Haijai.com


สีอุจจาระหรืออึของลูกบอกอะไร


 
เปิดอ่าน 189032

สีอุจจาระหรืออึของลูกบอกอะไร

 

 

แค่ได้ยินคำว่า “อึ” บางคนอาจเหมือนได้ กลิ่นอันไม่โสภาขึ้นมาตะหงิดๆ แล้ว ยังอาจจินตนาการไปถึงรูปร่างที่น่าขยะแขยงอีกด้วย แต่ถ้าคุณเป็นคุณแม่มือใหม่ที่ต้องคอยดูแลอนามัยให้ลูก ความขยะแขยงในการเช็ดก้นดูจะเป็นเพียงความรู้สึกอันน้อยนิด เมื่อเทียบกับความปลื้มใจที่ได้เห็นเขามีพัฒนาการเติบโตสมวัยขึ้นทุกวัน จนลืมไปเสียสนิทเลยว่า คุณเคยรู้สึกรังเกียจการเช็ดก้นของลูกตรงกันข้าม วันไหนที่ลูกไม่ถ่าย คุณกลับกลุ้มใจกลัวลูกจะมีปัญหาสารพัด คุณแม่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระในเด็กก่อนขวบปีแรก เป็นตัวบ่งบอกสุขภาพของลูก แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สีของอุจจาระ???

 

 

สีของอุจจาระมีการเปลี่ยนไปมาตั้งแต่แรกเกิด

 

เพียงแค่ระยะ 2 สัปดาห์แรกหลังลูกน้อยเกิด อุจจาระของเขาก็เปลี่ยนสีหลายครั้ง ปกติเด็กจะถ่ายอุจจาระภายใน 12-24 ชม.หลังคลอด แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง อุจจาระที่ถ่ายครั้งแรกจะเหนียว สีเขียวปนเทาหรือปนดำเรียกว่าขี้เทา ซึ่งเกิดจากการที่ลูกกลืนน้ำดี และสารที่หลั่งในสำไส้ขณะที่อยู่ในครรภ์ เมื่อลูกเริ่มดูดนมแม่ น้ำนมช่วงแรกจะเป็นหัวน้ำนมที่มีลักษณะเหลืองใส การดูดนมแม่บ่อยๆ ในวันแรกๆ จึงช่วยขับขี้เทาออกจนหมด จากนั้นลักษณะและสีของอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นเหลว สีน้ำตาลปนเขียวใน 4-7 วัน และจะเปลี่ยนสีอีกครั้งเป็นเหลืองทอง อาจเหลวหรือเป็นก้อน (เด็กที่ดูดนมแม่อุจจาระมักค่อนข้างเหลวกว่าดูดนมวัว) แต่เนื้อจะละเอียดและนุ่ม ซึ่งเป็นสีปกติเหมือนที่พบในทารกทั่วไป

 

 

ระยะ 2-3 สัปดาห์แรก ลูกมักจะถ่ายอุจจาระทุกครั้งหลังอาหาร ทารกที่ได้นมแม่อย่างเดียว อุจจาระกะปริดกะปรอยค่อนข้างเหลวเป็นน้ำปนเนื้อ แต่น้ำกับเนื้อจะผสมเป็นเนื้อเดียวกัน มีปริมาณมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งมักถ่ายออกมาขณะดูดนมแม่หรือหลังดูดนมเสร็จ หรือในระหว่างบิดตัวหรือผายลมก็จะมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วย อาจทำให้คุณแม่เข้าใจผิดได้ว่าลูกท้องเสีย เพราะอาจถ่ายได้ถึง 10-20 ครั้งต่อวัน โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ทั้งนี้เพราะน้ำนมเหลืองในนมแม่มีโคลอสตรัม (Colostrum) อันอุดมไปด้วยโปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน น้ำ น้ำตาลและภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันลูกน้อยจากการติดเชื้อในช่วงแรกๆ หลังคลอด และช่วยระบายท้องอุจจาระที่ถ่ายในช่วงนี้จะมีกลิ่นเปรี้ยว โคลอสตรัมจะมีอยู่ในน้ำนมเพียง 3 - 5 วันหลังคลอดเท่านั้น จากนั้นจะเป็นน้ำนมแม่ตามปกติ

 

 

ลูกไม่ถ่ายทุกวันเป็นช่วงหนึ่งของพัฒนาการปกติ

 

