© 2017 Copyright - Haijai.com
วิธีดูแลสุขภาพคุณแม่ “คลอดปกติ” กับ “คลอดแบบผ่าตัด”
คุณแม่แต่ละคนเลือกวิธีการคลอดไม่เหมือนกัน บางคนเลือกคลอดแบบปกติ ขณะที่คุณแม่บางคนเลือกที่จะผ่าคลอด ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความต้องของแต่ละคน รวมไปถึงขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่แต่ละคนด้วย ดังนั้นการดูแลสุขภาพของคุณแม่ที่ใช้วิธีคลอดแตกต่างกัน จึงมีเคล็ดลับมีข้อแนะนำที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน
1.กรณีคลอดปกติ หลังคลอดประมาณ 1-2 ชั่วโมง พยาบาลจะตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจสังเกตปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอดและการแข็งตัวของมดลูก มารดาควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว อาจทำให้หน้ามืดเป็นลมได้ง่าย คุณแม่ควรที่จะค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถ และควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
น้ำคาวปลา คือ เลือดคล้ายประจำเดือนที่ไหลออกทางช่องคลอดในระยะหลังคลอด ซึ่งออกมาจากผนังมดลูกที่ลอกตัวออก และจะค่อยๆ จางลง ช่วง 3 วันแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดง จากนั้นจะค่อยๆ จางลง กลายเป็นสีชมพูเรื่อๆ ภายใน 14 วัน หลังคลอด และจะหมดลงหลังคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ สำหรับคุณแม่ที่ผ่าตัดคลอด น้ำคาวปลาจะจางลงและหมดเร็ว เนื่องจากแพทย์จะช่วยเช็ดทำความสะอาดโพรงมดลูกให้
แผลฝีเย็บ ในระหว่างคลอด แพทย์จะทำการตัดฝีเย็บ เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อรอบๆ ปากช่องคลอดยืดขยายมากเกินไปวันแรกหลังคลอดถ้าแผลฝีเย็บมีอาการบวมและเจ็บมาก การได้รับยาพาราเซตามอล จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ การดูแลแผลฝีเย็บอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันอาการอักเสบติดเชื้อได้ ควรทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และซับให้แห้งถ้าน้ำคาวปลาออกมามาก ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ไม่ควรปล่อยให้แฉะอับชื้น ซึ่งจะทำให้มีเชื้อโรคสะสมได้
หน้าท้อง การเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา จะช่วยให้คุณแม่น้ำหนักลดลงเร็วด้วย สีเส้นคล้ำดำที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าท้อง เป็นผลจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ระยะหลังคลอดผิวหนังซึ่งมีสีคล้ำจะจางลงประมาณ 3-4 เดือน ผิวหนังชุดใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทนเป็นสีปกติ
ช่องคลอด เนื่องจากหูรูดปากช่องคลอดถูกยืดขยายอย่างมากในระหว่างคลอด คุณแม่ควรฝึกขมิบก้น เพื่อบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอดจะทำให้อาการดีขึ้น
2.กรณีมารดาผ่าตัดคลอด พยาบาลจะตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ สังเกตปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอด การแข็งตัวของมดลูก เช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดปกติรวมทั้งปริมาณ สารน้ำที่ร่างกายได้รับและปริมาณปัสสาวะ
วันแรกๆ มารดาที่รับเติมยาแก้ปวดทางสายบริเวณหลังอาจเกิดอาการคันได้ จะมีการให้ยาบรรเทาอาการคัน เช่น คาลามายด์โลชั่น ยาฉีดแก้คัน
• ควรพลิกตัวไปมาบนเตียงเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ลำไส้เริ่มทำงานได้เร็ว
• เมื่อแพทย์อนุญาตให้มารดาจิบน้ำได้ ซึ่งจะผ่านไปประมาณ 24-48 ชั่วโมง แล้วถอดสายน้ำเกลือ สายสวนปัสสาวะ คุณแม่ควรค่อยๆ จิบน้ำหรืออาหารเหลวใสทีละน้อยบ่อยๆ และลุกเดินเท่าที่ทำได้ เพื่อป้องกันอาการท้องอืดซึ่งจะทำให้ปวดแผลเพิ่มขึ้น
• การเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ควรทำช้าๆ เช่นเดียวกับการคลอดปกติ
• อาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ/มีไข้/เจ็บแผลมากผิดปกติควร แจ้งให้แพทย์ พยาบาลทราบเพื่อดูแลรักษา
แผลผ่าตัด ระยะแผลกำลังหาย ถ้ามีอาการคันไม่ควรเกา เพราะจะทำให้แผลนูนหนาเป็นแผลได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงชั้นในประเภทบิกินี่ตัวเล็กๆ เพราะขอบยางยืดจะกดเสียดสีที่รอยแผล ควรใส่กางเกงชั้นในตัวใหญ่แผลผ่าจะแห้งติดสนิทในเวลาประมาณ 7-10 วัน
การปฏิบัติตัวระยะหลังคลอด ระยะหลังคลอดที่บ้าน
1.การรักษาความสะอาด คุณแม่ที่คลอดปกติสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ และควรทำความสะอาดแผลฝีเย็บด้วยสบู่และน้ำสะอาดใช้น้ำอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บบริเวณแผล และเป็นการกระตุ้นให้มีการไหลเวียนโลหิตส่งเสริมให้แผลหายได้ ซับให้แห้งและเปลี่ยนผ้าอนามัย ทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก
2.อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ นมอย่างน้อยวันละ 2-3 แก้ว เนื้อสัตว์ต่างๆ รวมทั้งผัก ผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง ของหวาน เพราะจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ควรงดอาหารรสจัด ของหมักดอง น้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ยาขับน้ำคาวปลาหรือยาดองเหล้า
3.การพักผ่อน ควรพักผ่อนนอนหลับช่วงกลางคืน 6-8 ชั่วโมง และ 1/2 -1 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน ภายหลังคลอด 6 สัปดาห์ ไม่ควรทำงานหนัก เช่น การยก แบกหาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออวัยวะในอุ้งเชิงกรานและแผลฝีเย็บ
4.กิจวัตรประจำวัน ควรมีการบริหารร่างกายเพื่อให้กระปรี้กระเปร่าสดชื่นอยู่เสมอ อาบน้ำสระผมตามปกติ ควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก
5.การมีเพศสัมพันธ์ ควรมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ หลังคลอดไปแล้ว 6 สัปดาห์ ไข่จะเริ่มตก ดังนั้นจึงควรคุมกำเนิด แพทย์จะนัดมาตรวจและแนะนำวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
6.อาการผิดปกติที่ต้องมาโรงพยาบาล มีไข้ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว เต้านมหรือฝีเย็บอักเสบ น้ำคาวปลามีกลิ่นผิดปกติหรือมีสีแดงสดมีปริมาณมากขึ้น ระดูมีกลิ่นและคัน ปัสสาวะแสบขัด
7.การตรวจหลังคลอด เป็นการตรวจร่างกายทั่วไป หลังคลอด
8.อุปกรณ์ติดตัวกลับบ้าน ผ้ารัดหน้าท้องใส่เพื่อพยุงหน้าท้องเวลาเคลื่อนไหว ไม่จำเป็นต้องใส่ตลอดเวลา สามารถถอดซักได้ ควรใส่บริเวณช่วงสะโพกบนเวลานอนกลางคืนให้ถอดออก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)