Haijai.com


ไบกอร์เร็กเซีย Bigorexia Syndrome คืออะไร


 
เปิดอ่าน 4218

ผู้ชายโรคจิต คิดว่าตนเอง (ตัว) เล็กเกินไป

 

 

ไม่บอกไม่รู้นะเนี่ย ว่าความคิดจิตตกเกี่ยวกับร่างกายในแบบผู้ชายก็มีด้วย เพราะเรามักจะเคยได้ยินแต่ผู้หญิงที่ติดกระแสคลั่งผอม ซึ่งมีอาการรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจากอาการดังกล่าวไปแล้วก็มี แต่อาการจิตตกในผู้ชายนั้น อาจเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามไปสักหน่อย ตรงที่ผู้ชายจะมีความคิดหมกมุ่นว่า ร่างกายของตัวเองตัวเล็กเกินไป ซึ่งต่างกับผู้หญิงที่คิดว่าตัวเองตัวใหญ่ หรืออ้วนเกินไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพฤติกรรมก็ยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีความคิดเกี่ยวกับร่างกายแบบเกินพอดี โดยผู้ป่วยจะมีมุมมองและอยากปั้นรูปร่างของตัวเองใหม่ เพื่อหวังสร้างความดูดี หรือความน่ากลับแบบไม่รู้ตัวกันแน่นะ

 

 

Bigorexia Syndrome คืออะไร

 

Bigorexia (ไบกอร์เร็กเซีย) หรือ Muscle Dysmorphia (มัสเคิล ดิสมอร์เฟีย) คือ โรคที่ผู้ป่วยมีความคิดว่าตนเองมีรูปร่างที่เล็ก ไม่ล่ำสัน ไม่แข็งแรง และไม่มีกล้ามเนื้อมากพอ ทั้งที่ความจริงร่างกายของตนเองก็ใหญ่ หรือสมส่วนดีอยู่แล้ว จัดอยู่ในกลุ่มของโรคที่คิดว่าตนเองมีรูปร่าง หรืออวัยวะผิดปกติ (Body Dsymophic Diorder หรือ BDD) โดยผู้ป่วยที่มีความวิตกดังกล่าวจะมีพฤติกรรมย้ำคิด หมกมุ่นอยู่กับเรื่องรูปลักษณ์ของตนเอง และจะชอบออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง เช่น จะรู้สึกเป็นกังวลหากไม่ได้ออกกำลังกาย จนเสียงานหรือเมื่อได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ก็จะไม่ยอมพัก เป็นต้น รวมถึงพฤติกรรมควบคุมอาหารแบบสุดโต่ง หรือรับประทานอาหารเสริมจำพวกโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไป เพื่อต้องการสร้างกล้ามเนื้อให้ดูแข็งแรง หากไม่ได้ออกกำลังกาย อาจทำผู้ป่วยเกิดความรู้สึกซึมเศร้า ทุกข์ หรือเครียดได้

 

 

โรคไบกอร์เร็กเซีย มักจะเกิดในผู้ชายวัยรุ่นหรือวัยกลางคน โดยทางการแพทย์จัดว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มของอาการที่เกิดจากความไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง ข้อสังเกตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้คือ จะมีพฤติกรรมชอบส่องกระจกเป็นเวลานานๆ ย้ำคิดกับภาพลักษณ์ของตนเอง ชอบถามความคิดเห็นจากบุคคลอื่นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตนเองแบบซ้ำเดิม ซึ่งแม้จะได้คำตอบว่าปกติ หรือสมส่วนดูดีอยู่แล้ว ก็จะไม่เชื่อ และคิดต่อไปว่าร่างกายตนเองยังไม่ดูดีพอ โดยอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคดังกล่าค่อนข้างมากแล้วคือ ผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวลจากโรคจนเกิดเป็นความไม่มั่นใจในตนเอง จนถึงขั้นปลกตัวออกจากผู้คน หรือสังคม และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือสุขภาพทางจิตใจเป็นอย่างมาก

 

 

สาเหตุของโรค “ไบกอร์เร็กเซีย”

 

สาเหตุของโรคยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีบางอย่างในสมองและปัญหาในวัยเด็ก เช่น เคยถูกล้อเลียน โดนรังแกหรือโดนต่อว่าเรื่องรูปร่าง รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมความเสี่ยงที่มาจากสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น สื่อภาพยนตร์และภาพลักษณ์ของดารา เรียกว่าเป็นกระแสจากสังคมภายนอกก็คงไม่ผิด เพราะโรคนี้จะเกิดจากความผิดปกติทางความคิด ซึ่งมีผลจากปัจจัยภายนอกเป็นแรงกระตุ้น อีกทั้งโรคนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีการเติบโตของกลุ่มเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไบกอร์เร็กเซียมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุ 19-20 ปี ซึ่งแพทย์ยังได้ระบุอีกว่า ส่วนมากแล้วแพทย์ศัลยกรรม แพทย์ผิวหนังจะเป็นผู้พบคนป่วยมากกว่าแพทย์ทางจิตเวช เพราะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก จะถึงขั้นเข้าหาวิธีศัลยกรรม เพื่อรับการแก้ไขรูปลักษณ์ของตนเอง หวังศัลยกรรมเพิ่มขนาดกล้ามเนื้อ หรือเสริมกล้ามเนื้อเทียมก็ยังมี

 

 