ภายหลังลูกน้อยคลอดแล้ว 4 สัปดาห์ การถ่ายจะน้อยครั้งลง หรืออาจไม่ถ่ายทุกวัน อาจถ่ายวันเว้นวัน บางคนอาจไมถ่ายเป็นอาทิตย์โดยไม่มีอาการท้องอืด อึดอัด ไม่อาเจียน อุจจาระยังคงออกมาเป็นก้อนนิ่มหรือเหลวเหนียวติดต่อกัน คล้ายยาสีฟันที่ถูกบีบออกจากหลอดเป็นปกติ

 

 

สาเหตุที่ลูกน้อยที่ได้รับนมแม่ไม่ถ่ายทุกวัน เพราะน้ำนมแม่ย่อยง่าย ลำไส้ของลูกจะดูดซึมส่วนประกอบของน้ำนมแม่ เพื่อใช้ในการเติบโตไปเกือบหมด ทำให้เหลือกากที่จะกลายเป็นอุจจาระน้อยอาการท้องผูกในทางการแพทย์ จะตัดสินจากความแข็งของอุจจาระ และความยากลำบากขณะขับถ่าย ไม่ได้ดูที่ความถี่ของการถ่าย ดังนั้นถ้าลูกน้อยถ่ายทุกวัน แต่ถ่ายเป็นก้อนแข็ง เป็นก้อนกลมคล้ายกระสุน หรือบางครั้งมีเลือดออกมา เช่นนี้ถือว่าผิดปกติ มีปัญหาท้องผูก มากกว่าเน้นถึงจำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระ ซึ่งเด็กที่ได้ดูดนมแม่ในปริมาณที่เพียงพอ จะไม่ค่อยพบปัญหาท้องผูก แต่มักพบบ่อยในเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม จากการชงนมไม่ถูกสัดส่วน อาจชงจางไปหรือข้นไป หรือใช้นมที่ไม่เหมาะกับวัย โดยนำนมผงสำหรับเด็กโตไปให้เด็กเล็กดื่ม

 

 

ถ้าลูกน้อยท้องผูกหรือท้องเสีย โดยมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ร้องกวน ท้องอืด ซึมลง ฯลฯ แม้แต่อุจจาระเป็นมูกเลือดเพียวๆ เพียง 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ถือเป็นลางบอกเหตุว่าอาจมีการติดเชื้อในลำไส้ จึงควรรีบปรึกษาแพทย์

 

 

อุจจาระของลูกน้อยที่ดื่มนมวัวต่างจากนมแม่?

 

ช่วง 2 สัปดาห์แรกเกิด ถ้าเลี้ยงด้วยนมผสม โดยได้รับนมผสมมากเกินไป อาจทำให้อุจจาระเหลวและถ่ายบ่อย และหลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้ว อาจพบภาวะนี้ได้อีก ถ้าได้นมสูตรที่มีความเข้มข้น หรือน้ำตาลมากเกินไป ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสมจะไม่ถ่ายอุจจาระบ่อยเท่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ สีของอุจจาระก็ยังมีความแตกต่างคือ อุจจาระของลูกน้อยที่ดื่มนมวัวจะมีสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นแรงกว่า เนื้อของอุจจาระบางทีจะแข็งกว่าด้วย เด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสมบางชนิด อาจพบว่าอุจจาระมีสีเขียวหรือปนเขียว เกิดจากธาตุเหล็กที่ผสมอยู่ในนม ไม่มีผลดีหรือเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด

 

 

สาเหตุที่อาการท้องผูกพบบ่อยในเด็กที่ดื่มนมผสมมากกว่านมแม่ เพราะในน้ำนมวัวมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำน้อยกว่าน้ำนมแม่ เด็กที่ได้นมแม่ จึงไม่ต้องให้น้ำเพิ่ม เพราะว่าน้ำนมแม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 80% ซึ่งมากอยู่แล้ว เป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกถ่ายได้ดีและง่ายกว่าเด็กที่กินนมผสม ขณะที่นมผสมมีน้ำเป็นส่วนประกอบน้อยกว่า ดังนั้นถ้าให้เด็กกินนมผสม จึงจำต้องให้น้ำดื่มกับเด็กที่ดื่มนมผสมเพิ่มเติม

 

 

นอกจากนี้อาจเป็นผลจากการที่คุณแม่ชงนมผสมที่ไม่ได้สัดส่วนตามที่กำหนดไว้ เช่น ชงนมจางเกินไป ปริมาณอาหารหรือปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอ หรือชงนมข้นเกินไป หรือใช้นมที่ไม่เหมาะกับวัย เช่น นำนมผงสำหรับเด็กโตไปให้เด็กเล็กดื่ม ปกตินมวัวมีส่วนประกอบของไขมัน และโปรตีนในอัตราสูง เป็นต้นเหตุของการท้องผูก การนำนมผงสำหรับเด็กโตไปให้เด็กเล็กดื่ม ยิ่งทำให้ลูกท้องผูก เพราะนมของเด็กโตจะมีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้นตามความต้องการสารอาหารของเด็กโต

