ่นแล้วขึ้นมาใหม่ เม็ดพองชนิดนี้ มีชื่อว่า Sucking blister แสดงว่าลูกดูดนมได้แรง
• นมเป็นเต้า นมมีลักษณะเป็นเต้า พบได้ทั้งเพศหญิงและชาย บางครั้งอาจมีน้ำนม ภาวะนี้จะปรากฏจนอยู่หลายสัปดาห์ ในทารกเพศหญิงอาจปรากฏจนถึงขวบปีแรก ภาวะนี้เป็นลักษณะเฉพาะของทารกครบกำหนด อาจเป็นผลของฮอร์โมนที่ผ่านรกมาสู่ทารกกลไกของการเกิดยังไม่ทราบ คนสูงอายุมีความเชื่อว่า ต้องบีบให้นมแห้ง และเต้านมยุบ จึงต้องแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบีบเค้น เพราะอาจทำให้เต้านมอักเสบ
• ถุงอัณฑะยาน ถุงอัณฑะอาจยานจนเกือบสัมผัสที่นอน คนสูงอายุมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และให้การรักษา โดยการประคบถุงอัณฑะด้วยใบพลูลนไฟ ถุงอัณฑะยานมากหรือน้อยใช้เป็นลักษณะหนึ่งในการประเมินอายุครรภ์ของทารก ถุงอัณฑะยานพบในทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนดหรือเกินกำหนดได้
• ของเหลวไหลออกทางช่องคลอด ทารกมีเมือกสีขาวข้นออกมาทางช่องคลอด บางครั้งอาจมีเลือดที่มาจากการหลุดของเยื่อบุมดลูกปนออกมามากที่สุด ในระหว่างวันที่ 3-5 หลังคลอดและหายไปภายใน 2 สัปดาห์ กลไกที่ทำให้เกิดยังไม่ทราบ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)