อย่างไรก็ตาม กรณีของบุคคลที่มีความรู้สึกดี เมื่อออกกำลังกายเป็นเวลานาน แต่ไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยในกลุ่มไบกอร์เร็กเซียก็ยังมีอยู่ โดยจะเรียกว่าอาการ Runner’s High คือ ความรู้สึกเป็นสุข หลังจากที่ได้ออกกำลังกายแบบหนักๆ เมื่อทำไปสักพักร่างกายจะรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง หรือทนต่อความเครียดทางกายภาพได้มากขึ้น ทำให้บุคคลนั้นใช้แรงในการเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายชนิดต่างๆ ได้นานขึ้น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากยังเล่นอยู่ในขอบเขตของความพอดี

 

 

วิธีรักษา

 

ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ บำบัดจิตเพื่อปรับมุมมองเรื่องภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่ ซึ่งบางครั้งอาจใช้ยาเพื่อช่วยปรับสมดุลเคมีในสมองควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่หายจากโรคนี้ จะสามารถกลับมามีอาการ หรือเป็นโรคซ้ำได้อีก ซึ่งการรักษาก็ยังต้องใช้หลักการจิตเข้าบำบัดเพียงอย่างเดียว และแม้ว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคไบกอร์เร็กเซียจะยังไม่พบในบ้านเรา แต่ก็ถือเป็นอาการทางจิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยในทุกปี โดยในสหรัฐนับว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้แล้วประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเพศชายทั้งหมด

 

 

อันตราย กล้ามโตเพราะ “สเตียรอยด์”

 

สเตียรอยด์เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกาย ถูกผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไตชั้นนอก ซึ่งเป็นต่อมที่ใช้ผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Hormone) สเตียรอยด์ที่ถูกสร้างขึ้นมี 2 ชนิดหลัก คือ โคติซอล (Cortisol) และอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ซึ่งเมื่อร่างกายต้องออกกำลังกายมากๆ หรืออยู่ในสภาวะตึงเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า  หรือแม้แต่ได้รับบาดเจ็บ ร่างกายจะหลั่งสารโคติซอลมากขึ้น เพื่อบรรเทาอาการอักเสบ หรือความเจ็บปวดเหล่านั้น ซึ่งการใช้สเตียรอยด์ในกลุ่มนักเพาะกาย ก็เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง เพิ่มขนาดกล้ามเนื้อ และลดอาการบาดเจ็บ หรือความรู้สึกเจ็บปวดจากการออกกำลังกายที่บ้าคลั่ง จนทำให้เกิดข่าวร้ายหรือผลข้างเคียงแย่ๆ แปลกประหลาดตามมาเสมอ เพราะนอกจากการใช้สารเพื่อหวังให้ร่างกายเร่งสร้างกล้ามเนื้อได้ดีขึ้นแล้ว ผลที่ตามยังอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตจากการสะสมสารอันตรายนี้ไว้ในร่างกายก็มี นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่า สเตียรอยด์มีผลต่อระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อในอัณฑะ ผลที่ได้คือลูกอัณฑะจะมีขนาดเล็กลงและนิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้จำนวนสเปิร์ม (Sperm) ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงความผิดปกติในการแข็งตัวของน้องชาย ที่จะแปรปรวนไปด้วยนั่นเอง

 

 

ในทางการแพทย์นั้น สเตียรอยด์เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ในการรักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยตัวยาชนิดใดๆ หรือเป็นโรคที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด และอาการอักเสบต่างๆ เช่น ภูมิแพ้ ตา ผิวหนัง รวมถึงใช้ทดแทนในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนสเตียรอยด์ได้ อย่างไรก็ตามการใช้สารสเตียรอยด์สังเคราะห์เหล่านั้น ควรอยู่ในการควบคุมปริมาณการใช้จากแพทย์ผู้ทำการรักษา เพราะมีผลข้างเคียงโดยตรงต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผลต่อการกดภูมิต้านทานและกดการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย และหากผู้ป่วยได้รับปริมาณของสเตียรอยด์ที่มากเกินไป อาจนำไปสู่สภาวะ Cushing’s Syndrome ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางจิตที่ไม่ปกติ หัวใจล้มเหลว หรือเกิดเป็นโรคมะเร็งตับในที่สุด นอกจากการใช้สารสเตียรอยด์ในการเร่งสร้างกล้ามเนื้อแล้ว ยังมีสารอันตรายอีกชนิดหนึ่งคือ Synthol (ซิลทอล) เป็นสารที่มีส่วนผสมของน้ำมันยา แก้ปวดและแอลกอฮอล์ ในแวดวงนักเพาะกล้ามจะใช้ฉีดเข้าส่วนต่างๆ ของร่างกาย เสมือนเป็นการอัดน้ำเข้าไป ทำให้อวัยวะส่วนนั้นปูดบวมขึ้นมา และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยังมีข่าวที่หนุ่มรายหนึ่งต้องการสร้างร่างเพาะกายให้เหมือน “เดอะ ฮัค” จึงหันไปพึ่งสารซิลทอลจนเกือบต้องเสียแขนทั้งสองข้างไป เพราะจากกล้ามใหญ่กลายเป็นก้อนแข็งภายในไปกดทับกล้ามเนื้อแขนของเขานั่นเอง

 

 

จริงๆ แล้ว การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี ให้ประโยชน์แก่สุขภาพร่างกายและสุขภาพทางด้านจิตใจอยู่เสมอ แต่หากเป็นเรื่องของความแข็งแรงทางด้านความคิดแล้ว จะทุกข์จะสุขล้วนอยู่ที่มุมมอง หากคนเรารู้จักยอมรับและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่พอดีตัว รวมถึงไม่ทำอะไรที่เป็นการทำร้ายตัวเองแบบทางอ้อม ไม่ว่าคุณจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ เชื่อได้ว่าสุขภาพทางด้านความคิดของคุณ จะสมบูรณ์แบบไม่แพ้ใครอย่างแน่นอน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)