 

 

เด็กอายุ 6 เดือนแล้ว ควรได้รับอาหารเสริมที่หลากหลายและมีคุณค่าแล้ว และเมื่อลูกอายุ 1 ปีขึ้นไปอาหารเสริมก็จะเปลี่ยนเป็นอาหารหลัก ส่วนนมก็จะเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นอาหารเสริม

 

 

ดังนั้นหากลูกน้อยได้รับนมผสมอย่างเดียวหรือชงเข้มข้นมากเกินไป แล้วไม่เพิ่มกากใยในอาหารเสริม หรือเป็นผลจากส่วนประกอบในสูตรนมแต่ละชนิด ก็อาจทำให้ท้องผูกได้

 

 

อาหารเสริมมีส่วนทำให้อุจจาระเปลี่ยนสีและรูปร่าง

 

สิ่งที่ช่วยทำให้ลูกน้อยขับถ่ายได้ดีมี 3 ประการ คือ

 

 

1) น้ำ

 

2) เส้นใย

 

3) ฝึกลูกให้มีอุปนิสัยในการขับถ่ายที่ดี

 

 

อาหารเสริมนั้นแข็งกว่าน้ำนม จึงทำให้อุจจาระของเด็กที่เพิ่งเริ่มฝึกหม่ำอาหารเสริมมีความแข็งขึ้น และมีสีที่เข้มขึ้นด้วย เนื่องจากเขากำลังปรับตัวเข้ากับอาหารใหม่ๆ บางครั้งคุณแม่อาจพบชิ้นส่วนอาหารที่ไม่ย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ปนออกมากับอุจจาระ ผักและผลไม้อาจทำให้อุจจาระของลูกมีลักษณะเปลี่ยนไปบ้าง เมื่อลูกอายุเข้าปลายขวบปีแรก ลูกมักจะถ่ายอุจจาระวันละ 1 ครั้ง อาจมีความถี่มากหรือน้อยกว่านี้ได้ในเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ตราบใดที่อุจจาระยังคงนิ่มเหมือนเดิม

 

 

สีอึ บอกสุขภาพลูกน้อยอย่างไร?

 

จริง ๆ แล้วเรื่องของการอึของลูกน้อยนั้น เป็นเรื่องที่พ่อแม่มือใหม่ทุกคนกังวลใจอย่างมาก เพราะไม่รู้มาก่อนเลยว่าเวลาที่ลูกน้อยอึออกมาไม่รู้สีแบบไหนปกติ หรือไม่ปกติ หรือทำไมเวลาที่ลูกหน้าดำหน้าแดงบิดตัวไปมาเป็นเพราะปวดท้องอึ หรือปวดท้องอย่างอื่นหรือเปล่า เอาล่ะค่ะนั่นจะเป็นประสบการณ์ที่ดี แต่ที่จะต้องเรียนรู้กันต่อไปคือการสังเกตว่าสีอึของลูก สีแบบไหนบ่งบอกอะไรต่อสุขภาพของลูกน้อยค่ะ

 

 

อึ! สีดำคล้ำ เหนียวคล้ายยางมะตอย แบบนี้สบายชัวร์ เป็นสีเอกลักษณ์ของอึหนูน้อยวัยแรกคลอดหรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขี้เทา หนูน้อยจะอึออกมาภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเลย 24 ชั่วโมงไปแล้ว ยังไม่อึ คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเกิดจากการที่ลำไส้อุดตัน ต้องรีบพบคุณหมอหาทางแก้ไขโดยด่วน

 

 

อึ! สีเหลืองอร่าม สีแบบนี้เป็นลักษณะอึหนูน้อยที่คลอดออกมาแล้ว 3-4 วัน หนูๆ ที่ดื่มนมแม่เมื่ออึออกมาจะมีลักษณะเหลวและดูดี แต่ถ้าดื่มนมผสมจะเป็นก้อนไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่ ช่วงนี้หนูน้อยจะอึ 3-5 ครั้งในหนึ่งวัน

 

 

อึ! สีเหลืองปนเขียว เป็นลักษณะของอึในช่วง 2 สัปดาห์หลังคลอด หนูน้อยที่ดื่มนมจะยังคงอึไม่เป็นก้อน ลักษณะคล้ายสังขยาที่เนื้อกับน้ำผสมกันเป็นเนื้อเดียวกัน อาจมีเม็ดปนบ้างอึวันละประมาณ 6-10 ครั้ง บางคนอึทุกครั้งที่ดื่มนมเสร็จมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป (หลังจาก 1 เดือนผ่านไป จำนวนครั้งของการอึจะน้อยลง หนูน้อยบางคนอึวันละครั้ง หรืออาจจะ 2 ครั้ง แต่จะมีปริมาณอึมากและไม่แข็ง)

 

 

อึ ! แบบนี้พ่อแม่ต้องระวัง

 

อึ! สีดำเหมือนถ่าน ลักษณะเช่นนี้อาจเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ ประการแรกคุณแม่อาจให้ลูกกินอาหารที่มีธาตุเหล็กมากเกินไป ถ้าไม่ใช่ อาจมีสาเหตุมาจากเลือดออกในทางเดินอาหาร ต้องรีบพาไปพบคุณหมอเช็คอาการ

 

 

อึ! มีกลิ่นเหม็น (บางคนเหม็นคาวๆ) เกิดจากสาเหตุของการเจ็บป่วย ถ้าเหลวพร้อมกับมีกลิ่นเหม็นมากมักเกิดจากโรคท้องเดิน ถ้ามีกลิ่นปกติหรือกลิ่นคล้ายกับอาหารที่กินเข้าไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

 

 

อึ! เหลวมีน้ำปน ถ้าอึเป็นน้ำเหลวพุ่งจู๊ดจู๊ด และอึบ่อย ๆ อาจจะเกิดเพราะระบบการย่อยไม่ดี กินอาหารไม่สะอาด หรือมีโรคติดเชื้อที่เรียกว่าเป็นโรคท้องเดิน ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบหมอ เพราะบางครั้งการอึบ่อยจนเกินไป อาจจะทำให้ร่างกายลูกน้อยขาดน้ำก็เป็นได้

 

 

อึ! สีขาวซีด ถ้าหนูน้อยของคุณแม่อึออกมาสีแบบนี้อย่าเพิ่งตกใจ ให้รีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพราะอาจเกิดจากภาวะท่อน้ำดีอุดตัน

 

 

อึ! มีเลือดปน การอึมีเลือดปนนิดๆ ที่ด้านนอกไม่ได้ปนมาในเนื้ออึ แสดงว่าเป็นเลือดจากภายนอก มักจะเกิดจากแผลบริเวณทวารหนัก เนื่องจากท้องผูก หรืออึเป็นก้อนแข็งมากก็เลยครูดบริเวณทวารหนักของหนูน้อยจนเลือดออกได้ คุณแม่อาจจะให้ลูกดื่มน้ำเพิ่มขึ้น หรือในเด็กเล็กให้ดื่มน้ำส้มคั้นเจือจาง แต่ถ้าเป็นเด็กโตก็ให้ดื่มได้ในปริมาณที่เหมาะสม

 

 

อึ! มีมูกปนเลือด ถ้าลูกน้อยอึออกมาแล้วมีมูกปนเลือดออกมาด้วย อาการเช่นนี้อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลำไส้ หรือท้องเดินชนิดรุนแรง การอึออกมาเช่นนี้ก่อนอึลูกจะมีอาการบิด และร้องเท่านี้พ่อกับแม่ก็ตกใจกันเป็นแถว ๆ แล้วค่ะ อาการแบบนี้ต้องพบแพทย์โดยด่วน

 

 

อึ! แข็ง ถ้าลูกน้อยที่เคยอึดีมาตลอด แต่สองสามวันมา กลับอึเว้นช่วงห่างออกไป แถมยังอึยากเมื่อออกมาก็เป็นก้อนแข็งขึ้น อาการเช่นนี้อาจเป็นเพราะลูกน้อยเริ่มเป็นหวัด เจ็บคอ หรือมีโรคอื่นๆ เพราะเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกายทำให้ลูกน้อยเบื่ออาหาร และลำไส้ทำงานน้อยลง

 

 

อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า เรื่องของการอึของลูก หรือสีอึของลูกในแต่ละครั้งนั้นบ่งบอกอะไร เมื่อทราบรายละเอียดแล้วก็ขอให้สังเกตดูว่า ในแต่ละครั้งที่ลูกอึออกมายังปกติดีอยู่หรือเปล่าค่ะ หรือถ้าไม่แน่ใจปรึกษาแพทย์ด่วน!

(Some images used under license from Shutterstock.com.)